แบงก์เปลี่ยนชิปการ์ดคึก BBL เปิดระบบร้านค้ารับบัตร – SCB คุ้มครองถูกชิงทรัพย์

1597-1

หลายธนาคารเปลี่ยนออกบัตรเดบิตชิปการ์ด รับนโยบายแบงก์ชาติ “กรุงเทพ” ออกบัตรยูเนียนเพย์ พร้อมเปิดตัว “ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก” เครือข่ายร้านค้ารับบัตร ลดค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตรเหลือ 0.75% ด้านกสิกรไทยออกบัตร 3 แบบ เน้นส่วนลดความบันเทิงผ่าน 3 แอปพลิเคชั่นดัง “ไทยพาณิชย์” คุ้มครองการถูกชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมถึงวิ่งราวทรัพย์แก่ผู้ถือบัตร

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีนโยบายปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตจากแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ดตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย โดยตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศจะเป็น บัตรแบบชิปการ์ด สำหรับบัตรแบบเดิมที่เป็นแถบแม่เหล็กจำนวนประมาณ 60 ล้านใบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะทยอยเปลี่ยนเป็นบัตรตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สร้างความคึกคักให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในการเปิดตัวบัตรเดบิตทดแทนบัตรเอทีเอ็มมากขึ้น

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับบริษัท ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ TPN และ บริษัท ไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ จำกัด เปิดตัวบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น ยูเนี่ยนเพย์ บัตรใบแรกที่ออกบนเครือข่ายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ (Local Card Scheme) โดยใช้เทคโนโลยีชิพและรหัส 6 หลัก สำหรับยืนยันการชำระค่าสินค้าและบริการ ณ ร้านค้าทั่วประเทศที่มีเครื่องหมาย TPN และร้านค้าในต่างประเทศที่มีเครื่องหมาย UnionPay และการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) แจ้งเตือนการใช้จ่ายตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไปทุกครั้ง พร้อมรับสิทธิประโยชน์ ขณะเดียวกันยังสามารถกดถอนเงินสด โอน จ่าย และทำธุรกรรมการเงินที่เครื่องเอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพและธนาคารอื่นๆ ทั่วประเทศที่รองรับชิปการ์ด รวมถึงธนาคารอื่นทั่วโลกที่รองรับชิปการ์ดและมีเครื่องหมาย UnionPay

“บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น ยูเนี่ยนเพย์ นับเป็นบัตรใบแรกที่สามารถตอบสนองความต้องการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้บัตรเดบิตทุกประเภทต้องใช้มาตรฐานความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานสากลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และใช้เครือข่ายการรับบัตรในประเทศ ทั้งนี้ด้วยความที่ธนาคารกรุงเทพเป็น ผู้นำในการสร้างสรรค์บัตรเดบิตเทคโนโลยีชิพบัตรแรกของประเทศไทย ในชื่อ “บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท” ที่เริ่มให้บริการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 หรือเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา การสร้างสรรค์บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น ยูเนี่ยนเพย์ จึงเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการและความปลอดภัยของการใช้บริการทางการเงินของลูกค้า” ดร.ทวีลาภ กล่าว

– เปิดตัว TPN ระบบร้านค้ารับบัตรของไทย ชูลดค่าธรรมเนียมเหลือ 0.75%

ด้านนายโชค ณ ระนอง ประธานบริษัท ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก เปิดเผยว่า TPN จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านโครงสร้างเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เทียบเท่าระบบสากล ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลในเรื่อง National e-Payment ในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน เพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต ด้วยการที่ TPN เป็น Local Card Scheme ที่จัดตั้งขึ้น รายแรกและรายเดียวของประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้เกิดประโยชน์กับธนาคารและร้านค้าในการกำหนดต้นทุนค่าธรรมเนียมให้ลดต่ำลงเหลือเพียง 0.75% ต่อรายการ ดึงดูดให้ร้านค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ยินดีรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตมีจำนวนขยายตัวในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ทำให้เจ้าของร้านค้าสามารถบริหารจัดการเงินสดได้สะดวกปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการเก็บเงินสดไว้กับตัวหรือภายในร้านค้าเป็นจำนวนมาก

ด้านนายเก๋อ หัวหย่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ เปิดเผยว่า บัตรเดบิตที่เพิ่งเปิดตัวโดยธนาคารกรุงเทพ เป็นทางเลือกในการชำระเงินรูปแบบใหม่ให้กับผู้ถือบัตร ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางธุรกิจของยูเนี่ยนเพย์ ให้แพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง และเป็นส่วนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินรูปแบบของประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ เรายังคงเดินหน้าเพื่อตอบรับนโยบายของไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก เพื่อก้าวไปข้างหน้าและเปิดตัวบัตรเดบิตของยูเนี่ยนเพย์ในการชำระเงินรูปแบบใหม่ในประเทศไทย ในอนาคต ยูเนี่ยนเพย์ยังคงเดินหน้า เพื่อสนับสนุน นโยบาย “One Road, One Belt” ซึ่งเป็นการส่งเสริมโครงสร้างในการพัฒนาธุรกิจในตลาดระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุน แลกเปลี่ยนและการร่วมมือในระดับทวิภาคี

1597-2

– “กสิกรไทย” ชูบัตร K-My Play ส่วนลดความบันเทิง 3 แอปดัง

นางนพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดใหม่ ที่มีความปลอดภัยสูงในการทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็ม การซื้อของผ่านร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ทั่วโลก พร้อมทยอยปรับปรุงเอทีเอ็มทั่วประเทศประมาณ 12,000 เครื่อง ให้รองรับการใช้งานของบัตรเดบิตในรูปแบบชิปการ์ดจากทุกธนาคาร โดยมี 3 รูปแบบ คือ บัตรเดบิต K-Debit Card เป็นบัตรที่สามารถทำธุรกรรมได้ที่เครื่องเอทีเอ็ม ใช้ซื้อสินค้าในร้านค้า และช้อปออนไลน์ได้ทั่วโลก

บัตรเดบิต K-My Play บัตรที่ให้สิทธิประโยชน์ในการดูหนัง ฟังเพลง อ่านนิตยสารผ่านแอปพลิเคชั่น ได้แก่ Primetime, KKBOX และ OOKBEE ฟรี 1 เดือน และรับส่วนลด 15 – 30% ในเดือนถัดไป และบัตรเดบิต K-Max Plus ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 5,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง เงินชดเชยกรณีรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากอุบัติเหตุสูงสุดวันละ 300 บาท และคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุสูงสุด 200,000 บาท และทุกบัตรยังได้รับสิทธิประโยชน์จากกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่องตลอดทั้งปี

1597-6

– เผยยอดผู้ถือบัตรเดบิต KBANK 10 ล้านใบ มูลค่ารูดใช้จ่าย 4.5 หมื่นล้าน

บัตรเดบิตกสิกรไทยแบบชิปการ์ดทั้ง 3 แบบ มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล โดยข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในชิปที่ป้องกันการถูกคัดลอกข้อมูลหรือสกิมมิ่ง พร้อมเพิ่มรหัสพินจาก 4 หลัก เป็น 6 หลัก และใช้งานได้สะดวกทุกช่องทาง สำหรับลูกค้าที่สนใจเปลี่ยนบัตรเดบิตจากแบบแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด สามารถติดต่อที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาทั่วประเทศได้ตั้งแต่วันนี้ โดยจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า และเสียเฉพาะค่าธรรมเนียมรายปีตามประเภทของบัตร

นางนพวรรณ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าผู้ถือบัตรเอทีเอ็มและเดบิตของธนาคารกสิกรไทยกว่า 10 ล้านบัตร คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 17% จากผู้ถือบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตในไทยทั้งหมด 60 ล้านบัตร มีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตกสิกรไทยประมาณ 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ถือเป็นอันดับที่ 1 ในตลาดที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตอยู่ที่ 108,000 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารคาดว่าจะมีลูกค้าเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปการ์ดในปีนี้ประมาณ 2 ล้านบัตร อย่างไรก็ตามลูกค้าที่ถือบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็ก ก็ยังคงใช้บัตรเดิมได้ตามปกติจนกว่าบัตรจะหมดอายุ

1597-3

– “ไทยพาณิชย์” คุ้มครองผู้ถือบัตรถูกชิงทรัพย์-ปล้นทรัพย์

ด้าน น.ส.พรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เปิดตัว “บัตรเดบิต เอส สมาร์ท” บัตรเดบิตชิปการ์ดใบแรกที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินและเงินในกระเป๋าสูงสุด 5,000 บาท เมื่อถูกชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ รวมถึงวิ่งราวทรัพย์ และคุ้มครองความปลอดภัยของบัญชีด้วยระบบชิปการ์ด โดยสามารถป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยธนาคารจะเริ่มดำเนินการแนะนำให้ลูกค้าทยอยเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ตั้งแต่ 15พฤษภาคม เป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันธนาคารฯ มีฐานบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตรวมกว่า 10 ล้านใบ โดยตามกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ประชาชนจะต้องทำการเปลี่ยนบัตรเป็นระบบชิปการ์ดทั้งหมดภายใน 31 ธันวาคม 2562 ในส่วนของการเปลี่ยนระบบตู้เอทีเอ็มนั้น ธนาคารฯ ได้เตรียมความพร้อมของตู้ ATM และ CDM กว่า 10,000 ตู้ เพื่อรองรับการใช้งานบัตรชิปการ์ดทั้งระบบ ทั้งบัตรชิปการ์ดของธนาคารและบัตรชิปการ์ดของธนาคารอื่นครบทั่วประเทศ

1597-5

บัตร เดบิต เอส สมาร์ท สามารถป้องกันการคัดลอกข้อมูล Skimming และป้องกันการปลอมแปลงบัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ผู้ถือบัตรทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ หรือของธนาคารอื่นที่รองรับบัตร EMV Chip ทั่วโลก และเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ถือบัตร โดยการเปลี่ยนจากรหัส 4 หลัก เป็น 6 หลัก นอกจากนั้นยังเพิ่มความสะดวกสบายในการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรมได้เอง โดยสามารถกำหนดวงเงินแยกกันทั้งการถอน และการชำระเงินในการซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตที่เครื่อง EDC ตลอดจน E-Commerce

ทั้งนี้ มีให้บริการ 4 รูปแบบ คือ บัตรเดบิต เอส สมาร์ท, บัตรเดบิต เอส สมาร์ท พลัส มาพร้อมแผนประกันภัยอุบัติเหตุ ประกอบด้วย บัตรเดบิต เอส สมาร์ท พลัส เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่ต้องสำรองจ่าย, บัตรเดบิต เอส สมาร์ท เอ็กซ์ตร้าพลัส ทั้งเจ็บ ทั้งป่วย มีเงินชดเชย และ บัตรเดบิต เอส สมาร์ท ซูเปอร์ พลัส เจ็บก็จ่ายรายได้ไม่หด พร้อมกับโปรโมชั่น ซื้อตั๋วหนังที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพียง 99 บาท ซื้อเบอร์เกอร์ที่แมคโดนัลด์เพียง 49 บาท อ่านหนังสือผ่านแอฟเคชั่น “อ่านเพลิน” เพียง 59 บาท และโปรโมชั่นอื่นๆ อีกมากมาย

1597-4

– “ธนชาต-กรุงศรี” พร้อมให้บริการบัตรฝังชิปลูกค้า

นายอนุรักษ์ ตันติพิพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารธนชาตมีความพร้อมในการให้บริการบัตรเดบิตฝังชิป EMV (EMV Chip) ซึ่งปัจจุบันตู้ ATM ของธนาคารมีความพร้อมเกือบหมดแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ธนาคารจะให้บริการบัตรกดเงินเป็นบัตรเดบิตแบบฝังชิปให้กับลูกค้า เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่รณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้เงินสด หันมาใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตแทน

“การใช้บัตรเดบิต ในเรื่องของค่าธรรมเนียม หากเป็นบัตรเดบิตประเภท CASH BACK ก็ไม่ต่างจากบัตร ATM โดยลูกค้ายังสามารถเลือกสมัครบัตรเดบิตประเภทอื่นๆ ที่ต้องการได้ตามสิทธิประโยชน์ของแต่ละบัตรซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ธนชาตยังมีบริการให้ลูกค้ากำหนดและปรับเปลี่ยนวงเงินรูดซื้อสินค้าและบริการได้ตามต้องการ ตั้งแต่ 0 – 300,000 บาท โดยหากลูกค้าต้องการใช้เป็นแค่บัตร ATM ก็สามารถปรับวงเงินให้เป็น 0 บาทได้ ส่วนลูกค้าปัจจุบันที่ถือบัตร ATM อยู่ก็ยังใช้บัตรต่อไปได้ตามปกติ” นายอนุรักษ์กล่าว

นายอนุรักษ์ กล่าวเสริมด้วยว่า บัตรเดบิตธนชาต เป็นบัตรที่ให้สิทธิประโยชน์สูง เพราะนอกจากจะใช้ทำธุรกรรมที่ตู้ ATM และรูดซื้อสินค้าและบริการที่ร้านค้ารับบัตรที่มีสัญลักษณ์ Master Card ได้อย่างปลอดภัยด้วย EMV Chip แล้ว ยังคุ้มค่าด้วยสิทธิประโยชน์รับเงินคืน 0.75% จากทุกๆ ยอดการรูดซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตร นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโปรโมชั่นพิเศษในช่วงนี้ คือ สามารถใช้บัตรเดบิตธนชาต รูดซื้อตั๋วหนัง 1 แถม 1 ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทุกสาขา วันนี้ ถึง 30 มิ.ย. 2559

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศว่า พร้อมให้บริการออกบัตรกรุงศรี เดบิต ชิปการ์ด ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป โดยลูกค้าของธนาคารสามารถใช้งานบัตรได้ โดยลูกค้าที่ถือบัตร กรุงศรี วีซ่า เดบิต ชิปการ์ด ตู้เอทีเอ็มกรุงศรี สามารถใช้งานได้ทุกตู้ ส่วนตู้เอทีเอ็มธนาคารอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถใช้งานได้เฉพาะตู้ที่รองรับชิปการ์ด ส่วนลูกค้าที่ถือบัตรกรุงศรีเอทีเอ็ม บัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็ก สามารถใช้งานบัตรที่ ตู้กรุงศรี เอทีเอ็ม และตู้เอทีเอ็มอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ตามปกติจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ



แสดงความคิดเห็น


เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็น
• กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ดูหมิ่น กล่าวหาให้ร้าย สร้างความแตกแยก หรือกระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ
• การลบความคิดเห็น ที่ไม่เหมาะสม สามารถกระทำได้ทันที โดยไม่ต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
• ทุกความคิดเห็นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการเว็บไซต์ และไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางกฎหมายได้

เรื่องก่อนหน้า-ย้อนหลัง