บ.ศิวาชัย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร” พื้นที่ ต.กาหลง สมุทรสาคร

บริษัท ศิวาชัย จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการฯ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร พื้นที่กว่า 4.3 พันไร่ ต.กาหลง จ.สมุทรสาคร ในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ร่วมกับ กนอ.

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ที่ศาลาร้อยปี พระครูสมุทรธรรมสุนทร วัดกาหลง ต.กาหลง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร” ของบริษัท ศิวาชัย จำกัด โดยมี ร.ต.ประพันธ์  ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารบริษัท ศิวาชัย จำกัด ผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนจากเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ต.กาหลง เข้าร่วม

ดร.ศุภพรพงษ์ ชวนบุญ ประธานกรรมการบริษัท ศิวาชัย จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยทางบริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนา “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร” ในพื้นที่ ต.กาหลง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร รวมเนื้อที่ประมาณ 4,392.18 ไร่ บริเวณ ถ.พระราม 2 กม.48 ฝั่งขาออกกรุงเทพฯ โดยโครงการฯ ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาโครงการให้มีลักษณะเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

ในการดำเนินโครงการฯ จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ก่อนดำเนินการขออนุมัติ/อนุญาต ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินการจัดทำรายงานฯ จะต้องมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา วิธีการศึกษาและการประเมินทางเลือกโครงการ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาโครงการ และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโครงการ จึงได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการฯ ดังกล่าว

สำหรับ “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร” บริษัท ศิวาชัย จำกัด มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ จึงได้รวบรวมที่ดินมาพัฒนาทำการจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมในลักษณะ “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (Eco-Industrial Estate) ร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยบริษัทจะเป็นผู้พัฒนาที่ดิน พร้อมระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเป็นผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอื่น ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุน เพื่อให้การประกอบอุตสาหกรรมมีมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้ยื่นความประสงค์พัฒนานิคมอุตสาหกรรมกับ กนอ. เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือน เม.ย. 2565

โดยโครงการฯ มีเนื้อที่ประมาณ 4,392.18 ไร่ ในท้องที่ ต.กาหลง อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ที่ตั้งโครงการฯ ทิศเหนือ ติดต่อกับคลองนาขวาง พื้นที่ว่างรอการใช้ประโยชน์ เขตชุมชน ทางรถไฟสายแม่กลอง และที่ดินในกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ ใช้เป็นถนนภาระจำยอมเข้าออกโครงการด้านถนนพระราม 2 ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ติดต่อกับพื้นที่นาเกลือ ส่วนทิศใต้ ติดต่อกับพื้นที่ป่าชายเลนและทะเล แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 3,390.17 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 55.38 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 507 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 439.63 ไร่ มีการจัดระบบสาธารณูปโภคและการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบถนน ระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม แหล่งน้ำใช้ การจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอยและกากอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้า และระบบดับเพลิง

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ ทางโครงการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New-Growth Engine) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S Curve) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต, กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล, กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 280 เมกะวัตต์ (โรงไฟฟ้าขนาด 140 เมกะวัตต์ จำนวน 2 หน่วย) และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกและผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในพลังงานทางเลือก คาดว่ามีความต้องการแรงงาน 57,000 คน

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมห้ามตั้งจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมถลุงแร่หรือหลอมโลหะ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมหรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีการฝังกลบของเสียอันตราย (ยกเว้นเตาเผาของขยะมูลฝอยหรือกากเสียอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *