“กรมราง” สัมมนากลุ่มย่อย แผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ M-MAP 2 เวทีสมุทรสาคร

กรมการขนส่งทางราง จัดการประชุมสัมมนาฯ โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองสำหรับระบบราง และแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ M-MAP 2 พร้อมเผยความคืบหน้ารถไฟฟ้า 2 สายเชื่อมสมุทรสาคร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่ห้องโชติกา โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 โดยมี ว่าที่ ร.อ.ณัฏฐพร บัวผุด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนา กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมการประชุม

ว่าที่ ร.อ.ณัฏฐพร บัวผุด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนา กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้าเพื่อให้เป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประชาชน ด้วยเป้าประสงค์ในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลพิษทางอากาศ และลดการใช้พลังงานในภาคการคมนาคมขนส่ง โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว 211 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 135 กิโลเมตร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนา “แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP)” เมื่อปี 2552

อย่างไรก็ตาม จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการศึกษาแผน M-MAP เดิม เมื่อ 14 ปีก่อน จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ให้สอดคล้องการความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน กรมการขนส่งทางรางจึงได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อพัฒนาต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุม สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต และตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชนอย่างแท้จริง

ว่าที่ ร.อ.ณัฏฐพร กล่าวต่อไปว่า การประชุมสัมมนาและสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) ในครั้งนี้ จะเน้นถึงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ที่เพิ่มเติมจากแผน M-MAP เดิม ซึ่งจะครอบคลุมถึงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าให้มีความครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตามแนวเส้นทางใหม่เพิ่มเติม พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ทางคณะผู้ศึกษาโครงการได้นำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับการประชุมสัมมนาและสนทนากลุ่มย่อยฯ ดังกล่าว มีการนำเสนอหัวข้อการดำเนินโครงการ M-MAP 2 และการวางแผนเพื่อพัฒนาโครงข่าย M-MAP2 โดยมีประเด็นในการวางแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อสร้างสังคมการขนส่งสาธารณะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคใน 5 นโยบายหลัก ได้แก่ เพิ่มความจุรางเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร (Capacity), เพิ่มพื้นที่ครอบคลุมการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตเมืองที่มีอยู่ปัจจุบันและอนาคต (Coverage), เพิ่มการเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพและปริมณฑล (Connectivity), โครงสร้างค่าโดยสารที่สมเหตุสมผลและเป็นระบบ และมีการส่งเสริมให้ผู้เดินทางเข้ามาเดินทางมากขึ้น (Affordable and Equitable) และมีสิ่งอำนวยความสะดวกการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางที่เหมาะสม (Intermodal) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแนวเส้นทางรถไฟฟ้าด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน และมาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุม

โดยในที่ประชุมได้มีการชี้แจงรถไฟฟ้าใน จ.สมุทรสาคร ที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่จะต่อไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 และรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะขยายไปถึงมหาชัย ความคืบหน้าของทั้ง 2 เส้นทางนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีการศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว ผ่านการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว อยู่ระหว่างรอผลักดันเข้า ครม. ซึ่งจะเป็นระบบขนส่งมวลชนหนัก หรือ Heavy Rail เชื่อมต่อจากสายสีน้ำเงินเดิม (สถานีหลักสอง)

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงรูปแบบรายละเอียด รอขออนุมัติ EIA และการศึกษารูปแบบการลงทุน โดยมีประเด็นเรื่องจุดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีความจุค่อนข้างมาก ระหว่าง 60,000-100,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เป็นรถไฟฟ้าชานเมือง หรือ Commuter Rail ความเร็วที่วิ่งได้ 120 กม. ต่อชั่วโมง ที่จะเชื่อมไปถึงรังสิตและลาดกระบัง คาดว่าจะมีการใช้งานเยอะในอนาคต นอกจากนี้จะมีรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่จะเชื่อมต่อระหว่างสายสีแดงและสายสีน้ำเงิน ลักษณะคล้ายวงแหวนขึ้นไปแบบ Ring & Radial เป็นโครงข่ายรถไฟฟ้ากระจายการเดินทางระหว่างพื้นที่กับเส้นทางได้

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ เสนอให้มีตั๋วโดยสารร่วม การคิดภาพรวมค่าโดยสารทั้งหมดตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงปลายทาง เพราะมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้รถไฟฟ้า การจัดการเส้นทางเดินเท้าในระยะ 1 กม. รอบสถานีให้มีความปลอดภัย และเชื่อมระบบขนส่งมวลชนรอง การเปิดให้ภาคเอกชนสนับสนุนเส้นทางเชื่อมระหว่างระบบรถไฟฟ้า โดยเปิดประมูลพื้นที่ค้าขายนำรายได้ไปใช้บำรุงรักษา การจัดพื้นที่อาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ส่งเสริมการใช้ Universal Design เพื่อการเข้าถึงการขนส่งมวลชนของคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ เพื่อความสะดวก สร้างความเท่าเทียมปลอดภัยในการเดินทางอย่างแท้จริง

รวมถึงเสนอให้มีการปรับรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ให้เป็นระบบขนส่งมวลชนรอง หรือ Feeder อัพเกรดเป็นรถไฟฟ้ารางเบา เพราะค่าก่อสร้างถูก ไม่ต้องทำ EIA โดยไม่ต้องไปรวมสายใหญ่ต่อเนื่องไปถึงรังสิต เพราะต้นทุนในการก่อสร้างสูงทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น การเสนอให้เพิ่มระบบรางทางด้านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก การเสนอให้มีรถไฟฟ้า Monorail ไปตาม ถ.เศรษฐกิจ 1 และ ถ.พุทธสาคร เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มหาชัย และสายสีน้ำเงิน เพราะเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม มีผู้เดินทางนับแสนคน แต่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายจากเดิมไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 ให้ไปถึงเขต ต.อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม การสร้างอาคารจอดแล้วจร ให้อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามากที่สุด และเชื่อมต่อจุดจอดรถ สิ่งอำนายความสะดวก ช่วงบริเวณสถานีตลาดพลู เป็นต้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *