“ไทยยูเนี่ยน” ย้ำไม่กระทบสหรัฐฯ เพิกถอน GSP-“พาณิชย์”เตรียมร้องทบทวนใหม่

ภาพ : Thai Union Spirit

ซีอีโอไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ยันสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า ไม่กระทบธุรกิจของบริษัทฯ ยันร่วมกับรัฐบาลทั่วโลกปรับปรุงสิทธิแรงงาน และได้รับการจัดอันดับ DJSI ด้านรัฐมนตรีพาณิชย์เตรียมขอให้ทบทวนต่อจีเอสพีใหม่ ขณะที่ “หม่อมเต่า” ยันแรงงานบูรณาการยึดหลักมาตรฐานสากล

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องและอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่ของไทย ซึ่งมีฐานการผลิตในจังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงถึงกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาหลายรายการ ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าอาหารทะเลจากไทยบางรายการ ว่า การประกาศมาตรการจาก USTR ครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

“ไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นทำงานกับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อปรับปรุงเรื่องสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน (SeaChange) ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดริเริ่มต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในอุตสาหกรรมประมงทั่วโลก และหนึ่งในเสาหลักสำคัญคือความมุ่งมั่นในเรื่องสิทธิแรงงาน โดยแรงงานของเราต้องมีการจ้างงานที่ปลอดภัย ถูกกฎหมาย และมีเสรีภาพในการเลือกงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนที่มุ่งมั่นจะเป็นผู้นำทางด้านอาหารทะเลที่น่าเชื่อถือที่สุดระดับโลก” นายธีรพงศ์ กล่าว

ธีรพงศ์ จันศิริ

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) เป็นอันดับ 1 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารของโลก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อีกทั้งได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยไทยยูเนี่ยนประสบความสำเร็จอย่างมากจากการได้คะแนนสูงสุดที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ ในด้านความยั่งยืนโดยรวม รวมถึงได้รับคะแนนสูงสุดในหัวข้อ จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยน ยังได้รับการจัดอันดับโดยดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 จาก 30 บริษัทด้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลก อีกทั้ง ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการองค์กรและความยั่งยืนขององค์กร ยังได้รับรางวัลฟรีดอม อวอร์ด ออสเตรเลีย จากความพยายามต่อสู้เรื่องแรงงานทาสยุคใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เมื่อเร็วๆ นี้

ภาพ : กรมประชาสัมพันธ์

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาให้สิทธิจีเอสพีเพื่อการส่งออกประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยใช้สิทธิทั้งหมดเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 4-5% หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นสิทธิที่สหรัฐอมริกาให้ฝ่ายเดียว และที่ผ่านมามีการเพิ่มหรือตัดสิทธิจีเอสพีเป็นระยะ แต่การตัดสิทธิในช่วงนี้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการกดดันให้มีการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวขึ้นในประเทศไทย ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยมีการแบน 3 สารเคมี คือ พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเซต

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถูกตัดจีเอสพี เบื้องต้นทางกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการรองรับ ทั้งการขอให้สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดสิทธิจีเอสพี และการขยายตลาดการส่งออกจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งออก โดยรักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และเร่งรัดตลาใหม่ๆ สำคัญ 10 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ตุรกี เยอรมัน ศรีลังกา บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ อังกฤษ ยุโรป โดยจะเจาะลึกการส่งออกรายตลาดมากขึ้นต่อไป


ภาพ : กรมประชาสัมพันธ์

ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เรียกประชุมด่วนคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษจีเอสพี ของไทย โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563 โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ใช้เวลาในการหารือประมาณ 45 นาที จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดจีเอสพี ของไทยเป็นเรื่องมีเกี่ยวกับสิทธิแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างด้าวไม่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ปกติและเป็นเรื่องใหญ่ หลากมิติที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ จะขอรอดูท่าทีของแต่ละกระทรวงด้วย เช่น กระทรวงพาณิชย์ที่จะมีการแถลงในวันที่ 28 ต.ค. ส่วนกระทรวงแรงงานก็พร้อมจะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา และจะดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานด้วย โดยในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็เป็นมาตรฐานของไทย ซึ่งคงไม่สามารถไปยกเอากฎหมายสากลมาแปลใช้ได้เลย แต่ต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทของไทย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ นายจ้าง และคนไทย ขณะที่ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย รัฐบาลได้ให้สิทธิความคุ้มครองต่างๆ แต่ไม่ได้มากไปกว่าคนไทย

ส่วนประเด็นอื่นที่จะเกี่ยวข้องกับการที่ไทยมีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตรหรือไม่นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ไม่ทราบได้ เพราะต่างก็รู้เท่ากัน นอกจากนี้ ตนจะไปพูดคุยเรื่องนี้กับบุคคลที่ทราบเรื่องนี้ในสถานทูตสหรัฐอเมริกาอเมริกาประจำประเทศไทยในเร็วๆ นี้ เมื่อถามว่า จะมีความเกี่ยวข้องกับที่ไทยยังไม่รับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรองหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า คิดว่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมาย

“ยืนยันว่าที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน ผลการดำเนินงานส่งผลให้ไทยมีผลการดำเนินการสำเร็จมาก เช่น การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ไทยได้รับการจัดอันดับว่ามีการป้องกันการใช้แรงงานเด็กในระดับดีที่สุดถึง 2 ปีซ้อน และสถานการณ์การค้ามนุษย์ ไทยถูกจัดระดับดีขึ้นอยู่ที่เทียร์ 2 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 9 ปี” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *