ส.ประมงนอกน่านน้ำไทย วอนรัฐแก้ กม.โทษปรับสูง – ปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือธุรกิจ

นายก ส.ประมงนอกน่านน้ำไทย วอนรัฐบาลให้ความสำคัญประมงนอกน่านน้ำ กระตุ้น ศก. ช่วงโควิด-19 พร้อมแก้ กม. อัตราโทษสูง สนับสนุนเงินกู้ ด้านผู้แทนกรมประมง เผยขณะนี้มีเรือประมงนอกน่านน้ำ 3 ลำ ออกหาปลาพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ก.ค. สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 บริษัท อนุสรณ์มหาชัยซูริมิ จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมีนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ เป็นประธานเปิดการประชุม ในโอกาสดังกล่าวนี้ ได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “โอกาสความเป็นไปได้ในการทำประมงนอกน่านน้ำ (อินโดนีเซีย ซูดาน โมซัมบิก) และกรมประมงจะส่งเสริมและสนับสนุนการทำประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างไร” โดย ดร.สุทธินี ลิมธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำ และการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง


สุทธินี ลิมธรรมมหิศร

ดร.สุทธินี เปิดเผยสถานการณ์ภาพรวมของประมงนอกน่านน้ำไทย ว่า ก่อนปี 2558 มีกองเรือประมงนอกน่านน้ำออกไปทำการประมงที่รัฐชายฝั่งซึ่งอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกีนี เมียนมา เป็นต้น จำนวนกว่า 800 ลำ หลังจากนั้นเมื่อมีปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUUs แต่ละประเทศก็จะมีกติกามากขึ้น บางประเทศยุติให้เรือต่างชาติทำการประมง กองเรือไทยก็ถูกเรียกกลับและปรับมาตรการใหม่ทั้งหมดในเรื่องของการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถควบคุมกองเรือให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น

จนมาถึงเมื่อประมาณปี 2562 ก็มีกองเรือออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำเริ่มต้นที่ 2 ลำ คือเรือโชคเพิ่มสิน 1 และเรือมณีเงิน 5 ซึ่งออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ หรือ SIOFA โดยใช้อวนลาก ขณะนี้ออกไปทำการประมงในเขตดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ต่อมามีเรืออีกลำที่ได้รับอนุญาตเพิ่มเติม คือ เรือทรัพย์ดาวประมง 5 ทำให้ปัจจุบันมีกองเรือที่ได้รับอนุญาตออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่ SIOFA จำนวน 3 ลำ และยังมีกองเรืออีก 3 ลำอยู่ระหว่างการพิจารณา

ซึ่งในเรื่องของกองเรือประมงนอกน่านน้ำ ทางกรมประมงมั่นใจผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกติกาต่าง ๆ เนื่องจากระบบการควบคุมของกรมประมงสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ตอนนี้กรมประมงสามารถที่จะติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังกองเรือนอกน่านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ กองเรือสามารถออกไปทำการประมงได้ทุกสถานที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากพื้นที่ขององค์กรบริหารประมงระดับภูมิภาคแล้ว ก็จะมีรัฐชายฝั่งหลายประเทศที่มีศักยภาพและเปิดให้มีการทำการประมงนอกน่านน้ำ แต่ขึ้นอยู่กับกฎกติกาของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งกรมประมงพยายามหาความร่วมมือโดยการไปเจรจา ทำเอ็มโอยู แต่ตอนนี้ยังไม่มีรัฐชายฝั่งใดที่กรมประมงอนุญาตให้กองเรือทำการประมง ทุกประเทศอยู่ในระหว่างการเจรจาทั้งหมด โดยแต่ละรัฐชายฝั่งก็มีความกังวลในเรื่องของกติกา หรือปัญหา IUUs

ส่วนเรื่องสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการประมงนอกน่านน้ำหรือไม่ ดร.สุทธินี ชี้แจงว่า เนื่องจากกองเรือของไทยไม่ได้ขึ้นมาบนแผ่นดิน แค่ออกจากท่าเทียบเรือที่ จ.ตรัง แล้วไปสถานที่จับปลาในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ เรียกว่าเขต Saya de Malha Bank ทำการประมง 3 เดือนเสร็จก็กลับมาที่ท่าเทียบเรือ ดังนั้นเมื่อมีการตรวจโรคของลูกเรือแล้วกลับมาก็ไม่มีปัญหาเรื่องโรคโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่มีการกักตัว 14 วัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องผ่านการตรวจโรคตามหลักเกณฑ์ของแต่ละท่าเทียบเรือที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่จะมีปัญหาเรื่องของสัตว์น้ำ ที่จับมาในรอบที่ผ่านมาของทั้งกองเรือโชคเพิ่มสิน 1 และเรือมณีเงิน 5 เนื่องจากประเทศไทยมีการล็อกดาวน์ การขายสัตว์น้ำก็จะยากขึ้น ทำให้ต้องนำมาเก็บไว้ในห้องเย็น


อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์

ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า สำหรับสภาพปัญหาของผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทยในปัจจุบัน คือกฎหมายและระเบียบที่นำไปปฏิบัติค่อนข้างลำบาก ซึ่งต้องมีการแก้ไข และเรื่องของบทลงโทษที่มีค่าปรับสูงมากจนทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจนี้ไม่เป็นที่สนใจ และไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะไปทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ แล้วต้องมาเจออัตราโทษปรับสูง ก็จะทำให้ลำบากต่อนักลงทุน อีกทั้งโทษของเรือลำหนึ่ง ก็อาจจะไปกระทบกับเรือลำอื่นที่มีเจ้าของคนเดียวกันด้วย

อีกข้อหนึ่ง คือเรื่องของเงินทุน ที่ตนทราบมาหลายปีแล้วที่เรือประมงนอกน่านน้ำจอดอยู่นาน ค่าใช้จ่ายก็เกิดขึ้นตลอด ทำให้เงินทุนของเจ้าของเรือลดถอยไปเยอะ โอกาสที่จะกลับมาทำใหม่ก็ต้องคิดหนัก และยังขาดเงินทุนในการลงทุนออกเรือ ก็มีการแจ้งทางกรมประมงไปว่าให้สนับสนุนในเรื่องของเงินทุน สินเชื่อ เท่าที่ตนทราบตอนนี้ยังมีการดำเนินการอยู่ แต่ก็ยังขอไม่ได้


เรือมณีเงิน 5

ส่วนเรื่องที่ภาครัฐคาดการณ์กันว่าประมาณปี 2563 – 2564 จะมีเรือประมงนอกน่านน้ำออกทำการประมงได้ประมาณกว่า 20 ลำนั้น นายอภิสิทธิ์เผยว่า ถ้าหาก 10 ลำอาจเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของเรือที่ออกทำการประมงในตอนแรก หากผลประกอบการดี เจ้าของเรือก็จะนำเรือที่จอดอยู่ออกมาทำการประมงได้ง่าย แต่ถ้าผลประกอบการของเรือลำแรกไม่ดี เรือลำต่อ ๆ ไปก็กลัว ดังนั้นตอนนี้ก็มีเรือ 3 ลำที่ออกทำการประมงนอกน่านน้ำอยู่เป็นตัวอย่าง ถ้าผลประกอบการดี เรือลำอื่น ๆ ก็จะตามมา ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของเรือและกรมประมงต้องร่วมมือกันผลักดัน

เพราะวันนี้จากเรือประมงนอกน่านน้ำที่เคยมีอยู่ประมาณเกือบ 1,000 ลำทั่วประเทศ เหลือไม่ถึงหลักสิบแล้ว อันนี้ตนค่อนข้างเสียดาย แล้วยิ่งมีช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยพึ่งพา เช่น ท่องเที่ยวและยานยนต์ก็ตกต่ำ ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหาร แต่ถ้าไม่มีวัตถุดิบป้อนเข้ามา ตรงนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งตนก็หวังว่าทางภาครัฐจะให้ความสำคัญกับเรื่องประมงนอกน่านน้ำ เพราะจะเป็นอาชีพหนึ่งที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างดี

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง  

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *