เลือกตั้งสมุทรสาคร 2566 – เช็คชื่อ! ปาร์ตี้ลิสต์คนสาคร

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พฤษภาคม 2566 มีการเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมเป็นการกาบัตรใบเดียว เป็นกาบัตร 2 ใบ คือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์

รวมถึงมีการเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต จาก 350 เป็น 400 เขตทั่วประเทศ และแบบบัญชีรายชื่อ จาก 150 เป็น 100 คน ทำให้ต้องมีการคำนวนจำนวน ส.ส. พึงมีแต่ละจังหวัดใหม่ สำหรับสนามเลือกตั้งสมุทรสาครแล้ว ตอนแรกได้รับการเพิ่มจำนวน ส.ส. จาก 3 เป็น 4 คน และช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรใกล้หมดวาระลง บรรดาพรรคการเมืองใหญ่ได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กันอย่างถ้วนหน้า

แต่แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ การกำหนดจำนวน ส.ส. แบ่งเขต ที่กําหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ไม่รวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ทำให้จำนวน ส.ส. แบ่งเขตของสมุทรสาครกลับมาเหลือ 3 คนเหมือนเดิม จึงทำให้บางพรรคการเมืองที่ได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ไปก่อนหน้านี้ มีการลงทุนเปิดตัวให้ชาวบ้านได้รู้จักไปแล้ว ได้รับโอกาสย้ายมาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและยังสามารถลงไปช่วยหาเสียงกับผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขตคนอื่นของสมุทรสาครได้อีกด้วย

เมื่อย้อนไปถึงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีบุคคลที่เป็นชาวสมุทรสาคร ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ได้แก่ “อนุสรี ทับสุวรรณ” จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ “วรภพ วิริยะโรจน์” จากพรรคอนาคตใหม่ ต่อมา “น.ต.สุธรรม ระหงษ์” ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 31 จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 หลังจากที่ ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน ลาออกจากตำแหน่ง จนกระทั่งรัฐบาลประกาศยุบสภา

สำหรับการเลือกตั้งคราวนี้ มี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่มีความผูกพันกับจังหวัดสมุทรสาคร ลงเลือกตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนนั้นมีที่มาที่ไปน่าสนใจ “สาครออนไลน์” จึงได้รวบรวมและเรียบเรียงประวัติโดยคร่าวของผู้สมัครแต่ละรายไว้ ดังต่อไปนี้

พรรคภูมิใจไทย (เบอร์ 7) : อนุสรี ทับสุวรรณ ลำดับที่ 21 / สุกฤตา สื่อเจริญ ลำดับที่ 90

“อาย-อนุสรี ทับสุวรรณ” หนึ่งในสายเลือด “ทับสุวรรณ” ตระกูลเก่าแก่ของสมุทรสาคร เกิดวันที่ 23 พฤษภาคม 2512 เป็นบุตรของ พล.ต.ท.อนุชา ทับสุวรรณ อดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง นายตำรวจติดตาม พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ นายกรัฐมนตรี จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 40 ปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านนโยบายการพัฒนา จาก United States International University, Europe กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รับราชการกระทรวงการต่างประเทศยาวนานถึง 17 ปี เคยเป็นกงสุล ณ เมืองฮ่องกง ก่อนมาเป็นเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ระหว่างปี 2553-2557 จากนั้นเข้ารับตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามมาด้วยกระทรวงแรงงาน

เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรครวมพลังในปัจจุบัน และเป็นผู้อำนวยการพรรคฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว อนุสรีได้รับเลือกเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเป็นโฆษก กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งองค์กรสาธารณะประโยชน์ “สถาบันอนุสรีรวมใจให้กัน” เมื่อปี 2564 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทั่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 อนุสรีได้ลาออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรครวมพลัง ก่อนเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ของหัวหน้าพรรค “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ในวันถัดมา สำหรับการเลือกตั้งคราวนี้ อนุสรีลงสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พร้อมตั้ง “ทีมอนุสรี” ซึ่งมีทั้งอดีตข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ วิศวกร ร่วมงานกับ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” แม่ทัพเมืองหลวง ช่วยผู้สมัคร ส.ส. กทม. ทั้ง 33 เขต ชูนโยบาย “ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7” หวังปักธง “ค่ายสีน้ำเงิน” ในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ให้ได้เป็นครั้งแรก

“สุกฤตา สื่อเจริญ” เป็นชาวท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร หนึ่งในทีมงาน อนุสรี ทับสุวรรณ เกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2499 จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครในหลายตำแหน่ง ทั้งเลขารองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ เป็นรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (เทียบเท่ารองอธิบดี)

พรรคเสมอภาค (เบอร์ 17) : กนกคัคนางค พงศ์สถาพร ลำดับที่ 9

“โค้ชเกี้ยว-กนกคัคนางค พงศ์สถาพร” เป็นชาวมหาชัย จ.สมุทรสาคร เกิดวันที่ 23 ธันวาคม 2515 จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ บริหารรัฐกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MSA, Master of Science in International Business Administration (การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ) จาก Central Michigan University รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2562 ลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 พรรคกลาง แต่ไม่ได้รับเลือก สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ กนกคัคนางคเข้าร่วมงานกับพรรคเสมอภาค โดยหัวหน้าพรรค “รฎาวัญ (ลดาวัลลิ์) วงศ์ศรีวงศ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคม และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชูนโยบายต่าง ๆ อาทิ ออกกฎมายสวัสดิการประชาชน เพิ่มเงินดำรงชีพผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้พิการ เดือนละ 3,000 บาท ตั้งกระทรวงการแพทย์แผนไทย ตั้งสภารถรับจ้างและสภาผู้ค้าขายรายย่อย ลดค่าครองชีพประชาชน เป็นต้น

พรรคไทยภักดี (เบอร์ 21) : ยิ่งยศ อินเคน ลำดับที่ 28

“โจ-ยิ่งยศ อินเคน” ตัวแทนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส พรรคไทยภักดี เกิดวันที่ 9 มิถุนายน 2525 ภูมิลำเนาครอบครัวอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี บิดารับราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์ ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี และย้ายมาลงหลักปักฐานที่ จ.สมุทรสาคร จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม และระดับปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี เมื่อปี 2549 จากนั้นสอบเข้ารับราชการที่เรือนจำพิเศษธนบุรีตามรอยผู้เป็นบิดา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่วนสวัสดิการผู้ต้องขัง เมื่อปี 2551 จนถึงปี 2558 ได้ย้ายเข้าทำงานที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แล้วลาออกมาดูแลบิดาที่เกษียณอายุราชการในปี 2560 ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการสมาคมคนพิการจังหวัดสมุทรสาคร ตำบลโคกขาม เข้าร่วมงานกับทางพรรคไทยภักดี เพราะสนใจด้านการเมือง อยากเห็นคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีโอกาสเท่า ๆ กันกับคนปกติ

พรรคเสรีรวมไทย (เบอร์ 25) : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ลำดับที่ 6

“อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร” เกิดวันที่ 23 ตุลาคม 2501 เป็นชาวตำบลท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร จบปริญญาตรีหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ เกียรตินิยมดีมาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยรับราชการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนหนังสือมาเกือบ 30 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี รวมถึงเป็นกรรมการองค์กรกลางการเลือกตั้ง เมื่อปี 2536 เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ระหว่างปี 2540-2545 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง เมื่อ 13 ธันวาคม 2556 กระทั่งถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปลดด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 หลังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

จากอดีตผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ก้าวเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 กระทุ่มแบน ปรากฎว่าเข้าป้ายอันดับ 4 หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย อาจารย์สมชัยได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคฯ เพราะอุดมการณ์ต่างกัน จากนั้นเมื่อเดือนตุลาคม 2562 รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านทางเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งช่วงต้นปี 2564 ได้เข้าร่วมงานกับพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งมี “วีรบุรุษนาแก” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรคฯ โดยเริ่มจากเป็นกรรมาธิการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของทางพรรคฯ จากนั้นเป็นกรรมาธิการในนามพรรคเสรีรวมไทยอีกหลายชุด อาทิ รองประธานคนที่เจ็ด ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. , โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …, รองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ฯลฯ และได้รับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย เมื่อเดือนเมษายน 2565

พรรคประชาธิปัตย์ (เบอร์ 26) : ภูดิส (สันติ) แก้วตระกูลโชติ ลำดับที่ 53

“ภูดิส แก้วตระกูลโชติ” จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ปริญญาโทหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประสบการณ์ทำงาน เป็นอดีตผู้ช่วย “ครรชิต ทับสุวรรณ” ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ อดีตสารวัตรกำนันตำบลท่าทราย อดีตรองนายก อบต.ท่าทราย ยุคนายก “สิริบูรณ์ (ปรีดา) ทองบางเกาะ” มานานกว่า 7 ปี และเป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เฉลิมชัย ศรีอ่อน)

ก่อนหน้านี้ ตอนที่สมุทรสาครได้รับการเพิ่มจำนวน ส.ส. พึงมี จาก 3 เป็น 4 คน ค่ายพระแม่ธรณีได้วางตัว “รองภูดิส” ไว้เป็นผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 2 ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เดินทางมาเปิดตัวให้สมาชิกพรรคฯ ในจังหวัดทำความรู้จักและช่วยกันสนับสนุนถึง 2 รอบ แต่แล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. กลับมาเป็น 3 คนเหมือนเดิม ทางพรรคฯ จึงได้ส่งให้ลง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ขณะเดียวกันก็เป็นกองหนุนให้ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร ทั้ง 3 เขตในการลงพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ ต.ท่าทราย ที่ตนเองมีฐานเสียงอยู่

พรรคเพื่อไทย (เบอร์ 29) : อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ลำดับที่ 52

“ต่อ-อนุสรณ์” เกิดวันที่ 25 ตุลาคม 2513 เป็นลูกชายคนสุดท้องของบ้านใหญ่ตระกูล “ไกรวัตนุสสรณ์” จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร สมัยแรก ในการเลือกตั้งปี 2548 ด้วยอานิสงส์จากกระแส “ทักษิณฟีเวอร์” ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งยกทีม แต่ในช่วงปลายปีเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น ทำให้ต่อมาเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงการยุบพรรคไทยรักไทย แล้วมาถึงการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ อนุสรณ์ลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาครอีกสมัย ในนามพรรคพลังประชาชน ปรากฏว่าไม่ได้รับเลือก

ครั้นเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2544 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว อนุสรณ์ลงสนามเลือกตั้งสมุทรสาคร เขต 1 ในนามพรรคเพื่อไทย แต่แพ้ให้กับ “ครรชิต ทับสุวรรณ” จากพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีการเลือกตั้งในทุกระดับจนถึงปี 2562 บ้านใหญ่ตระกูลไกรวัตนุสสรณ์ ตัดสินใจย้ายจากพรรคเพื่อไทยไปร่วมงานกับ “มังกรสุพรรณ” พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับตระกูล “สะสมทรัพย์” บ้านใหญ่แห่งนครปฐม อนุสรณ์ลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 3 หลังจากนั้น อนุสรณ์ได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาประธาน กมธ.พลังงาน สภาผู้แทนราษฎร (กิตติกร โล่ห์สุนทร) ขณะที่ตระกูลไกรวัตนุสสรณ์ย้ายกลับมาร่วมงานกับทางพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

พรรคก้าวไกล (เบอร์ 31) : วรภพ วิริยะโรจน์ ลำดับที่ 29 / ทองแดง เบ็ญจะปัก ลำดับที่ 50

“เติ้ล-วรภพ วิริยะโรจน์” หนึ่งในทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล ครอบครัวเป็นชาว ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน (MSc Finance) เกียรตินิยมอันดับ 1 จาก Imperial College London สหราชอาณาจักรเดิมเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เมื่อพรรคถูกยุบวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ก็ได้ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

สำหรับการทำงานในสภาฯ เป็นรองประธานคนที่สอง กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่สอง สภาผู้แทนราษฎร, โฆษก กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร, โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP รวมถึงเป็นผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 แก้ไขโทษให้เป็นธรรมกับชาวประมง เพิ่มการกระจายอำนาจไปที่คณะกรรมการประมงจังหวัดมากขึ้นในการกำหนด หลักเกณฑ์การทำประมงในเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล

“ทองแดง เบ็ญจะปัก” ผู้สร้างตำนานล้มยักษ์มหาชัย เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2509 ภูมิลำเนาเป็นชาว จ.อุดรธานี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วช่วยทางบ้านทำไร่ ทำนา บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี และมาบวชเรียนที่วัดป้อมวิเชียรโชติการาม จ.สมุทรสาคร เมื่อปี 2524 สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนผู้ใหญ่วัดวิเศษการ กรุงเทพฯ ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุชื่อ พระทองแดง กนโก ที่วัดป้อมวิเชียรโชติการาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เมื่อปี 2529 อยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์จนถึงปี 2538 ก็ได้ลาสิกขามาประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง พนักงานขับรถบรรทุก ก่อนที่จะมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน และได้สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสมุทรสาคร  

ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทองแดงลงสมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 1 ในนามพรรคอนาคตใหม่ ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคฯ ด้วยปรากฎการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเอาชนะผู้สมัครจากหลายพรรค ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงอดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่น แต่แล้วเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ทองแดง พร้อมกับ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ รวม 54 คน ก็ได้ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล ภายใต้การนำของ “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคฯ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สานต่ออุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ทำหน้าที่ในสภาฯ เป็นโฆษก กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร และโฆษก กมธ.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร จนรัฐบาลประกาศยุบสภา 20 มีนาคม 2566 เลือกตั้งคราวนี้ ทองแดงประกาศไม่ลงเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งเขต เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแทน ขณะที่ตนเองหันเหไปลง ส.ส. บัญชีรายชื่อ

พรรคพลังประชารัฐ (เบอร์ 37) : ภัฏ สุริวงษ์ ลำดับที่ 38

“บอย-ภัฏ สุริวงษ์” เป็นบุตรชายของ “เฮียแบน” วิลาศ สุริวงษ์ อดีตประธานสหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัด อดีตรองนายก อบจ.สมุทรสาคร และอดีตประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสาคร และยังเป็นน้องชายของ “นายกนวล” ณตฤณ สุริวงษ์” นายก อบต.บ้านแพ้ว จบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

เป็นประธานก่อตั้งกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ RCC รักบ้านแพ้ว (ชุมชนโรตารีรักบ้านแพ้ว) คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่า ร.ร.วัดธรรมจริยาภิรมย์ ประธานรุ่น 33 คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพ้ว จำกัด ประธานกลุ่มที่ 23 และเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ตำบลบ้านแพ้ว ได้รับรางวัล ทสม.ดาวรุ่งระดับประเทศ และ ทสม.ดีเด่นจังหวัดสมุทรสาคร (ด้านการจัดการขยะมูลฝอย) ปี 2564

ลงสนามการเมืองจากการเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร พรรคเศรษฐกิจไทย ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก่อนที่จะกลับไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในเวลาต่อมา โดยวางตัวไว้ลงสู้ศึกเลือกตั้งในเขต 4 อ.บ้านแพ้ว แต่แล้วมีการลดจำนวน ส.ส. สมุทรสาครเหลือเพียง 3 เขต ทำให้ทางพรรคฯ พิจารณาให้ผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขตที่ถูกลดลงนั้นไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแทน ตามที่ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยกล่าวไว้ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปัจจุบันร่วมออกช่วยหาเสียงพร้อมกับ “จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ” ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาแชมป์เก้าอี้ ส.ส. ในพื้นที่ไว้ให้ได้

ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคการเมืองต่าง ๆ จากเส้นทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่าลืม! วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 หยิบบัตรประชาชนของท่านออกไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน บัตรสีม่วงเลือก ส.ส.แบ่งเขต บัตรสีเขียวเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”

-กิตติกร นาคทอง-   

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *