33 ปี น้ำพุพลาซ่า จากห้างใจกลางมหาชัย ก้าวต่อไปสู่มิกซ์ยูส

คนมหาชัยไม่มีใครไม่รู้จัก “น้ำพุพลาซ่า” ศูนย์การค้าใจกลางเมืองบริเวณวงเวียนน้ำพุ เขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ก่อตั้งโดย “สมชาย พุกตุน” เปิดให้บริการมานานกว่า 33 ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 การแข่งขันของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และล่าสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับชุมชน

โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าหลัก คือ นักเรียน นักศึกษา ที่มีสถานศึกษารายล้อมอยู่จำนวนมาก หลังเวลาเลิกเรียน ที่นี่กลายเป็นจุดนัดพบทำกิจกรรมและจับจ่ายซื้อของในช่วงเย็น รอเวลาผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่มาจับจ่ายซื้อของและเข้ารับบริการ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่มีทั้งซื้อขายและบริการซ่อมครบวงจร

“สาครออนไลน์” คุยกับ “ชาลี พุกตุน” ผู้บริหารศูนย์การค้าน้ำพุ พลาซ่า ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของศูนย์การค้าแห่งนี้ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับก้าวต่อไปสู่การเป็นพื้นที่มิกซ์ยูส ซึ่งถือเป็นการปรับตัวตามเทรนด์ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ยุคนี้ต้องทำให้ได้มากกว่าหนึ่งเพื่อยืนหยัดอย่างมั่นคง ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

  • จากดีพาร์ทเมนต์สโตร์สู่พลาซ่าใจกลางเมือง

ชาลีกล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2533 จุดเริ่มต้นของน้ำพุพลาซ่า มาจากห้างสรรพสินค้า หรือดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ (Department Store) มาก่อน กระทั่งมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ก็ค่อยๆ ปรับตัวมาเป็นพลาซ่า แตกต่างกันตรงที่ ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ เราจะบริหารเองทั้งหมด ส่วนพลาซ่าจะมีร้านค้าแยกย่อยเข้ามา

สมัยนั้นมีร้านค้าจำนวนมาก ลูกค้าจะแบ่งออกเป็นหนุ่มสาวโรงงาน ส่วนใหญ่แปรรูปอาหารทะเลและสิ่งทอ ยุคนั้นยังมีเฉพาะแรงงานคนไทย เวลารถสองแถวจอดส่งผู้โดยสารที่วงเวียนน้ำพุ หนุ่มสาวโรงงานเหล่านี้ก็จะเข้ามาที่นี่กันทั้งหมด พอมาสักช่วงหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นแรงงานข้ามชาติทั้งหมด เพราะคนไทยไม่ได้ทำงานโรงงานแบบนั้นแล้ว กลายเป็นพลาซ่าที่ต่างชาติมาใช้บริการเยอะ

ที่ผ่านมาน้ำพุ พลาซ่า ได้รีโนเวตครั้งใหญ่เมื่อปี 2560-2561 โดยวางตำแหน่งเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ เน้นธุรกิจด้านบริการและกิจกรรม เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคออนไลน์ การซื้อขายสินค้าเปลี่ยนไป ร้านค้าส่วนใหญ่จึงเน้นงานบริการ แม้บางร้านค้าจะซื้อขายสินค้าตามปกติ แต่ก็มีบริการอยู่ในนั้น ซึ่งขณะนี้งานบริการผ่านออนไลน์ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

สำหรับแมกเนตที่จะดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการนั้น ชาลีกล่าวว่า ปีนี้ได้มาเพิ่มเป็นกิจกรรมที่อยู่ชั้น 4 เช่น NT2B MuayThai Academy มวยไทยที่ไม่ใช่เพื่อออกกำลังกายลดน้ำหนัก แต่จะเป็นมวยไทยจากครูมวยที่มีประสบการณ์ระดับแชมป์โลก กับชุมชนชาวคริสเตียน Every Nation ทุกวันอาทิตย์จะมีพิธีนมัสการ สอนภาษาอังกฤษ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ

ส่วนที่กลับมาเปิดให้บริการหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หนึ่งในนั้นคือคาราโอเกะ Soundcheck เน้นกลุ่มลูกค้าเยาวชนนักเรียน นักศึกษา ซึ่งในจังหวัดที่อื่นไม่มี และที่ผ่านมาผลตอบรับจากลูกค้าเป็นไปด้วยดี ขณะที่แมกเนตใหม่อื่นๆ ก็คาดหวังว่าจะมีมาเช่นกัน แต่อยู่ในระหว่างเสนอพื้นที่และเจรจาทางธุรกิจ

  • ดึงแมกเนตระดับรองแบบที่อื่นไม่มี

ขณะที่แมกเนตเดิมยังอยู่ เช่น มิสเตอร์ดีไอวาย เคเอฟซี วัตสัน แดรี่ควีน ดีแทค ทรูมันนี่ทรานสเฟอร์ (โอนเงินระหว่างประเทศ) ทรูช้อป และแบรนด์โทรศัพท์ทั้งหมดมาที่นี่ ชาลี กล่าวว่า ทีแรกคิดว่าร้านโทรศัพท์มือถือจะค่อยๆ หายไป แต่กลายเป็นว่ากลับมาเยอะขึ้น ซึ่งที่นี่จะเป็นแหล่งซื้อขายโทรศัพท์มือถือทั้งมือหนึ่ง มือสอง และบริการซ่อมมือถือครบวงจร

ส่วนชั้น 2 จะเติมเต็มร้านค้าประเภทของกินขึ้นมาเรื่อยๆ และมีพื้นที่รองรับให้เยาวชนและกลุ่มคนทำงานเป็นจุดนัดพบ ติวหนังสือ ทำการบ้าน ทำโครงงาน บางทีก็มีครูมาติวหนังสือที่นี่ ซึ่งตนตั้งใจว่าจะให้ที่นี่เป็น Co-Working Space โดยธรรมชาติ ซึ่งไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย และที่ผ่านมาได้เพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ปลั๊กไฟ ไว-ไฟ ที่นั่งทำงาน ทำการบ้าน

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวจะปล่อยเช่าเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้ตีล็อก ให้ลูกค้ามาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างคนก่อน แล้วร้านค้าก็จะเข้ามา ต่างจากศูนย์การค้าที่อื่น จะเน้นสร้างร้านค้าก่อน ล็อกพื้นที่แล้วให้ลูกค้าเข้ามา

“วิสัยทัศน์ของคุณพ่อไม่ได้มองเรื่องเฟิร์สแบรนด์ ร้านค้าชื่อดัง เพราะมองว่าไปที่ไหนก็มีเหมือนกัน ก็เลยอยากได้ที่แตกต่าง เป็นแบรนด์ระดับรองซึ่งที่อื่นไม่มี แต่มาที่นี่มีทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ หรือแบรนด์ท้องถิ่น สนับสนุนคนในท้องถิ่นเป็นหลัก เหมือนเวลาเดินตลาดนัด (สมัยใหม่) อาจจะมีบ้างที่เป็นแบรนด์แม่เหล็กเล็กน้อย แต่จะเป็นร้านท้องถิ่นหมดเลย ความเป็นท้องถิ่นนิยมจะกลับมา ถ้าเราไปห้างที่ไหนก็แล้วแต่จะมีแบรนด์หลักๆ แค่ไม่กี่อัน ซึ่งเราต้องการให้ต่างกันมากขึ้น”

  • จุดแข็งใจกลางเมือง จุดนัดพบนักเรียน-นักศึกษา

ถามถึงจุดแข็งของน้ำพุพลาซ่า ชาลีอธิบายว่า กลุ่มลูกค้าจะเป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา จากการสังเกตแต่ละจังหวัด ถ้ามีที่ไหนก็จะอยู่ที่นั่นที่เดียว เป็นแหล่งนัดพบในจังหวัด อนาคตจะเปิดเป็นพื้นที่เปิด (Open Space) สำหรับเยาวชนที่หาที่ซ้อมเต้น มีกระจก มีบรรยากาศแบบ Dancing Zone เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรองรับกลุ่มเยาวชนมากขึ้น

“จุดแข็งของที่นี่คือกลุ่มลูกค้านักเรียน นักศึกษา คนที่พักอาศัยและทำงานในรัศมี 1 กิโลเมตร คุณพ่อบอกว่าความจริงที่นี่ไม่ใช่ศูนย์การค้า เพราะความหมายของศูนย์การค้าจะกินพื้นที่ตลาดสดทั้งหมด เราเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้า เพราะฉะนั้นเราก็พยายามเติมเต็มในสิ่งที่ยังไม่มี อย่างที่นี่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีที่นั่ง ไม่มีห้องน้ำสะอาดก็จัดสรรให้

ที่เห็นชัดเจนคือทำเล เราตั้งอยู่ในตลาดกลางเมืองจริงๆ มีโรงเรียน ตลาด ชุมชน ศูนย์ราชการล้อมรอบ มีพนักงานธนาคารครบทุกแบรนด์มาทานข้าวที่นี่ช่วงกลางวันตั้งแต่ 11 โมงครึ่งถึงบ่ายโมง ส่วนช่วงเย็นจะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ที่นี่ยังมีทำเลขนส่งสาธารณะ เช่น รถสองแถว แท็กซี่ หรือบางครั้งรถตู้เข้ามาจอดก็มี”

  • ห้างเล็กได้เปรียบปรับตัวเร็วกว่า

สำหรับการแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในช่วงที่ผ่านมา ชาลีกล่าวว่า น้ำพุพลาซ่ามีจุดเด่นเรื่องทำเลอยู่ในเมืองและชุมชน มีการวิเคราะห์กลุ่มทุนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อก่อนจะเน้นสร้างศูนย์การค้าอยู่รอบนอก ซึ่งก็จะลำบากเพราะจะเน้นไปตามที่ชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่ยุคก่อนที่ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด ตอนนี้เป็นยุคผู้บริโภคกำหนด ทำเลที่ตั้งก็จะจ่อไปที่ชุมชนหมดเลย

“ถ้าสังเกตดีๆ ทำเลที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน ธุรกิจจะเยอะมาก เพราะโควิด-19 ทำให้เร่งพฤติกรรมผู้บริโภค ตลาดนัด (สมัยใหม่) ก็จะเยอะขึ้น เพราะคนอยากสะดวก ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตในคอมมูนิตีมอลล์ จอดรถแล้วลงไปซื้อของได้เลย ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้า จอดรถแล้วต้องเดินกว่าจะถึง คีย์เวิร์ดคือความสะดวก เรามองว่าอยู่ในชุมชนนั้นสะดวก ตอนนี้ก็เหลือการสื่อสารกับลูกค้าว่ามีอะไรเข้ามาใหม่ๆ ดึงให้ลูกค้าเข้ามายังไงมากกว่า

รวมทั้งเรื่องวิสัยทัศน์ แบรนด์ที่เป็นแมกเนตจะไม่ชนกัน เขามีอะไรเราก็จะไม่เอา เพราะแรงดึงดูดต่างกัน ของเขาใหญ่กว่า แต่จะนำแบรนด์ให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่อื่นพยายามดึงกลุ่มลูกค้าด้วยการจัดรถรับ-ส่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นการใช้เครื่องมือช่วย ที่สำคัญ เด็กมองว่าที่นี่เป็นบ้านของเขา หลังเลิกเรียนก็มาที่นี่เลย รอเวลาผู้ปกครองมารับ”

ส่วนแมกเนตประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ชาลีกล่าวว่า ทางศูนย์การค้าก็ต้องการ แต่ที่นี่อยู่ใกล้ตลาด อาหารสดก็ซื้อในตลาด ซึ่งมองว่าในอนาคตซุเปอร์มาร์เก็ตก็จะลำบาก ยิ่งศูนย์การค้าที่อยู่นอกเมืองก็ลำบาก อีกทั้งที่นี่ยังมีร้านสุขภาพและความงามอย่างวัตสัน และของใช้อย่างมิสเตอร์ดีไอวาย ตอบโจทย์ค่อนข้างเยอะแล้ว ถ้าที่อื่นมีแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีตาม

ชาลีกล่าวว่า ในยุคที่มีการแข่งขันทั้งศูนย์การค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ก็มีร้านค้าหายไปบ้าง แต่ในสัดส่วนที่ไม่เยอะ แต่ละครั้งมีกลุ่มทุนมาดึงร้านค้าย่อยทุกกลุ่ม แต่สุดท้ายก็กลับมา จึงมองว่าไม่ได้กังวลเพราะปรับตัวเร็วกว่า โดยใช้ข้อได้เปรียบคือเป็นศูนย์การค้าขนาดเล็ก การตัดสินใจต่างๆ ก็คล่องตัว ภูมิใจที่แม้เป็นตัวเล็กๆ แต่ห้างใหญ่ยังต้องมาเอาร้านค้าจากเรา

  • เน้นกิจกรรมเยาวชน จุดนัดพบปลอดภัย

นอกจากการพัฒนาศูนย์การค้าแล้ว สำหรับกิจกรรมเพื่อสังคม ชาลีกล่าวว่า จะเน้นร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐที่เป็นท้องถิ่น เช่น ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เป็นการสนับสนุนของศูนย์การค้า กับร้านค้าพันธมิตร แจกสิ่งของ ร่วมงานกิจกรรม ส่วนที่ผ่านมางานวันเด็กแห่งชาติ ร่วมสนับสนุนเทศบาลนครสมุทรสาคร แจกสิ่งของและทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา

อีกทั้งที่ผ่านมาจัดกิจกรรมอี-สปอร์ต ซึ่งเป็นกีฬาแห่งอนาคตที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ส่วนอนาคตจะมีการประกวดเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เช่น ประกวดเต้น ประกวดแต่งคอสเพลย์ และกิจกรรมส่งเสริมเยาวชน รวมทั้งกิจกรรมที่ทางโรงเรียนขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ก็จัดพื้นที่หน้าห้างฯ ซึ่งจะพยายามจะจัดอีเวนต์ในแต่ละช่วงเดือนที่มีเทศกาล และมีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา

“ที่นี่อยากให้เป็นที่ๆ เด็กๆ เข้ามาเป็นจุดนัดพบเพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัย อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ อย่างน้อยหลังเลิกเรียนไม่มามั่วสุมในที่ๆ ไม่ควรไป ซึ่งเราตั้งใจจะให้เป็นแบบนี้”

ชาลียอมรับว่า สมัยก่อนน้ำพุพลาซ่ามีร้านค้าเยอะ แต่ภาพลักษณ์ออกมาไม่ดี มาถึงยุคนี้หลังจากรีโนเวตแล้ว ก็พยายามจัดการโดยมีเจ้าหน้าที่ รปภ.ดูแลความปลอดภัย คอยสกรีนลูกค้าอย่างใกล้ชิด และมีระบบกล้องวงจรปิด เพื่อไม่ให้เป็นเหมือนภาพสมัยก่อน ซึ่งตั้งใจว่าอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นเด็กนักเรียน นักศึกษาอยู่ตรงนี้แล้วสบายใจ

  • ก้าวต่อไปสู่มิกซ์ยูส สร้างอีโคซิสเต็ม

ชาลี กล่าวว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้าทุกแห่งจะเริ่มเปลี่ยนมาเป็นมิกซ์ยูส โดยนำที่พักอาศัยมาเสริมเข้าไปเพื่อสร้างคน เป็น Ecosystem คนที่พักอาศัยก็จะมาจับจ่าย กิน ใช้ หรือทำกิจกรรม น้ำพุพลาซ่ายังมีพื้นที่ที่จะมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา คาดหวังว่าจะค่อยๆ ทยอยเข้ามา เพราะทิศทางปีนี้ดีกว่าเดิมเยอะมาก ลูกค้าทยอยเข้ามาแล้ว

“อนาคตต่อจากนี้ก็จะทำแบบมิกซ์ยูส (Mixed-Use) จะมีฟังก์ชันการใช้งานของที่นี่ไม่ใช่แค่ห้างหรือร้านค้า แต่จะมีเรื่องของที่พักอาศัย มีแผนว่าจะทำเป็นโรงแรมชั้น 5 ร่างแบบออกมาแล้วจะได้ประมาณ 20-25 ห้อง และจะมีที่จอดรถของศูนย์การค้าอยู่ที่ชั้นใต้ดิน เพื่อรองรับไว้สำหรับโรงแรมและร้านค้า คาดว่าจะได้ประมาณ 25-30 คัน” ชาลีกล่าว

อนึ่ง น้ำพุ พลาซ่า ยังมีพื้นที่ให้เช่าและธุรกิจงานบริการรองรับ บนทำเลการค้าใจกลางมหาชัย พร้อมรับเงื่อนไขพิเศษ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 099-494-2694 และ 094-698-1144

-เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง / ภาพ : กิตติกร นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *