
รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ คิกออฟนำร่อง 5 จังหวัด พร้อมปล่อยขบวนเรืออวนรุน 23 ลำ สู่แม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว หวังกำจัดวงจรระบาดให้สิ้นซาก
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ก.พ. 2567 ที่วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน “เปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ” มอบธงสัญลักษณ์พร้อมปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 60,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร คณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชาวประมง เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธี





นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำได้ดี ทำให้พบการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำกว่า 13 จังหวัด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและชาวประมง จึงกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องมีมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาด เพื่อปกป้องผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรและทรัพยากรประมงของประเทศ
โดยที่ผ่านมากรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำขึ้น เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกร ชาวประมงและบุคคลทั่วไปในวงกว้าง กรมประมงจึงจัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายชาวประมงและเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอสีคางดำด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ร่วมกับการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาดเพื่อควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำขนาดเล็กที่พบในธรรมชาติและมีการหลุดรอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงของเกษตรกร








โดยภายในงาน มีการมอบธงสัญลักษณ์ให้แก่ชาวประมงเรืออวนรุนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด 23 ราย และปล่อยขบวนเรืออวนรุนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อออกปฏิบัติการในแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร พร้อมสาธิตวิธีการใช้อวนรุนในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ แม้ว่าอวนรุนจะเป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำการประมงสูง ได้ถูกจัดเป็นเครื่องมือประมงที่ห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมง พ.ศ. 2567
โดยผ่อนผันให้ใช้อวนรุนขนาดคันรุนยาวไม่เกิน 16 ม. ห้ามติดโซ่แต่ให้มีการถ่วงน้ำหนักได้ด้วยการติดตัวถ่วงน้ำหนักที่แนบกับเชือกคร่าวล่าง ขนาดตาอวนตลอดผืนต้องไม่น้อยกว่า 3 ซม. ในการกำจัดปลาหมอสีคางดำเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้แก่ พื้นที่บริเวณริมทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน คลองสุนัขหอน และคลองพิทยาลงกรณ์เท่านั้น ซึ่งการทำประมงนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มอบหมาย โดยมีคณะกรรมการประมงจังหวัดฯ วางแผนกำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินการให้กรมประมงทราบ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567







นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 40,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ วัดลาดเป้ง จ.สมุทรสงคราม, ประตูน้ำบ้านคลองสวน จ.สมุทรปราการ ท่าเทียบเรือประมงคลองอีแอด จ.เพชรบุรี และวัดประชาบำรุง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร คู่ขนานไปกับการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวอีก 20,000 ตัว ในงาน Kick Off ที่จัดขึ้น ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) จ.สมุทรสาคร ร่วมด้วยกิจกรรมการมอบหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 5 ราย ตลอดจนการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านชีววิทยาปลาหมอสีคางดำ การสาธิตการใช้ประโยชน์จากปลาหมอสีคางดำในรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปเมนูไส้อั่วปลาหมอสีคางดำ และเครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำอีกด้วย
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า เนื่องด้วยปัญหาการรุกรานของปลาหมอสีคางดำเป็นปัญหาที่สำคัญ กรมประมงยังได้มีการจัดทำร่างมาตรการและการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการควบคุมการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่พบมีการรุกรานแล้ว พร้อมติดตามประเมินและป้องกันการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ที่ยังไม่ถูกรุกราน อีกทั้งยังได้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานเปิดปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำทั้งในบ่อเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถฟื้นฟูและบริหารจัดการระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อยังประโยชน์ให้กับชุมชนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดความมั่นคงของทรัพยากรประมงในพื้นที่ต่อไป
สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง