วัดท่าไม้ จับมือ มรภ.บ้านสมเด็จฯ ปลูกกัญชง-กัญชาทางการแพทย์

เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ มอบที่ดินให้วิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล และ มรภ.บ้านสมเด็จฯ ปลูกวิจัยกัญชาทางการแพทย์

วันนี้ (24 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ร้าน Refresh สดชื่น วัดท่าไม้ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการปลูกกัญชาและกัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล และบริษัท รมาญา ลาบอราทอรี่ จำกัด ซึ่งพระญาณวิกรม หรือพระอาจารย์อุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ มอบพื้นที่ให้เป็นสถานที่ในการปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยทางการแพทย์

โดยมี ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา และน.ส.จิตนิฏฐา วิยาภรณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล และประธานกรรมการ บริษัท รมาญา ลาบอราทอรี่ จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว พร้อมด้วย รศ.ดร.บุญมี กวินเสกสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ผศ.ดร.ปิลันธนา เลิศสถิตธนกร หัวหน้าศูนย์วิจัยกัญชา กัญชง และกระท่อมเพื่อการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, นายจิรัฏฐ์ บูรพาพัฒนะกูล และนางญาศิกาญจน์ ทรัพย์ธำรงค์ ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล

พระญาณวิกรม เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ เผยว่า ทางวัดได้เล็งเห็นประโยชน์ของแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก และสรรพคุณของกัญชง กัญชา รวมทั้งทางวัดท่าไม้ โดยมูลนิธิสิริสาโรภิกขุ ได้ส่งศิษยานุศิษย์ไปศึกษาทางด้านแพทย์แผนไทยหลายคน ที่พร้อมจะดูแลเพื่อต่อยอดสู่การสร้างโรงพยาบาลแพทย์ทางเลือก หรือคลินิกกัญชาขึ้น ดังนั้นจึงได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงกับทาง มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อจะให้ที่นี่เป็นศูนย์การศึกษาในระดับปริญญาโท

ที่ผ่านมานั้นทางวัดได้สนับสนุนให้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยตอนนี้การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผ่านแล้วตามขั้นตอน จึงได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิสาหกิจชุมชนเวชชานุกูล และบริษัท รมาญา ลาบอราทอรี่ จำกัด ที่จะดำเนินการในขั้นต่อไป

ส่วนพื้นที่ในการปลูกจะใช้พื้นที่ว่าง 2 จุด จุดที่ 1 มี 6 ไร่ จุดที่ 2 มี 10 ไร่ เพื่อใช้เป็นแปลงปลูก โดยต้นพันธุ์นั้นจะนำมาจากฟาร์มปลูกจาก จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นการปลูกที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะลงมือปลูกในช่วงเดือน เม.ย. โดยให้ชาวบ้านสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นผู้ดูแล และควบคุมการปลูกโดยนักวิชาการเกษตรที่ชำนาญ เพราะต้องปลูกแบบปลอดภัยภายใต้กรอบของกฎหมาย และชาวบ้านจะมีรายได้จากการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนด้วย

พระญาณวิกรม กล่าวอีกว่า กัญชง กัญชา ที่ปลูกจะใช้เพื่อศึกษา วิจัย ของนักศึกษาปริญญาโทที่จะเปิดศูนย์การเรียนที่นี่ อีกส่วนหนึ่งจะถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก และเวชสำอาง เช่น ลิปกลอส น้ำมันนวด สเปรย์ฉีดในอากาศที่ช่วยในการนอนหลับ สบู่ โลชั่น หรือนำมาผสมในอาหารบางชนิด ส่วนการทำยาที่ใช้ภายในไม่สามารถทำได้ โดยสิ่งที่ทำมานี้จะรองรับด้วยคลินิกกัญชา ที่จะให้ชาวบ้านเข้ามารับการรักษา รับบริการได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นแพทย์ทางเลือกในการบำบัดรักษาโรคบางชนิดภายใต้การวิจัยทางการแพทย์

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *