เปิดเวทีเสวนา “ปัญหาและแนวทางแก้ไขกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ”

รองอธิบดีกรมประมง ประธานเปิดงานเสวนา “ปัญหาและแนวทางแก้ไขกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ” เชิญหลายภาคส่วนร่วมอภิปราย ชี้แจงปัญหาให้รับทราบในสังคมทั่วไป เผยมีการพูดคุยผ่าน Shrimp Board แก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเสริมสภาพคล่อง ใช้โซลาร์เซลล์ลดต้นทุน การแก้ปัญหาโรคระบาด และศึกษาตลาดต่างประเทศ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 มิ.ย. 66 ที่ห้องประชุมใหญ่ ตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง “ปัญหาและแนวทางแก้ไขกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ” โดยมี ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานตลาดทะเลไทย น.ส.สุวีรยา ปั้นปาน พาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร นายกุณสมบัติ ศิริสมบัติ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเข้าร่วมรับฟัง

ภายในงานมีการเสวนาให้ความรู้และข้อมูล เกี่ยวกับปัญหากุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ จากนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง, ดร.พยุง ภัทรกุลชัย กรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์, นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย, นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย, นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ กรรมการบริหารสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และนายมานิตย์ จิตรชุ่ม นายกสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานตลาดทะเลไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดภาวะกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ ทางจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ อบจ.สมุทรสาคร หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ตลาดทะเลไทย และภาคส่วนต่าง ๆ จึงได้จัดงานเทศกาลกินกุ้งสมุทรสาครสมุทรสาครขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และเพื่อให้ปัญหากุ้งขาวแวนนาไมได้รับทราบในสังคมทั่วไป และจะได้ร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไข ซึ่งกุ้งขาวแวนนาไมเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของบ้านเรา นำเงินเข้าประเทศจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหาภาวะราคาตกต่ำ ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อเกษตรกร จึงได้จัดงานเสวนาในครั้งนี้ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้รับผิดชอบในเรื่องของห่วงโซ่กุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมงาน

ทางด้านนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เรื่องอุตสาหกรรมกุ้งทะเล ทั้งกรมประมง ชมรมและสมาคมต่าง ๆ ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมนี้มายาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปี จนก้าวหน้าผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายครั้ง ทุกครั้งที่เกิดปัญหาเราก็ก้าวผ่านขึ้นมาใหม่ได้อย่างเข้มแข็งเหมือนเดิม ในครั้งนี้เราก็คาดหวังอย่างนั้นเช่นกัน ที่ผ่านมากรมประมงมีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ภาคห้องเย็น ชมรม และสมาคมต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมากยิ่งขึ้นผ่านคณะกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ ที่สำคัญคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board ซึ่งเป็นบอร์ดใหญ่ และคณะกรรมการเกินครึ่งมาร่วมกันเสวนาในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ดีที่จะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ช่วยกันในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่ได้ช่วยกันทั้งการเสริมสภาพคล่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จนมาสู่เรื่องการหาเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เรื่องของปัจจัยการผลิตที่พยายามหาทางสนับสนุน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมการค้าภายใน ผ่านคณะกรรมการฯ ก็เป็นอีกหนึ่งความหวัง ส่วนในเรื่องของพลังงาน มีความพยายามผลักดันช่วยภาคการผลิตกุ้งทะเลอยู่หลายครั้งแต่ก็ยังไม่ได้ ก็ต้องพยายามกันต่อไป เรื่องการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามา เช่น โซลาร์เซลล์  มีเกษตรกรเริ่มใช้กันหลักพันราย

เรื่องของโรคระบาดในกุ้ง ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนเข้าไปแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้กรมประมงดำเนินการโดยลำพังไม่ได้ คงจะต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน เรื่องการตลาด ซึ่งมีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากผลผลิตกุ้งของเราผลิตนำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งใน Shrimp Board ก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาร่วมกัน วันนี้ต้องขอบคุณทีมงานจังหวัดสมุทรสาครเป็นอย่างมาก ที่ได้จัดงานเทศกาลกินกุ้งสมุทรสาครขึ้นมา เป็นการส่งเสริมการบริโภคกุ้งในภาวะที่การผลิตมีมาก ตนหวังว่าการดำเนินการในลักษณะแบบนี้จะมีขึ้นอีกต่อไป

นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ Shrimp Board ผลงานที่ชัดเจนที่สุดคือการประกันราคากุ้ง ซึ่งได้ดำเนินการได้ผลดีในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการถอดบทเรียนเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ในเรื่องการตลาดที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังเข้าสู่การพิจารณา เช่น การส่งเสริมให้ตั้งศูนย์จุลินทรีย์ และการตรวจโรค เป็นต้น

สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม ในปี 65 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 52,063 ล้านบาท แต่ในปัจจุบันมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่น เดือน ม.ค. กุ้งขาวขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคาซื้อขายเฉลี่ย 200 บาท แต่ในเดือน พ.ค. มีราคาลดลงถึง 36 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณกุ้งที่เข้าสู่ตลาดที่มีมากขึ้น สวนทางกับปริมาณการส่งออกกุ้งไปยังต่างประเทศที่ลดลง ทั้งสหรัฐอเมริกาที่เน้นนําเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ ประเทศญี่ปุ่นที่ปรับพฤติกรรมไปบริโภคกุ้งราคาถูกมากขึ้น เนื่องจากปัญหาค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง สวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับเกษตรกร ภายในประเทศประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ราคาอาหารกุ้ง ค่าไฟฟ้าและน้ำมัน รวมทั้งปัญหาเรื่องโรคที่เป็นต้นทุนแฝง ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *