แจ้งเกิด “ไทย สมายล์ บัส” 9 เส้นทาง ปอ.7 รถเมล์ไฟฟ้า ฟื้นสาย 120 ในตำนาน

แจ้งเกิดผู้ประกอบการเดินรถรายใหม่ “ไทย สมายล์ บัส” คว้าสัมปทานเดินรถ 7 ปี ปรับสาย 80ก. ขยายไปเส้นกาญจนาภิเษก ถนนตัดใหม่ ไปออกสวนหลวงพระราม 8 ส่วนสาย ปอ.7 ย่นเหลือแค่ศึกษานารี 2 ไม่เข้าสมุทรสาคร พบฟื้นสาย 120 ในตำนานกลับมา ต้นทางสมุทรสาคร สิ้นสุดที่แยกบ้านแขก แต่ยังไม่กำหนดว่าจะเดินรถเมื่อไหร่ แต่ก่อนหน้านี้นำรถเมล์ไฟฟ้ามาแล้ว

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ได้เปิดตัวเว็บไซต์ thaismilebus.com โดยให้ข้อมูลว่า ได้รับใบอนุญาตเส้นทางเดินรถเป็นเวลา 7 ปี จากกรมการขนส่งทางบก เบื้องต้นจำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ ปอ.6 ท่าเรือพระประแดง – บางลำพู, ปอ.7 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา – หัวลำโพง, ปอ.35 เคหะธนบุรี – บางลำพู, สาย 39 รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ปอ.56 วงกลมสะพานกรุงธน – บางลำพู, สาย 80ก หมู่บ้าน วปอ.11 – สวนหลวงพระราม 8, สาย 120 สมุทรสาคร – แยกบ้านแขก, สาย 132 พระโขนง – การเคหะบางพลี, สาย 133 เคหะบางพลี – สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย และ ปอ.207 ม.รามคำแหง 2 วิทยาเขตบางนา – ม.รามคำแหง คาดว่าเป็นการเดินรถแทนผู้ประกอบการรายเดิม ตามนโยบาย 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ของกรมการขนส่งทางบก แต่ไม่กำหนดว่าจะเดินรถเมื่อไหร่

โดยสาย 80ก ต้นทางหมู่บ้าน วปอ.11 อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ผ่านหมู่บ้านเอื้ออาทรกระทุ่มแบน 2, หมู่บ้านจิตราเพลส, โรงเรียนจันทศิริวิทยา, โรงเรียนประชาบำรุง, ตลาดคลองขวาง, เพชรเกษม 69, โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี, ซอยสุขสันต์, ซอยศิริพิมาน, วุฒิเจริญขนส่ง, ซอยพัฒนา 3, วัดเพลงกลางสวน, คลองบางขุนศรี, MRT บางขุนนนท์, พาต้าปิ่นเกล้า สิ้นสุดที่สวนหลวงพระราม 8 เส้นทางดังกล่าวแตกต่างจากสาย 80ก หมู่บ้าน วปอ.11-เขตบางกอกใหญ่ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตรงที่จากเดิมจะใช้ซอยนวลทอง ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ แยกซ้ายเข้าซอยเพชรเกษม 81 ออกถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เปลี่ยนเป็นไปตามถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ถึงตลาดคลองขวาง แยกซ้ายเข้าซอยเพชรเกษม 69 ออกถนนเพชรเกษม แยกซ้ายถนนกาญจนาภิเษก แยกขวาเข้าถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถึงสี่แยกไฟฉาย แยกซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ แยกขวาเข้าถนนบรมราชชนนี แยกซ้ายเข้าถนนอรุณอมรินทร์

ส่วนสาย ปอ.7 เป็นการลดระยะจากต้นทางสมุทรสาคร ของบริษัท ต.มานิตย์การเดินรถ จำกัด เดิม เป็นต้นทางโรงเรียนศึกษานารีวิทยา เขตบางบอน กรุงเทพฯ แต่เส้นทางยังเหมือนเดิม เริ่มจากโรงเรียนศึกษานารีวิทยา, วัดบางบอน, โรงเรียนสารสาสน์วิเทศบางบอน, หมู่บ้านศศิธร บางบอน 3, ซอยอินทาปัจ 11, หมู่บ้านเศรษฐกิจ, แยกพุทธมณฑลสาย 2, ซอยนงพง, ห้างฟิวเจอร์ปาร์คบางแค, โรงเรียนชาญกิจวิทยา, วัดนวลนรดิศ, ซอยจำเนียรสุข 3, เชิงสะพานพระปกเกล้า, คลองถม สิ้นสุดหัวลำโพง โดยใช้เส้นทางถนนเอกชัย แยกซ้ายถนนบางบอน 3 ซอยเพชรเกษม 69 ออกถนนเพชรเกษม ผ่านวงเวียนใหญ่ ถนนประชาธิปก สะพานพระปกเกล้า ถนนเจริญกรุง และวงเวียน 22 กรกฎา

ขณะที่สาย 120 เป็นการฟื้นเส้นทางรถร่วมบริการที่มีอยู่เดิม และเลิกทำการเดินรถไปนานแล้ว ต้นทางสนามกีฬาสมุทรสาคร, หมู่บ้านมหาชัยนิเวศน์, มหาชัยเมืองใหม่, อบต.คอกกระบือ, โรงพยาบาลตำบลบ้านโพธิ์แจ้, ซอยเอกชัย 126, วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีบริหารธุรกิจ, ซอยเอกชัย 94, หมู่บ้านสุนทร, บิ๊กซีบางบอน, ซอยเอกชัย 32, แยกวุฒากาศ, สวนดาวคะนองจอมทอง, โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า, สินสาธร ทาวเวอร์, แยกคลองสาน สิ้นสุดที่แยกบ้านแขก โดยใช้เส้นทางถนนเอกชัย ผ่านทางแยกต่างระดับเอกชัย ต่อด้วยถนนจอมทอง ถึงแยกจอมทอง แยกซ้ายเข้าถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านแยกมไหสวรรย์ แยกซ้ายเข้าถนนกรุงธนบุรี แยกซ้ายเข้าถนนเจริญนคร ผ่านแยกคลองสาน และถนนอิสรภาพ

สำหรับเป้าหมายของไทย สมายล์ บัส ระยะสั้นจะสร้างการรู้จักและจดจำแบรนด์ Thai Smile Bus เพิ่มจำนวนการใช้ e-ticket ของ TSB ให้ได้อย่างน้อย 10-15% และเพิ่มเส้นทางเดินรถเป็น 11 เส้นทาง ภายใน 1 ปี ส่วนระยะกลาง ขยายเส้นทางเดินรถให้มากขึ้น พัฒนา e-ticket ของ TSB ให้สามารถเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่น รวมทั้งพัฒนาเป็นบัตรเงินสดเพื่อใช้ชำระสินค้าและค่าบริการต่างๆ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากการเดินรถ รวมทั้งการให้บริการสื่อโฆษณาทั้งใน/นอก พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อต่อยอดธุรกิจการให้บริการด้านข้อมูล (data service) การทำแบบสำรวจ และ การทำโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Advertising) เป็นต้น ภายในระยะเวลา 2-4 ปี และเป้าหมายระยะยาว สามารถคืนทุนให้กับกิจการได้ สร้างผลกำไรจากการให้บริการรถโดยสารอย่างยั่งยืน ภายใน 5 ปี

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 ทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 41/327 ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพฯ มี น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา เป็นกรรมการบริษัท วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การผลิตยานยนต์อื่นๆที่ใช้เพื่อการโดยสาร (Manufacture of other motor vehicles for passengers) การผลิต/ประกอบรถตู้ รถบัสและรถโค้ช สำหรับ น.ส.กุลพรภัสร์ พบว่าเป็นผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทค ซิตี้ ของบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่มีนายสมโภชน์ อาหุนัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก “Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์” ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 รถเมล์ไฟฟ้า Minebus ร่วมกับ บริษัท ต.มานิตย์ การเดินรถ จำกัด นำรถเมล์ไฟฟ้า Minebus รุ่น EV-X12 ทดลองเดินรถจำนวน 1 คัน ออกให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารฟรี ทดสอบสมรรถนะของรถ และทำการเก็บข้อมูลป้ายรถเมล์เพื่อทดสอบระบบ E-Ticket จากนั้นจะมีนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อเตรียมทดสอบอีกรอบ จากนั้นวันที่ 18 มิ.ย. ที่อู่รถเมล์ ต.มานิตย์ ถนนเอกชัย ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้เริ่มติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า EA Anywhere สำหรับรถเมล์ EV และเมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ได้นำรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาที่อู่รถเมล์ ต.มานิตย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของรถ และฝึกอบรมพนักงานขับรถในการใช้งานรถเมล์ไฟฟ้า

สาครออนไลน์ โดย กิตตินันท์ นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *