พลิกโควิดเป็นโอกาส! “จุรินทร์” งัด 4 มาตรการ ดันสินค้าส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง-แปรรูป

รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ตั้งโต๊ะหารือผู้ผลิต-เกษตรกรกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง-แปรรูป เผยยอดส่งออกไตรมาส 1 ติดลบเดินหน้าจัดทำแผนร่วมกัน 4 มาตรการ “ลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์-เจรจา FTA-หาตลาดเพิ่ม-อาหารปลอดโควิด-19” คาดไตรมาส 3-4 เพิ่มตัวเลขเป็นบวกได้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 เม.ย. ที่บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการประชุมหารือผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป โดยมี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน), 

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย, นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมถึง รองอธิบดีกรมประมง, กรมปศุสัตว์, สมาคมบรรจุภัณฑ์โลหะไทย, สมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย, สมาคมกุ้งภาคตะวันออก, ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร, หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ

นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญในการหารือในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “พลิกโควิดเป็นโอกาส” ที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดว่าจะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้หลักคิด “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ในการเดินทางมาครั้งนี้ ต้องการมารับทราบปัญหาของการผลิต การแปรรูป และการตลาด ของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งของไทย และขอทราบความเห็นของภาคเอกชน และภาคราชการที่จะกำหนดแนวทางร่วมกันสำหรับการจับมือกันเดินหน้าต่อไปในอนาคต เพื่อให้การส่งออกของไทยมีตัวเลขที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นำรายได้เข้าประเทศ และส่งผลไปถึงเกษตรกรในที่สุด

โดยภาพรวมของอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทย มูลค่าการตลาดทั้งหมดของปีที่แล้ว (2562) ประมาณ 172,235 ล้านบาท ผลผลิตทั้งหมด 1,188,523 ตัน บริโภคในประเทศ ร้อยละ 22 ส่งออก ร้อยละ 78 โดยประมาณการส่งออกปีที่แล้วทั้งหมด 173,961.78 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.28 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด สำหรับไตรมาสที่ 1 ยอดส่งออกทั้งหมด 37,910 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 9.77 

จากการหารือร่วมกันกับภาคเอกชนในครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงศักยภาพการส่งออกของไทยไม่ดี แต่เกิดจากการล็อคดาวน์ของประเทศคู่ค้าหลายประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อตัวเลขดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้หารือร่วมกันทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนว่าโอกาสที่จะพลิกฟื้นตัวเลขกลับมาเป็นบวกก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะร่วมกันในการทำตัวเลขที่ดีขึ้น คาดว่าในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะเพิ่มตัวเลขกลับมาเป็นบวกได้

สำหรับตลาดหลักในการส่งออก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 21.4, ญี่ปุ่น ร้อยละ 20.7, จีน ร้อยละ 6.3 และออสเตรเลีย ร้อยละ 5.4 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ ปลาทูน่ากระป๋องหรือปลาซาร์ดีนกระป๋อง, อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากทูน่า, กุ้ง, ปลาหมึก และปลา ที่สำคัญคือทูน่ากระป๋องซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นลำดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 28.5 มูลค่าการส่งออกปีที่แล้ว 67,673.3 ล้านบาท สำหรับปีนี้สามารถทำยอดออกมาเป็นบวกได้ร้อยละ 3 ส่วนไตรมาสที่ 2 ภาคเอกชนประเมินว่าจะสามารถทำตัวเลขเป็นบวกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยตลาดหลักมีสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้มีการจัดทำแผนที่จะเดินหน้าร่วมกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และภาคเอกชน กำหนดเป้าหมายว่าในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ จะพยายามช่วยกันให้ตัวเลขการส่งออกเป็นบวก โดยมีการดำเนินการร่วมกันใน 4 มาตรการ 

มาตรการแรก คือ การลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะกระป๋อง ส่วนใหญ่ต้องรับซื้อจากในประเทศซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาผู้ผลิตเหล็ก ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ผู้แปรรูปและผู้ส่งออกในเรื่องอาหารทะเล เพื่อหาทางร่วมกันในการที่จะลดต้นทุน

มาตรการที่สอง คือ กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร และอาจจะเดินหน้าทำ FTA กับแอฟริกาและกลุ่มประเทศยูเรเซีย รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการลงนามในข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ในปีนี้

มาตรการที่สาม กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนในการเดินหน้าหาส่วนแบ่งเพิ่มเติม ประกอบด้วย 4 ตลาด คือ จีน, รัสเซีย, แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ ก็จะไปทำแผนงานที่เป็นรูปธรรมออกมา

และมาตรการที่สี่ ภาครัฐกับเอกชนจะร่วมมือกันในการช่วยทำประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยของอาหารในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อให้คนทั้งโลกมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยที่ส่งออกไปนั้นปลอดจากโควิด-19 

โดยจะร่วมทำ MOU ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ในการให้หนังสือรับรอง “COVID-19 Free Certificate” ว่าผลิตภัณฑ์จากโรงงานได้ปลอดจากเชื้อโควิด-19 ได้ 100% เพื่อที่จะใช้เป็นเอกสารหนึ่งในการโฆษณาอาหารไทยกับตลาดโลกต่อไป เพื่อทำตัวเลขในไตรมาสที่ 3 และ 4 ให้ดีขึ้นสำหรับหมวดอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง

ทางด้าน ดร.พจน์ กล่าวว่า ในส่วนแรกบ้านเรามีการทำตลาดอาหารทะเลสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง กับกลุ่มรีเทลเลอร์หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเยอะมาก แต่ทำตลาดกับฟู้ดเซอร์วิสน้อย ตอนนี้ผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มการบริการอาหาร เช่น ภัตตาคาร โรงแรม ธุรกิจการบิน งานเลี้ยง ฯลฯ มีปัญหาหมด แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขายดีมากเพราะคนซื้อของกลับบ้านไปรับประทาน จึงเป็นโอกาสทางการตลาด ส่วนอาหารแช่แข็ง ไม่มีปัญหามีลูกค้าสั่งซื้อเยอะ 

ในส่วนที่สอง คือวัตถุดิบทูน่าค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพในแง่ของจำนวนกับราคาดีพอควร กุ้งที่มีปัญหาอยู่ในแง่จำนวน ที่ผ่านมาทางรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ทำงานอย่างเคร่งเครียดโดยกรมประมง กับผู้เลี้ยง และสมาคมต่าง ๆ มา 1-2 เดือนแล้ว ในการหามาตรการช่วยเหลือทั้งห่วงโซ่ ให้มีขีดความสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ 

ดร.ชนินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาคลี่คลายดีมาก คิดว่าอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาทูน่า มีวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนตลาดต่างประเทศ มั่นใจว่าปีนี้ทั้งปี ตัวเลขจะโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

One Reply to “พลิกโควิดเป็นโอกาส! “จุรินทร์” งัด 4 มาตรการ ดันสินค้าส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง-แปรรูป”

  1. ดีใจมากที่อยู่ในองค์กรนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *