“รพ.บ้านแพ้ว-วัดในสมุทรสาคร” ร่วม e-Donation บันทึกข้อมูลบริจาคให้สรรพากร

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เปิดตัวโครงการ e-Donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน บริจาคเงินและลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องส่งหลักฐานใดๆ

โดยระบบ e-Donation พัฒนาโดยสถาบันการเงิน ร่วมกับบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ผู้ดูแลระบบพร้อมเพย์ กรมสรรพากร และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีธนาคารชั้นนำ 10 แห่งเข้าร่วมโครงการ

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้เปิดโอกาสให้สถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล และองค์กรสาธารณกุศล ลงทะเบียนเพื่อขอรับ “เลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค” 13 หลัก ขึ้นต้นด้วย 0-9940-xxxxx-xx-x เพื่อใช้สำหรับเป็นข้อมูลในการรับบริจาค

รูปแบบของระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ “บริจาคที่หน่วยรับบริจาคโดยตรง” ทางหน่วยรับบริจาคจะต้องบันทึกข้อมูลการบริจาค เช่น เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้บริจาค และจำนวนเงิน ลงในเว็บไซต์ e-Donation ของกรมสรรพากร

อีกรูปแบบหนึ่ง คือ “รับบริจาคผ่านสถาบันการเงิน” ส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบให้ผู้บริจาค “สแกนคิวอาร์โค้ด” โดยใช้แอปพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือ ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้มีหน้าที่ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยที่หน่วยรับบริจาคเพียงแค่รอรับรายงานการบริจาคทุกวันผ่านทางระบบอีเมล หรือช่องทางที่ธนาคารกำหนด

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับก็คือ เมื่อบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ไปแล้ว ไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาค ถึงปีหน้ายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 90 หรือ 91) ไม่ต้องถูกกรมสรรพากรขอหลักฐานการบริจาค เพราะมีข้อมูลการบริจาคในฐานข้อมูลกรมสรรพากร และหากมีเงินคืนภาษี ก็จะได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น

ถือเป็นการลดขั้นตอน ลดความยุ่งยาก จากในอดีตต้องไปขอใบเสร็จรับเงิน หรือใบอนุโมทนาบัตรจากวัด

ปัจจุบัน มี 5 ธนาคารที่พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทีเอ็มบี และ ธนาคารออมสิน ส่วนปลายปีนี้จะมีธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารมิซูโฮ และ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ให้บริการเพิ่ม

ข้อมูลจากกรมสรรพากร ระบุว่า มีหน่วยรับบริจาคในจังหวัดสมุทรสาคร ใช้ระบบ e-Donation แล้ว 24 แห่ง  มีโรงพยาบาล 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) อีก 23 แห่ง เป็นศาสนสถาน

อาทิ วัดนางสาว, วัดอ่างทอง, วัดท่ากระบือ, วัดหนองนกไข่, วัดเกษตรพันธาราม, วัดท่าเสา, วัดหนองพะอง, วัดราษฎร์บำรุง (หงอนไก่) วัดสวนส้ม, วัดเทพรัตนาราม, วัดสหกรณ์โฆสิตาราม, วัดสุวรรณรัตนาราม, วัดบางยาง, วัดธรรมโชติ, วัดศรีเพชรพัฒนา, วัดอ้อมน้อย, วัดบางพลี, วัดดอนไก่ดี, วัดศาลพันท้ายนรสิงห์, วัดคลองครุ, วัดบ้านไร่เจริญผล, วัดยกกระบัตร และ วัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง

โดยพบว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่รับบริจาคผ่านสถาบันการเงิน ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าจะใช้ระบบของธนาคารอะไรในการรับบริจาคผ่านระบบ e-Donation

เพราะการรับบริจาคเพื่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว พบว่า ใช้เลขที่อี-วอลเลทของบริการ “เป๋าตุงกรุงไทย” ไม่ใช่เลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค 13 หลัก คือ 0-9940-00542-94-1 และต้องส่งหลักฐานโอนเงินผ่านการแอดไลน์โรงพยาบาล เพื่อออกใบเสร็จรับเงิน นำไปลดหย่อนภาษีผ่านช่องทางปกติอีกครั้ง

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมกับวัดนางสาว บริจาคผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ในโครงการ “กรุงไทยเติมบุญ” พร้อมรับสิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ทันที

โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ และเมื่อสแกนผ่านแอปฯ KTB netbank จะมีบริการออกใบอนุโมทนาอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

ทั้งนี้ ก่อนการบริจาค แอปพลิเคชั่นของธนาคารจะแสดงให้ลูกค้าเลือกว่า “ยินยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูล” เปิดเผยข้อมูลรายการบริจาคให้แก่กรมสรรพากรหรือไม่

หากยินยอม ระบบจะแสดงเลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค 13 หลัก และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก สำหรับบุคคลธรรมดา คือหมายเลขประจำตัวประชาชน เพื่อใช้บันทึกในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรนั่นเอง

หากไม่ยอมรับ ระบบจะไม่เปิดเผยข้อมูลการบริจาคแก่กรมสรรพากร และไม่มีข้อมูลการบริจาคครั้งนั้นในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร

ส่วนธนาคารออมสิน แม้จะโปรโมตโครงการ QR สาธุ โดยร่วมกับวัดเจริญสุขาราม วัดท่ากระบือ วัดสุวรรณรัตนาราม วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร วัดใหม่ราษฎร์นุกูล วัดน้อยนางหงษ์ วัดนางสาว วัดบ้านโคก วัดบางปิ้ง วัดศรีสุวรรณคงคาราม และวัดป้อมวิเชียรโชติการาม แต่ก็ต้องไปติดต่อขอรับใบอนุโมทนาบัตรที่วัดโดยตรง

โดยสรุปก็คือ ในขณะนี้มีเพียงวัดนางสาวเพียงแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสาคร ที่เชื่อมโยงระบบ e-Donation ของกรมสรรพากรได้สำเร็จ ส่วนวัดหรือโรงพยาบาลอื่นๆ คาดว่ากำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบโดยใช้เลขประจำตัวหน่วยรับบริจาค เชื่อมกับระบบของธนาคาร

หากระบบทำได้จริง คนสมุทรสาครที่เป็นสายบุญจะได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *