“ซีพีเอฟ” เดินหน้าฟื้นฟูป่าชายเลนสมุทรสาคร เน้นป้องต้นกล้าตั้งเป้า 600 ไร่

1154-1

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แถลงผลการดำเนินงานโครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในจังหวัดสมุทรสาคร พบอัตรารอดของป่าชายเลนที่ปลูกสูงถึง 65% หลังใช้วิธีทำแนวป้องกันคลื่นลม-ขยะทับถมต้นกล้า เผยที่ผ่านมาขาดงบประมาณ แต่ได้ภาคเอกชนช่วย วางแผนปีนี้ปลูกเพิ่มอีก 18 ไร่ จากเป้าหมาย 600 ไร่ในปี 2561

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะกรรมการชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลนบางหญ้าแพรก ต.บางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร แถลงผลการดำเนินงานภายหลังจากที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ภายใต้โครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมประกาศ อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนรวม 600 ไร่ โดยในปีที่ผ่านมาอัตรารอดของป่าชายเลนที่ปลูกสูงถึง 65%

1154-2

นายสมบัติ กาญจนไพหาร หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า การปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่ 2 มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ ซีพีเอฟจะเป็นผู้สนับสนุนทุนและทีมงานเจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงปลูกป่า และภาคประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลสภาพแวดล้อมชายฝั่งและภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งพื้นที่ๆเราร่วมกันฟื้นฟูนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติปากอ่าวมหาชัยฝั่งตะวันตก หากไม่เร่งดำเนินการอนุรักษ์จะส่งผลให้การเกิดพื้นที่ป่าใหม่ตามธรรมชาติเป็นไปได้ยาก

“บริเวณที่เข้ามาฟื้นฟูและปลูกป่าชายเลนเพิ่มเป็นดินเลนที่ลึกและอ่อนตัวมาก ทำการปลูกได้ค่อนข้างยาก จึงร่วมกันคิดค้นวิธีการปลูกป่าชายเลนและทำแนวป้องกันคลื่นลมและป้องกันขยะทะเลที่เข้ามาทับถมต้นกล้า เพื่อปลูกทดแทนแนวป่าเดิมที่ถูกทำลายโดยคลื่นลมกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยในปี 2557 นำร่องปลูก 7 ไร่ หรือประมาณ 5,000 ต้น มีอัตราการรอดของต้นกล้าอยู่ที่ 65% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีอัตราการรอดไม่ถึง 10% ภูมิปัญญาหรือวิธีการปลูกที่ได้มาจากความร่วมมือร่วมใจทั้งสติปัญญาและแรงงานจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก” นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวว่า การดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลนลำพังโดยภาครัฐจะประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านระเบียบงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกป่าในพื้นที่หาดเลนที่มีการกัดเซาะรุนแรง ดังนั้นการที่ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนการปลูกฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว ที่มาเติมเต็มช่องว่างที่จะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศป่าชายเลนและชายฝั่ง

1154-3

นายปรีชา มีนิล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลนซีพีเอฟ จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า โครงการปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน เป็นความร่วมมือกันระหว่างซีพีเอฟ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) องค์กรในท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันริเริ่มและพัฒนาโครงการฯ ผ่านความร่วมมือในเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ที่จะร่วมบรรเทาปัญหาสถานการณ์ป่าชายเลนในปัจจุบัน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2557-2561) ณ พื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ 5 จังหวัด คือ ชุมพร สมุทรสาคร ระยอง สงขลา และพังงา

ในปี 2558 ซีพีเอฟวางแผนปลูกป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพิ่มอีก 18 ไร่ และภายใต้การดำเนินโครงการฯ 5 ปี (ปี 2557-2561) มีเป้าหมายปลูกป่าชายเลนเพิ่มใหม่จำนวน 100 ไร่ และดูแลรักษาป่าเดิมจำนวน 500 ไร่ รวมถึงยังได้มีการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในรูปแบบศูนย์เรียนรู้กลางแจ้งตามธรรมชาติ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

1154-4

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง