“สมุทรสาครบูรณะ” สถานศึกษาทรงคุณค่า ผ่านกาลเวลา 111 ปี

โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ หรืออักษรย่อ ส.ค.ณ. โรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรสาคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2455 สถานศึกษาแห่งนี้ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับบุตรหลานชาวสมุทรสาครมาอย่างยาวนาน ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายยุคสมัย ด้วยคติพจน์ “วิชาดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม”

โดยได้ครบรอบวันสถาปนาโรงเรียนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 และในปีดังกล่าวนี้ ได้มีกิจกรรมต่าง ๆ จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าจะเป็นงาน “รวมใจ สามัคคี ครบรอบ 111 ปี ส.ค.ณ.” ที่จัดขึ้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566 มีกิจกรรมทำพิธีเปิดป้ายห้องประชุมอาคาร 100 ปี และอาคารขุนสมุทรมณีรัตน์ (อาคาร 9) รวมถึงประกอบพิธีสืบชะตาตามแบบล้านนา และพิธีทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา

และงาน 111 ปี คืนสู่เหย้าชาว ส.ค.ณ.” ที่จัดขึ้นในช่วงปลายปี โดยถือฤกษ์วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง รวมถึงวางจำหน่ายของที่ระลึกครบรอบ 111 ปี ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเป็นจำนวนมาก

เนื่องในโอกาสดังกล่าว “สาครออนไลน์” ชวนทุกคนรู้จักประวัติโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ จากการรวบรวมข้อมูลตามแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้น ของสถานศึกษารั้วน้ำเงิน-เหลือง แห่งนี้

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2455 ขุนสมุทรมณีรัตน์ (เม่งฮะ มณีรัตน์) ในวัย 33 ปี มองเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร สอนเฉพาะเด็กผู้หญิง โดยเช่าบ้านของนางทิพย์ สวยสำอางค์ และจ้างครูจากกรุงเทพฯ มาสอน ต่อมาชาวบ้านร้องขอให้รับนักเรียนชายด้วย ขุนสมุทรมณีรัตน์ก็อนุโลมตามและให้นามโรงเรียนว่า “โรงเรียนบำรุงวิทยา”

หลายปีต่อมาก็ได้ย้ายโรงเรียนจากที่เดิม มาปลูกใหม่ในที่ดินของขุนสมุทรมณีรัตน์ (ปัจจุบันคือที่ตั้งร้านมณีโอสถ) ซึ่งขุนสมุทรมณีรัตน์ได้รับมรดก สร้างเป็นอาคารถาวรโดยไม่คิดค่าเช่าที่ เด็กที่เข้ามาเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด ทั้งยังได้อุปการะตลอดมาอีกประมาณ 20 ปี ต่อมาทางราชการได้มีการขยายการศึกษาไปถึงหัวเมือง จึงได้โอนกิจการโรงเรียนนี้เป็นของรัฐ และให้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาคร “บำรุงวิทยา”

รูปปั้น “ขุนสมุทรมณีรัตน์” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ

ปี พ.ศ. 2472 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ฝั่งมหาชัย สร้างโรงเรียนใหม่บนที่ตั้งของกองทัพเรือ (ท.ร.2) ซึ่งถูกยุบไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2456 โดยอาศัยโรงเลี้ยงทหารเรือ ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสมุทรสาคร” โดย นางฟิน สิทธิสาราการ ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่คนแรก โรงเรียนเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในวันที่ 17 พฤษภาคม 2472 โดยมีครู 4 คน และนักเรียน 70 คน และเริ่มใช้เลขประจำตัวหมายเลข 1 คือ คุณอำไพ แตงสุวรรณ ซึ่งต่อมาได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย

ปี พ.ศ. 2476 รองอำมาตย์โท ขุนประจิตดรุณแพทย์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครในเวลานั้น เห็นว่าสถานที่ตั้งของโรงเรียนยังไม่เหมาะสมที่จะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด จึงดำริที่จะย้ายโรงเรียนไปตั้งที่ใหม่ และเห็นว่าที่ดินอันเป็นเนินฝึกซ้อมยิงเป้าของตำรวจ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุเป็นที่เหมาะสม จึงทำเรื่องของบประมาณเพื่อสร้างโรงเรียน ในการนี้ได้รับการบริจาคทรัพย์จากพ่อค้าประชาชนสมทบทุนด้วย

โรงเรียนแห่งใหม่นี้ได้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน ใช้ชื่อว่า โรงเรียนสตรีสมุทรสาคร “สมุทรสาครบูรณะ” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2481 โรงเรียนชายประจำจังหวัดสมุทรสาคร (โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ได้นำนักเรียนชายมาฝากเรียนด้วย เพราะอยู่ในระหว่างที่ตั้งโรงเรียน


“พระศรีสมุทรสาครภูมิบาล” พระพุทธรูประจำโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ

ปี พ.ศ. 2511 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้โรงเรียนเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายศิลปะ ซึ่งรับนักเรียนชายเข้าเรียนด้วย (ตามหลักสูตร ม.ศ.5 ในขณะนั้น) จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ” โดยแต่ละชั้นปีมีการรับนักเรียนชายห้องละไม่เกิน 10 คน กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชั้นเรียนของไทยตามแผนการศึกษาปี พ.ศ. 2521 (ระดับชั้น ม.ต้น-ม.ปลาย ในปัจจุบัน) ทางโรงเรียนจึงเปลี่ยนมารับนักเรียนหญิงล้วนอีกครั้ง

ปี พ.ศ. 2540 ทางโรงเรียนฯ เริ่มเปิดรับนักเรียนชายเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ 1 โดยมีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ เปลี่ยนจากโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดมาเป็นโรงเรียนสหศึกษาจนถึงปัจจุบัน โดยนักเรียนรุ่นสุดท้ายที่เป็นหญิงล้วน คือ ส.ค.ณ.รุ่น 85

ปัจจุบันโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และรับนักเรียนชายหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 แบ่งออกเป็น ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 13 ห้องเรียน และระดับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 11 ห้องเรียน มี นายอรรณพ ชุ่มเพ็งพันธ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563

ล่าสุดในปีการศึกษา 2566 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2,789 คน แบ่งเป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 1,530 คน (ชาย 613 คน หญิง 917 คน) และมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,259 คน (ชาย 469 คน หญิง 790 คน) ส่วนบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู รวมถึงภารโรง มีจำนวนทั้งสิ้น 166 คน

ย้อนกลับไปดูพัฒนาการของการรับนักเรียนเข้าศึกษา ตั้งแต่นักเรียนหมายเลข 1 คุณอำไพ แตงสุวรรณ ในปี พ.ศ.2472 กาลเวลาผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2530 ก็ได้มีนักเรียนหมายเลข 10000 คุณอภิญญา บุญมี ล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ. 2545 มีนักเรียนหมายเลข 20000 คุณฐิติพงศ์ ฤทธิ์เอนก และล่าสุดปี พ.ศ. 2560 มีนักเรียนหมายเลข 30000 คุณบรรณกฤศ อร่ามเมือง ส่วนหมายเลขล่าสุด คือ 33817

สำหรับบุคคลที่มีชื่อเสียงจากรั้วน้ำเงิน-เหลือง อาทิ ไทนี่-โนแอล กลิ่นเนียม (ส.ค.ณ.รุ่น 85) อดีตนักแสดงสาวช่วงยุคทศวรรษ 2000 เคยมีผลงานละคร “รักแปดพันเก้า”, “คุณนายสายลับ” และยังเคยเป็นวีเจให้กับช่อง Bang Channel ของค่ายแกรมมี่, ศิริโรจน์ ธนิกกุล (ส.ค.ณ.รุ่น 95) สส. สมุทรสาคร เขต 2 ถือได้ว่าเป็นศิษย์เก่าคนแรกที่ได้เป็นนักการเมืองในสภา นอกจากนี้ยังมี ขวัญชนก วุฒิกุล นักจัดรายการวิทยุ และคอลัมนิสต์สายเศรษฐกิจ ก็เคยจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นจากสถาบันแห่งนี้

ขณะที่ศิษย์เก่าที่ล่วงลับไปแล้ว มีทั้ง รศ.อรทัย ก๊กผล (ส.ค.ณ.รุ่น 64) อดีตรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และอดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองที่มากความสามารถ ครั้งหนึ่งเคยศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ก่อนเข้าศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ มณฑินี ตั้งพงษ์ (ส.ค.ณ.รุ่น 86) อดีตนักเทนนิสหญิงทีมชาติไทย เมื่อครั้งศึกษาในรั้วน้ำเงิน-เหลือง ก็ได้เป็นนักเทนนิสเยาวชนทีมชาติ ทั้งในรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี และ รุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี ทำผลงานคว้าแชมป์ต่าง ๆ ในระดับเยาวชนมากมาย

แม้โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะจะมีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ไม่มีสนามหญ้ากว้าง ๆ เฉกเช่นโรงเรียนมัธยมที่อื่นในจังหวัด แต่ด้วยการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพจากรุ่นสู่รุ่น โดดเด่นทั้งทางด้านวิชาการและกิจกรรม โดยเฉพาะกีฬา ทั้งบาสเก็ตบอลซึ่งเคยสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ และฟุตซอลที่กำลังก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ มีนักกีฬาของโรงเรียนช่วยทีมจังหวัดสมุทรสาครคว้าเหรียญทองในกีฬาแห่งชาติครั้งล่าสุด

อีกทั้งด้วยความที่เป็นโรงเรียนใจกลางเมืองมหาชัย มีนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบติดเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ในทุก ๆ ปี ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีคนในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความสนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราว โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ กับกาลเวลาอันยาวนาน 111 ปี ที่ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ต่างล้วนภูมิใจที่ตนเคยได้ชื่อว่าเป็นชาว ส.ค.ณ. รวมถึงเป็นที่ยอมรับของชาวจังหวัดสมุทรสาครมาจนถึงทุกวันนี้

รูปปั้น “พี่เผือก” จากสัญลักษณ์ของความเป็นโรงเรียนสตรี สู่สัญลักษณ์ของโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ
สร้างโดย “ครูเชาว์ เอี่ยมจันทร์” อดีตครูศิลปะของโรงเรียน ประมาณปี 2508-2509 โดยใช้บุตรสาวเป็นแบบในการปั้น

-กิตติกร นาคทอง-

ศิษย์เก่า ส.ค.ณ. รุ่น 88

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *