“กรมประชาสัมพันธ์” ระดมความเห็นทุกภาคส่วน 16 จว. ร่างคู่มือฯ ปฏิบัติงานสื่อในภาวะวิกฤต

กรมประชาสัมพันธ์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต ครั้งที่ 4 โครงการถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน : จริยธรรมของสื่อ ที่ จ.กาญจนบุรี มีสื่อมวลชน ภาครัฐ – เอกชน – จิตอาสา 16 จังหวัดเข้าร่วม

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 ส.ค. ที่โรงแรมพีลูส ต.ปากแพรก อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต ครั้งที่ 4 โครงการถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน : จริยธรรมของสื่อ โดยมีนายอนุสรณ์ ปานะศุทธะ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 เป็นประธานเปิดการประชุม นางบุญรัตน์ กองทอง ผู้อำนวยการส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 กล่าวรายงาน มีสื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสาหรือกู้ภัย ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก 16 จังหวัด เข้าร่วมการประชุม

จากกรณีเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ และผู้ช่วยผู้ฝึกสอน รวม 13 คน ได้เข้าไปในบริเวณถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย และขาดการติดต่อตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. – 18 ก.ค. 2561 เป็นที่สนใจไปทั่วโลก มีทั้งสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ 1,318 คน เข้ามารายงานข่าว มีทั้งผลสำเร็จ และปัญหาอุปสรรค ด้านการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤต และสื่อสารมวลชน อันเป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่ง

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการรายงานข่าว รวมทั้งสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนในภาวะวิกฤติ จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ ด้านแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของนักสื่อสารมวลชน

ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กรมประชาสัมพันธ์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต โดยมีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธาน ได้ดำเนินการยกร่างแนวทางการปฏิบัติของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต จัด Focus Group กลุ่มหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มบรรณาธิการ และกลุ่มผู้สื่อข่าว จัดทำเป็นร่างคู่มือ แนวทางการปฏิบัติของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต โดยกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นร่างคู่มือฯ จำนวน 6 ครั้ง ณ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา กาญจนบุรี ขอนแก่น และพิษณุโลก

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนสื่อมวลชน และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จำนวน 110 คน ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก 16 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  ราชบุรี  เพชรบุรี  ประจวบคีรีขันธ์ อ่างทอง  สิงห์บุรี  สมุทรสาคร  นนทบุรี  ชัยนาท  ปทุมธานี  ลพบุรี  อยุธยา  สมุทรสงคราม สระบุรี และนครปฐม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในภาวะวิกฤตและสื่อมวลชนในทุกภูมิภาคของประเทศได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤตให้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *