“อนุสรณ์” พูดได้ไม่เต็มปาก “ไพรมารีโหวต” ด่านแรกก่อนสนามเลือกตั้ง

กลายเป็นที่ฮือฮาของคอการเมืองสมุทรสาคร เมื่อ “ต่อ” อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร บุตรชาย “เฮียม้อ” มณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ปรากฎตัวในการประชุมใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา

หลังปิดเทอมการเมืองใหญ่มากว่า 4 ปี นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง อนุสรณ์ยืนยันแล้วว่า ตัดสินใจย้ายจากพรรคเพื่อไทย มาร่วมงานทางการเมืองกับ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคคนใหม่ สานต่อแทน บรรหาร ศิลปอาชา ผู้ล่วงลับ

ตามรายงานระบุว่า อนุสรณ์ไม่ได้มาเพียงคนเดียว แต่ยังพา “ส.จ.เอ็กซ์” อภิชาติ โพธิ์ถนอม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ที่คาดว่าจะลงพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน และ ปัญญา ชวนบุญ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าจะลงพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว

อนุสรณ์กล่าวกับ “สาครออนไลน์” ถึงการย้ายสังกัดในครั้งนี้สั้นๆ ว่า เนื่องจากครอบครัวได้คุยกันแล้ว จึงได้มีการตัดสินใจย้ายพรรคดังกล่าว

“ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตัวผู้สมัครไม่สามารถบอกได้ว่าผู้สมัครจะได้ลงเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร เพราะกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายจะต้องทำไพมารีโหวต และอีกหลายขั้นตอน ตรงนั้นก็จะต้องไปตามกระบวนการ เพราะอยู่ๆ มาบอกว่าตรงนั้นตรงนี้ คงยังตอบกันไม่ได้ ยังมีกระบวนการและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด”

คงมีคนสงสัยว่า ทำไมอนุสรณ์พูดได้ไม่เต็มปาก และการเลือกตั้งในครั้งนี้ถึงดูยุ่งยากขนาดนั้น?

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 ส่วน คือ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว

อีกส่วนหนึ่ง จะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยใช้วิธีนำคะแนนรวมทั้งประเทศ (จำนวนบัตรดี XX ล้านเสียง) หารด้วยจำนวน ส.ส. 500 คน จะได้ผลลัพธ์ X

จากนั้น นำคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ รวมกันทั่วประเทศ หารด้วยผลลัพธ์ X ก็จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ (ผลลัพธ์ Y)

ต่อมา ต้องดูว่า พรรคการเมืองนั้น ชนะการเลือกตั้งไปกี่เขต แล้วผลลัพธ์ Y ไปลบกับจำนวนเขตที่พรรคการเมืองนั้นชนะการเลือกตั้ง ก็จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ว่ากันว่า สูตรการคำนวณ ส.ส. ครั้งนี้ จะเอื้อประโยชน์แก่พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เพราะแม้จะแพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ถ้าคะแนนรวมกัน X คะแนน จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง

วิธีการนี้ เรียกว่า “แบบจัดสรรปันส่วนผสม”

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อธิบายว่า การเลือกตั้งรูปแบบนี้ออกแบบมาให้ทุกคะแนนที่ประชาชนลงเลือกตั้งจะไม่ถูกทิ้ง สามารถใช้สิทธิได้ง่าย ไม่มีความซับซ้อน และจะรู้สึกว่า คะแนนทุกคะแนนมีความหมาย

อีกหนึ่งความยุ่งยาก คือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุว่า พรรคการเมืองจะส่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ต้องมี “สาขาพรรค”  หรือ “ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด” ในเขตเลือกตั้งนั้น

และต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “ไพรมารีโหวต” (Primary Vote)

โดยพรรคการเมืองต้องตั้ง “คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต” เป็นศูนย์กลางในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วส่งให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

สำหรับคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคชาติไทยพัฒนา ต้นสังกัดของนายอนุสรณ์ มีทั้งหมด 11 คน ได้แก่ นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค, นายสุรชัย ทิณเกิด, นายพิสิษฐ์ พิทยฐากุลเจริญ, นายเสน่ห์ ขาวโต, นายสรชัด สุจิตต์, นายดำรงค์ นิทัศกาญจนานนท์ , นายประสงค์ ยนตร์ตัน, นายสมยศ หนูหนอง,นายนิกร จำนง, น.ส.สุพาณี เวชศาสตร์ และ นายจักรี ทิณเกิด

จากนั้น หัวหน้าสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขต ตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งมา

โดยสาขาพรรคต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกพรรคมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน

เมื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครเสร็จแล้ว ให้นำคะแนนลำดับสูงสุด 2 อันดับแรกให้คณะกรรมการสรรหาฯ แล้วส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ซึ่งคนที่ได้อันดับ 1 จากการเลือกของสมาชิกพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคอาจจะ “ไม่เห็นชอบ” โดยจะชี้แจงเหตุผลแล้วให้คนที่ได้อันดับ 2 ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็ได้

เมื่อได้ตัวผู้สมัครครบทุกเขตที่พรรคนั้นจะส่งผู้สมัครแล้ว ให้คณะกรรมการบริหารพรรค และคณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมร่วมกัน มีมติเห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครผู้ใด ให้เสนอรายชื่อผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

วิธีการนี้ นำมาใช้กับการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเช่นกัน โดยหัวหน้าสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งมา แล้วรายงานผลคะแนนไปให้คณะกรรมการสรรหาฯ เรียงลำดับอีกที

หากมองกันอย่างผิวเผินแล้ว อาจเป็น “พิธีกรรมทางการเมือง” ที่บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะจากเมื่อก่อนจะส่งใครลงสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตขึ้นอยู่กับพรรค แต่คราวนี้ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรคที่จะจัดประชุมกันทั่วประเทศ และต้องทำโดยนิตินัยเพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ความยุ่งยากในกระบวนการทำไพมารีโหวตเช่นนี้ จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมพักนี้ “อนุสรณ์” ถึงพูดได้ไม่เต็มปากนัก จนกว่าการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. จะเสร็จสิ้น และกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งมาได้ ถึงวันนั้นคงจะหายใจโล่งคอ พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้ ส.ส. สมุทรสาครต่อไป

– กิตตินันท์ นาคทอง –

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *