อาลัย “ระพี สาคริก” ย้อนรอยบรรพบุรุษเชื้อสายเจ้าเมืองสาครบุรี

เช้าของวันที่ 17 ก.พ. 2561 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปราชญ์แผ่นดิน บุคคลสำคัญทางด้านการศึกษาและการเกษตร ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่บ้านพักย่านงามวงศ์วาน สิริอายุได้ 95 ปี

ถือว่าเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลสำคัญครั้งใหญ่ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล

เป็นที่ทราบกันดีว่า ศ.ระพี เป็นนักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล จนได้รับการกล่าวขานเป็น “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย”

รวมทั้งเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

และยังได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนให้เป็นหนึ่งในราษฎรอาวุโส เมื่อคราวเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

แต่น้อยคนนักจะทราบได้ว่า สกุล “สาคริก” มีต้นตระกูลที่ตั้งรกรากและสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสาครบุรี หรือ จ.สมุทรสาคร ในปัจจุบัน

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ผู้เป็นบิดาของ ศ.ระพี ได้เขียนบันทึกบอกเล่าถึงชีวิตของตนเองไว้ด้วยลายมือ

โดยพระมหาเทพกษัตรสมุห เกิดที่จวนเจ้าเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2441 ในครอบครัวของข้าราชการชนบท

มีบิดาคือ ขุนคลัง (หนู) เป็นนายอำเภอต้องย้ายไปประจำหลายท้องที่ กับนางคลัง (แก้ว) ต่อมาครอบครัวได้แยกทางกัน มารดาจึงได้พาไปอยู่ที่สมุทรสาครตั้งแต่วัยเพิ่งหัดคลาน

จนเมื่อพอจะรู้ความ มารดาก็ไปแต่งงานใหม่กับชาวสวนที่ธนบุรี แล้วให้อาศัยอยู่กับครอบครัวเจ้าของโรงขายยาฝิ่นแห่งหนึ่งริมคลองมหาชัย ข้างวัดใหม่คล้ายนิมิตร หรือวัดมหาชัยคล้ายนิมิตรในปัจจุบัน

ซึ่งครอบครัวดังกล่าวเคยเป็นทนายหน้าหอของหลวงอภัยสุนทร (ตาด) อดีตปลัดเมืองสาครบุรี ช่วงประมาณ พ.ศ. 2424 ที่มีศักดิ์เป็นปู่ของพระมหาเทพกษัตรสมุห และทวดของ ศ.ระพี

เมื่ออายุ 7 ปี พระมหาเทพกษัตรสมุหได้พบกับบิดาอีกครั้ง และย้ายไปอยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ต่อมาได้เข้ามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย)

โดยมี พระยาบริหารราชมานพ (เนียน สาคริก) พี่ชายต่างมารดา ซึ่งรับราชการในราชสำนักอยู่ก่อนหน้า เป็นผู้นำเข้าถวายตัวเป็นข้าฯ ในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในปี พ.ศ. 2461 จึงเริ่มรับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ กรมมหาดเล็กหลวง กระทรวงวัง รับราชการถวายการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่ออายุ 38 ปี ได้ดำรงตำแหน่งกรมพระตำรวจในซ้าย ยศ ขุนตำรวจเอก บรรดาศักดิ์ พระมหาเทพกษัตรสมุห แต่แล้วเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงต้องออกจากราชการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้สอบเข้ารับราชการที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย และองค์การสวนสัตว์ดุสิต

กระทั่งอายุมากจึงลาออก และใช้ชีวิตในบั้นปลายยืนยาวมาจนเกือบหนึ่งร้อยปีเต็ม ขาดเพียง 11 วัน โดยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2541

ภาพซ้าย : พระยาบริหารราชมานพ (เนียน สาคริก) , ภาพขวา : พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)

ที่มา : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)

จากหนังสืออนุสรณ์ฯ พระมหาเทพกษัตรสมุห ก็ได้บันทึกความเป็นมาของสกุล “สาคริก” ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยระบุว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงปราบปรามศึกสงครามจนค่อยสงบแล้ว จึงได้ทรงแต่งตั้งให้พี่น้องสามคนชาวบางช้าง ที่มีความดีความชอบในราชการสงครามเป็นเจ้าเมือง

โดยพี่ชายคนใหญ่เป็นเจ้าเมืองสาครบุรี ต่อมาเป็นสมุทรสาคร เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล “สาคริก” พี่ชายคนกลางเป็นเจ้าเมืองสมุทรสงคราม เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล “ณ บางช้าง” และน้องคนเล็กเป็นเจ้าเมืองสงขลา เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล “ณ สงขลา”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “สาคริก” (Sagarik) ให้กับพระยาบริหารราชมานพ (เนียน สาคริก) ขณะที่มีบรรดาศักดิ์เป็น นายเสนองานประพาษ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2456 ที่ ต.อ่างศิลา จ.ชลบุรี

โดยทรงนำคำ “สาคร” จากชื่อเมืองสาครบุรี ซึ่งต้นตระกูลเคยเป็นเจ้าเมือง มาเติมสระ “อิ และ ก.” จึงเป็น “สาคริก” ซึ่งจะทำให้หมายถึงบุคคล เช่นเดียวกับคำว่า สถาปนา – สถาปนิก และพุทธศาสนา – พุทธศาสนิก

ดังนั้นเมื่อ “สาคร” หมายถึงทะเล “สาคริก” จึงหมายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทะเล คือเป็น “ชาวทะเล” หรือ “ลูกน้ำเค็ม” เช่นทหารเรือ ชาวเรือ (เดินทะเล) ชาวประมง ฯลฯ

เหตุที่ “สาคริก” มิได้ใช้ ณ สาคร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งแก่พระยาบริหารราชมานพ ซึ่งเป็นผู้ขอพระราชทานว่า

“ความจริงเจ้าก็ควรจะใช้นามสกุลว่า ณ สาคร แต่เมื่อข้าได้ให้ใช้สาคริกไปแล้วก็เห็นว่าเก๋ดีเหมือนกัน อย่าน้อยใจเลย”

ทั้งนี้ พระยาบริหารราชมานพ ได้สร้างกุฏิสาคริก ณ วัดมหาชัยคล้ายนิมิตร ไว้เป็นอนุสรณ์แก่ตระกูลเมื่อปี พ.ศ. 2491

กุฏิสาคริก ภายในวัดมหาชัยคล้ายนิมิตร (ภาพจากเฟซบุ๊ก “ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก” ถ่ายไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2557)

นอกจากนี้ พระมหาเทพกษัตรสมุห ได้เขียนบรรยายสภาพบ้านเมืองสมุทรสาครเมื่อราว พ.ศ. 2447 ทั้งเรื่องของโรงขายยาฝิ่น ซึ่งสมัยนั้นกฎหมายได้อนุญาตให้มีการเสพฝิ่นและจำหน่ายฝิ่นภายในโรงขายยาฝิ่น

โดยในวัยเด็กได้ทำหน้าที่คอยยกสำรับฝิ่นให้กับลูกค้า และคอยระวังนักสูบฝิ่นไม่ให้ลักลอบนำขี้ยาที่ติดอยู่หัวกล้องสูบฝิ่นออกจากโรงขายยาฝิ่น ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย

รวมถึงประวัติความเป็นมาของปากแม่น้ำท่าจีนและตำบลท่าฉลอม เรื่องการทำโป๊ะดักปลาบริเวณปากอ่าวท่าจีน ซึ่งสมัยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์

อีกทั้งเกี่ยวข้องกับตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง ที่ชาวประมงเคารพนับถือเพื่อส่งเสริมโชคลาภในการประกอบอาชีพ ฯลฯ อันเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองสมุทรสาครของคนรุ่นหลัง

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองสมุทรสาคร ประมาณปี พ.ศ. 2489 โดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์ – ฮันท์

สำหรับ ศ.ระพี สาคริก ถือเป็นผู้สืบสายสกุล สาคริก เป็นรุ่นที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2465 ที่ย่านวรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนโตของพระมหาเทพกษัตรสมุห กับนางสนิท ภมรสูต

สมรสกับนางกัลยา สาคริก (มนตริวัต) บุตรของพลตำรวจตรีขุนพิชัยมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทยค่ายกาญจนบุรี และรองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม มีบุตร 4 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 1 คน

เมื่อปี พ.ศ. 2533 ศ.ระพี ได้ลาออกจากตำแหน่งประจำต่างๆ ทั้งภาคราชการ กึ่งราชการและภาคเอกชน เพื่อหันมาใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย เหลือเพียงการเป็นที่ปรึกษาให้วิทยาทานด้วยการบรรยาย สัมมนา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชนบทและเยาวชนที่เน้นด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ศ.ระพี ได้นอนพักรักษาตัวที่บ้านย่านบางเขน หลังมีอาการวูบขณะร่วมงานทางวิชาการงานหนึ่งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในทันที

หลังแพทย์ตรวจรักษาพบเป็นเบาหวานและมีอาการทางสมอง คนไข้มีอาการเพ้อตลอดเวลา น่าจะเป็นอาการสับสนเฉียบพลัน ซึ่งเป็นปกติของผู้สูงอายุ และอาการป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ ก่อนกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านและถึงแก่อนิจกรรมในที่สุด

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระบรมราชานุเคราะห์ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ศ.ระพี สาคริก เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศาลาพ่วงจินดา วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ จากนั้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 จะประกอบพิธีบรรจุศพ หลังสวดพระอภิธรรมเสร็จสิ้นต่อไป

– กิตติกร นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *