ดีเดย์รับซื้อปลาหมอคางดำ 15 บ. แพปลาสมุทรสาครหวั่นต้นทุนขนส่ง ปธ.เรืออวนลากแนะเปิดจุดรับซื้อเพิ่ม

เริ่มแล้ว กยท. รับซื้อปลาหมอคางดำ กก. 15 บาท แพปลาสมุทรสาครเผย มีเรือนำปลามาขายจำนวนน้อยมาก ต้องดองน้ำแข็งรอ หวั่นไม่คุ้มค่าน้ำมันส่งไกล ด้าน ปธ.ชมรมเรืออวนลากฯ ชี้ควรเปิดจุดรับซื้อตามแพกุ้ง-แพปลาเพิ่ม แนะให้โรงงานปลาป่นทั้งหมดผลิตขายให้โครงการของรัฐได้

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เริ่มเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาทเป็นวันแรก เบื้องต้นมีเป้าหมายที่จะรับซื้อทั้งหมด 1,000 ตัน เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพมาตรฐานกรมพัฒนาที่ดินใช้ในสวนยางพารา โดยมีจุดรับซื้อทั้งหมด 49 จุดในพื้นที่ที่มีการระบาดทั้ง 16 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีจุดรับซื้อทั้งหมด 10 จุดนั้น

เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่จุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ของนายวิชาญ เหล็กดี ในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และได้พูดคุยกับ นางสมพร สายบริสุทธิ์ อายุ 60 ปี เจ้าของแพปลาฯ โดยเปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้แพปลารับซื้อปลาหมอคางดำ ราคากิโลกรัมละ 15 บาทนั้น ตั้งแต่ช่วงเช้าก็มีเรือนำปลามาขายแล้ว 1 ลำ น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก ไม่คุ้มค่าหากจะนำไปส่งต่อยังศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร หรือโรงงานผลิตปุ๋ยที่ จ.กาญจนบุรี จึงต้องดองน้ำแข็งไว้ก่อนเพื่อรอปลาจากลำอื่น ๆ เข้ามาสมทบ ตรงนี้กลายเป็นต้นทุนที่ทางแพปลาต้องรับผิดชอบ ทั้งค่าน้ำแข็งและค่าน้ำมัน ขณะที่จากการได้พูดคุยกับทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร ก็บอกว่า ขอให้แพปลาแต่ละแห่งร่วมมือช่วยเหลือกัน หากปริมาณปลาในแต่ละวันของแต่ละแพมีไม่มากนัก ก็ให้รวบรวมเข้าด้วยกันแล้วจัดรถนำไปส่งเพียงคันเดียว

นางสมพร บอกอีกว่า ราคารับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท นั้นก็ดีต่อเรือประมงที่จับปลา แต่ทางเรือประมงเองก็เป็นห่วงว่าแพปลาจะคุ้มค่ากับราคารับซื้อนี้หรือไม่ที่ต้องรับภาระทั้งหมด แต่ในภาวะแบบนี้อะไรที่พอจะช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยกัน ในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากสายน้ำ แหล่งทำมาหากิน และแหล่งเพาะเลี้ยงทางการเกษตร เพื่อให้มีสัตว์น้ำประเภทอื่นได้เกิดขึ้น และทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์กันอีกครั้ง ส่วนสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ชายฝั่ง ต.บางหญ้าแพรก และในคลองพิทยาลงกรณ์ พบว่ามีปริมาณลดลง แต่ก็มีชาวบ้านบอกว่าอยากได้อวนที่ตาถี่มากขึ้น เพื่อจะได้จับลูกปลาได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังรอการประกาศขยายขอบเขตของทางสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อที่จะได้จับปลาหมอคางดำในคลองซอยได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การกำจัดเป็นไปได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ของ จ.สมุทรสาคร

ทางด้านนายกมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมอวนลากสมุทรสาคร กล่าวว่า เรื่องที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 420 ล้านบาท เพื่อการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำใน 7 มาตรการนั้น ส่วนตัวมองว่าเรื่องของงบประมาณเป็นเรื่องที่ทางคณะฯ แก้ไขปัญหาได้มีความเห็นชอบเพื่อเสนอเท่านั้น แต่ยังไม่เห็นตัวเงินที่ชัดเจนลงมาเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถที่จะออกความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้มากนัก แต่ถ้าเป็นอย่างที่รัฐบาลประกาศไว้ก็คิดว่าเป็นทิศทางที่ดี ในการร่วมกันแก้ปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการทั้ง 7 ด้าน แม้รู้ว่าปลาหมอคางดำไม่มีทางที่จะหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน แต่ก็สามารถทำให้ลดน้อยลงได้ ซึ่งก็ดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย

นายกมล กล่าวต่ออีกว่า ณ วันนี้ตามประกาศของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร มีจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในจังหวัดทั้งหมด 10 จุด ตามที่ยื่นขออนุญาตไว้ แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า แพกุ้ง แพปลา ที่ตลาดทะเลไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมประมงเหมือนกันนั้น แม้จะไม่ได้ยื่นขอเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ แต่ก็น่าจะเปิดให้เป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำได้ เพราะถ้าผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา จับกุ้ง จับปลาจากบ่อมาขาย เกิดมีปลาหมอคางดำติดมาสัก 200-300 กิโลกรัม ก็ให้สามารถขายกับจุดรับซื้อวัตถุดิบตรงนั้นได้เลย ไม่ต้องวิ่งไปขายยังจุดเฉพาะกิจที่รับซื้อปลาหมอคางดำ ซึ่งไม่คุ้มกับค่าน้ำมันและค่าเสียเวลา หากเปิดโอกาสตรงนี้ตนมองว่าจะช่วยกำจัดปลาหมอคางดำได้มากขึ้น อีกทั้งการนำปลาหมอคางดำไปทำปลาป่น ซึ่ง จ.สมุทรสาคร มีโรงงานทำปลาป่นอยู่ถึง 4 แห่ง แต่ปัจจุบันมีเข้าร่วมโครงการรัฐ 1 แห่ง หากเปิดให้โรงงานปลาป่นทั้งหมดสามารถผลิตขายให้กับโครงการรัฐได้ ก็จะช่วยกำจัดปลาหมอคางดำไปได้มากขึ้นไปอีก

ส่วนเรื่องของทรัพยากรสัตว์น้ำในปัจจุบัน บริเวณหน้าวัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) เห็นชัดเจนว่าเริ่มมีปลากระบอกกลับมาแล้ว เพราะปลาหมอคางดำลดน้อยลง ดังนั้นหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังก็เชื่อว่าอีกไม่นานทรัพยากรสัตว์น้ำในทุกจุดจะต้องฟื้นตัวกลับมาได้แน่นอน ขณะที่การปล่อยปลากะพงไปจับกินลูกปลาหมอคางดำนั้นคิดว่าเป็นแนวทางที่ได้ผล ทำให้จำนวนปลาหมอคางดำลดน้อยลงไปอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันงดจับปลากะพงที่ปล่อยลงไปเพื่อล่าปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ ในลำคลองสายต่าง ๆ ที่อาจจะมีปลาหมอคางดำอาศัยอยู่นั้น ทางสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดฯ หรือกรมการปกครองฯ น่าจะต้องจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกำจัดปลาหมอคางดำพร้อมกันทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ประกาศรับสมัครผู้รวบรวมวัตถุดิบและจำหน่ายวัตถุดิบ (ปลาหมอคางดำ) โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเปิดรับใบสมัครตั้งแต่วันที่ 26 – 30 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น ปรากฎมีผู้มายื่นใบสมัครจำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1. นายจุฑาวัฒน์ มาบุญธรรม, 2. นายวิชาญ เหล็กดี, 3. นางจารุจันทร์ จารวีไพบูรณ์, 4. นายเฉลิมพล เกิดปั้น, 5. น.ส.สุจิตรา จินดาวา, 6. นายกมลเทพ ทับสีเงิน, 7. กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49, 8. น.ส.วรางคณา มงคลตรีลักษณ์, 9. นายธันวา ไทยเจริญ และ 10. สหกรณ์การเกษตร บ้านแพ้ว จำกัด

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *