เสวนา 116 ปี “รถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย”

สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จัดนิทรรศการและการเสวนา “งาน 4 มกราคม 2447 วันเริ่มเดินรถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย” ครบรอบ 116 ปี

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟมหาชัย ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จัดงาน “4 มกราคม 2447 วันเริ่มเดินรถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย” โดยมีผู้แทนส่วนราชการ นักเรียน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน

โดยภายในงาน มีการจัดนิทรรศการและแสดงภาพถ่าย รวมทั้งการเสวนาถึงประวัติความเป็นมาของรถไฟสายดังกล่าวจากวิทยากร ประกอบด้วย นายจารุ กาญจนพันธ์ พนักงานรถจักร 6 การรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าที่ ร.ต.อัครวัฒน์ กมลมงคล นายสถานีผู้แทนฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย นายรักเกียรติ เลิศอุตสาหกูล ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑ์เจษฎาเทคนิค มิวเซียม และนายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม รองประธานกรรมการ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

นายสุวันชัย กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อให้ชาวชุมชนมหาชัยได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และเห็นคุณค่าของสถานีรถไฟมหาชัย ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 116 ปี เพื่อที่ชุมชนจะได้ช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาสถานีแห่งนี้ ให้ผู้มาเยือนจังหวัดสมุทรสาครได้รู้สึกประทับใจ ถึงความเก่าแก่และสวยงามของสถานี

สำหรับประวัติความเป็นมาของรถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย เดิมมีสถานีต้นทางที่คลองสาน เป็นรถไฟสายลำดับที่ 5 ของไทย ในปี 2544 บริษัทรถไฟท่าจีนทุนจำกัด ได้รับสัมปทาน 40 ปี ในการเดินรถไฟสายท่าจีน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สายมหาชัย จากปากคลองสาน กรุงเทพฯ ถึงมหาชัย จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 33.13 กม. ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

ก่อนจะเปิดเดินรถไฟสายนี้ รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางรถไฟสายนี้ก่อนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2447 จากนั้นในวันที่ 4 มกราคม 2447 รัชกาลที่ 6 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จแทนพระองค์ไปเปิดการเดินรถไฟสายนี้ ต่อมาในวันที่ 18 มี.ค. 2448 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประทับรถไฟสายนี้อีกครั้งเพื่อเสด็จไปเปิดถนนถวายที่ท่าฉลอม

การดำเนินงานรถไฟสายท่าจีนประสบความสำเร็จด้วยดี จึงได้เพิ่มรถไฟอีกสายหนึ่ง จากบ้านแหลม ท่าฉลอม ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำท่าจีนตรงข้ามกับฝั่งมหาชัย ไปยังแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม บริษัทรถไฟแม่กลองทุนจำกัด จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นและได้รับสัมปทาน 40 ปีในการเดินรถไฟจากบ้านแหลมถึงแม่กลอง เมื่อปี 2448 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ระยะทาง 33.75 กม. ต่อมาบริษัทรถไฟท่าจีนทุนจำกัดได้ควบรวมเข้ากับบริษัทรถไฟแม่กลองทุนจำกัด และได้เริ่มเดินรถไฟสายบ้านแหลม – แม่กลอง เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2450 โดยได้เดินรถไฟจนสิ้นสัมปทานแล้วจึงขายกิจการให้กับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2489

รถไฟสองสายย่อยนี้รวมเรียกว่า “รถไฟสายแม่กลอง” ซึ่งเป็นรถไฟสายเดียวของไทยที่โดดเดี่ยวไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายใดเลย แต่โดดเด่นแตกต่างรถไฟสายอื่น ๆ ตรงที่ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนเพื่อต่อระหว่างสถานีมหาชัยและสถานีบ้านแหลม ต่อมาในวันที่ 1 ม.ค. 2504 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกสถานีคลองสาน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งซึ่งอันตรายเกินไปบนถนนเจริญรัถ ที่สร้างอยู่ข้างทางรถไฟระหว่างสถานีคลองสานและสถานีวงเวียนใหญ่ และได้เปลี่ยนไปเริ่มต้นสายที่วงเวียนใหญ่ ระยะทางจึงลดลงเหลือ 31.22 กม.

ปัจจุบันรถไฟสายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย ให้บริการแก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ และชาวสมุทรสาครมาเป็นเวลาถึง 116 ปี ซึ่งในอนาคตรถไฟสายนี้มีแผนที่จะก่อสร้าง “ป้ายหยุดรถวุฒากาศ” เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม และโครงการการออกแบบก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *