“ผู้ว่าฯวีระศักดิ์” เวิร์คฟอร์มโฮม สั่งสำรวจพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำฯ ช่วยภัยน้ำเค็ม

ผู้ว่าฯสมุทรสาคร เริ่มงานครั้งแรกหลังออกจาก รพ.ศิริราช สั่งการจากที่บ้าน สำรวจพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลจาก ปภ. ช่วยภัยน้ำเค็ม

จากปัญหาน้ำเค็มรุกหนักในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่ ต.บางยาง กับ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่เกิดความเสียหายเพราะขาดน้ำจืดใช้ในสวน และปีนี้บอกกันว่าเค็มที่สุดในรอบ 10 ปี  ซึ่งทางนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าวนี้ จึงได้สั่งการในรูปแบบเวิร์คฟอร์มโฮม ประเดิมงานแรกหลังจากที่ออกมาจาก รพ.ศิริราช ด้วยการขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 64  นายรังสรรค์ กาพิยะ นายช่างเครื่องกลอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต1, นายประยงค์ บุญมีรอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ  สนง.ปภ.จ.สมุทรสาคร, นายจตุนันท์ จอมทัน ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอกระทุ่มแบน, นายวิษณุ สำรวยรื่น กำนัน ต.บางยาง, นางสาวณัฐนรี ช้วนรักธรรม วิศวกรชลประทานปฎิบัติการ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 และเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมหารือและลงพื้นที่สำรวจดูจุดที่เหมาะสมต่อการตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล

โดยจุดแรกคือที่คลองหนองนกไข่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ต.หนองนกไข่ คลองนี้เป็นคลองหลักที่ยังมีน้ำจืดใช้ได้ หากนำเครื่องสูบน้ำระยะไกลมาตั้งที่คลองนี้ จากนั้นจะลากสายข้ามแม่น้ำท่าจีนเพื่อไปลงคลองที่ใกล้ที่สุดที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดยมีระยะห่างจากจุดตั้งเครื่องประมาณ 2.5 กม. แต่อุปสรรคนั้นคือการวางแนวท่อที่จะต้องผ่านชุมชน และส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตที่ฝั่งท่อลงไปไม่ได้ ซึ่งก็ต้องหาวิธีวางเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน สำหรับเครื่องสูบน้ำระยะไกลจะมีระยะไกลสุดคือ 3 กิโลเมตร ที่จะสูบน้ำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ผ่านท่อ ขนาด 6 นิ้ว

ขณะที่นายวิษณุ สำรวยรื่น กำนันตำบลบางยาง เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้รายใหญ่ในพื้นที่ตำบลบางยางก็บอกว่า หากได้เครื่องสูบน้ำมาช่วยก็น่าจะช่วยทุเลาปัญหาได้เพราะจะได้เข้ามาเสริมรถส่งน้ำที่ทางกรมชลประทาน และ อบจ.สมุทรสาครดำเนินการอยู่ทุกวัน มีอยู่ราว 10 คัน ที่วิ่งส่งน้ำกันตามสวน  แต่การวางแนวท่อก็อาจมีอุปสรรค เพราะการนำน้ำจืดจากอีกฝั่งข้ามมาอีกฝั่งมีระยะทางที่ยาวและผ่านบ้านเรือน ซึ่งก็ต้องมาร่วมกันหาทางออกที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านต่อไป 

ส่วนอีกหนึ่งจุดคือในตำบลสวนส้ม ที่ประสบปัญหาน้ำเค็มทะลักเช่นเดียวกัน ซึ่งนายอานนท์ ลิขิตวัฒนกิจ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอบ้านแพ้ว นายประยงค์ นอบน้อม นายก อบต.สวนส้ม และเกษตรกรในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูลว่า สำหรับ ต.สวนส้ม ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกเช่นเดียวกัน โดยน้ำทะเลได้หนุนและรอดเข้ามาทางประตูระบายน้ำในคลองบางยางเก่าที่ประตูชำรุดด้านข้างและด้านล่าง ความเค็มจึงค่อยไหลเข้ามา ซึ่งตอนนี้เกษตรกรก็ได้รับการช่วยเหลือจาก อบจ.สมุทรสาคร และทางท้องถิ่นที่ส่งรถบรรทุกน้ำมาช่วย

โดยมีแหล่งน้ำจืดหลักคือ คลองคันพนังที่อยู่คนละฝั่งถนน จุดนี้จะไม่ยากต่อการนำน้ำจืดข้ามฝั่ง เพราะระยะทางสั้น และทางท้องถิ่นได้มีการขุดลอก อีกทั้งสำนักงานชลประทานจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้มีการวางระบบท่อไว้อยู่แล้ว จึงใช้เพียงเครื่องสูบน้ำ 14 นิ้ว สูบข้ามฝั่งจากคลองคันพนังแล้วมาลงคลองลำรางข้างทางที่เชื่อมต่อกับคลองบางยางเก่าได้เลย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องซ่อมประตูระบายน้ำที่ชำรุดก่อนเพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลเข้ามาอีก ซึ่งหากนำน้ำมาลงคลองบางยางเก่าได้ คลองนี้ก็จะเป็นจุดหลักที่สวนอื่น ๆ จะสูบน้ำไปใช้ต่อได้ เพราะคลองมีความยาวมาก

ส่วนทาง นายประยงค์ บุญมีรอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ  สนง.ปภ.จ.สมุทรสาคร ที่ได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่นั้น ก็บอกว่า หลังจากที่สำรวจแล้วก็จะนำผลสรุปเข้าที่ประชุม เพื่อหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด จากนั้นจะนำเครื่องสูบน้ำที่นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ขอสนับสนุนไว้มาลงในพื้นที่ได้ทันที

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *