ธ.ก.ส. บรรเทาความเดือดร้อนช่วงเลื่อนปลูกข้าวนาปี เบรกลูกค้ากู้ใหม่

1084

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร 26 จังหวัดจากปัญหาภัยแล้ง ให้พนักงานออกเยี่ยมเยียน รับฟังปัญหา พร้อมช่วยหาแนวทางแก้ไขเป็นกรณีไป ส่วนลูกค้าที่ยังไม่ได้เพาะปลูกขอให้ชะลอการกู้เงินออกไปก่อน จนกว่าจะมีน้ำเพียงพอ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 26 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งกรมชลประทานได้มีประกาศขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปก่อนนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ธ.ก.ส.ได้มอบหมายพนักงานสาขาลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเกษตรกรเพื่อให้กำลังใจ สอบถามปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1. กรณีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กรมชลประทานได้ประกาศว่าจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวนประมาณ 2.85 ล้านไร่ ได้ให้พนักงาน ธ.ก.ส.สาขา ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครบถ้วน อย่างไรก็ตามหากผลผลิตเกิดความเสียหายในระยะต่อไป ธนาคารมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือไว้แล้วโดยจะขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้ ดังนั้นเกษตรกรไม่ต้องกังวลในเรื่องภาระหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคารแต่อย่างใด

2.กรณีที่เกษตรกรลูกค้ากู้เงินไปแล้วแต่ยังไม่ได้เพาะปลูก ได้ให้พนักงานชี้แจงการขอความร่วมมือของกรมชลประทานที่ขอให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อนและให้ติดตามสถานการณ์ความพร้อมในการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ จากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกหรือปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณ ปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ไปแล้วจะแนะนำให้ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากไว้ก่อนเมื่อสถานการณ์เหมาะสมจะได้มีเงินทุนพร้อมสำหรับการเพาะปลูกต่อไป

3.กรณีเกษตรกรลูกค้ายังไม่ได้กู้เงินและยังไม่ได้เพาะปลูก ธนาคารขอให้ชะลอการกู้เงินจากธนาคารออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

“จากนี้ไปหากเกิดสถานการณ์ภัยแล้งเป็นระยะยาวนานจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ส่งผลให้เกษตรกรลูกค้าประสบปัญหาการขาดรายได้ และมีผลกระทบต่อการชำระหนี้เดิม ธนาคารจะพิจารณาขยายเวลาการชำระหนี้หรือดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้าตามวิธีปฏิบัติของธนาคาร เป็นกรณีไป นอกจากนี้ กรณีที่ เกษตรกรลูกค้าได้ขอคำแนะนำรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมจากเกษตรอำเภอ เพื่อที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทน หรือต้องการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหากเกษตรกรขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถไปติดต่อขอใช้สินเชื่อจากธนาคารได้” นายลักษณ์ กล่าว

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง