เจ้าของแพตลาดกลางกุ้งฯ โอด โควิดระลอกใหม่พ่นพิษ ค้าขายกุ้ง-อาหารทะเลถดถอย

ผู้ประกอบการแพกุ้ง เผยสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การค้ากุ้ง-อาหารทะเลสดหลังสงกรานต์ถดถอย เศรษฐกิจชะลอตัว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. นั้น ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปยังทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจสัตว์น้ำ โดยที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเคยเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 และถูกสั่งปิดเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน โดยเพิ่งจะได้เปิดทำการซื้อ-ขายสัตว์น้ำเมื่อ 1 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

นายจตุพน มลมาลา เจ้าของแพต้นอ้อ หนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง กุ้งและอาหารทะเลสดรายใหญ่ภายในตลาดกลางกุ้งฯ เปิดเผยว่า ผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจการค้ากุ้ง และอาหารทะเลสดภายหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาถดถอยลงไปมาก เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าทั้งตลาดนัด ร้านค้า ร้านอาหาร และแผงลอยต่าง ๆ ต้องหยุดหรือลดปริมาณการขาย เพื่อปรับตัวอยู่ให้อยู่รอด ภายใต้มาตรการคำสั่งของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจช่วงนี้เกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนในตลาดกลางกุ้งฯ ที่แต่เดิมเคยคาดหวังว่าหลังสงกรานต์แล้วเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นนั้น ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังคงทรุดตัวเช่นเดิม แม้จะขายได้บ้างแต่ก็ไม่ดี ยังคงถดถอยลงมาเหมือนในช่วงแรกที่มีการเปิดตลาดกลางกุ้งฯ ใหม่ ๆ ทุกวันนี้ราคากุ้งกลับลดลงมาอีกครั้ง จากแต่เดิมก่อนสงกรานต์นั้นราคากุ้งต่อกิโลกรัมขยับขึ้นไปประมาณ 40-50 บาท แต่พอหลังสงกรานต์มาแล้วเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ บวกกับมาตรการที่เข้มข้นของรัฐบาลในหลาย ๆ ด้านที่มีการควบคุมร้านอาหาร ร้านค้า สถานประกอบการต่าง ๆ นั้น ก็ส่งผลทำให้การค้าขายของตลาดกลางกุ้งฯ ชะลอตัวลงไปเป็นอย่างมาก และราคาสินค้าก็ตกลงอีก 30-50 บาทต่อกิโลกรัม

นายจตุพล เผยอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้เป็นไปในวงกว้างทุกจังหวัด จึงส่งผลทำให้แต่ละจังหวัดมีการวางมาตรการที่รัดกุมเข้มข้นมากขึ้น นอกจากพ่อค้า-แม่ค้า ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานประกอบการหลาย ๆ ประเภท ที่เคยซื้อกุ้งไปค้าขายต้องลดปริมาณการซื้อลงแล้ว ผู้คนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมญาติต่างจังหวัด ที่จะซื้อหาอาหารทะเลไปฝาก ก็ไม่สามารถเดินทางไปได้ จึงเป็นผลทำให้การค้าขายอาหารทะเลลดลงและชะลอตัวเป็นอย่างมาก

ส่วนทางด้านผู้ค้าผู้ขายในตลาดกลางกุ้งฯ เมื่อเศรษฐกิจยังคงทรุดตัวแบบนี้ก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ในอนาคตที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ด้วยการลดปริมาณการนำเข้าของกุ้งจากบ่อเพื่อให้มีปริมาณการขายเท่าที่มีการสั่งซื้อจากพ่อค้าแม่ค้าในแต่ละวันเท่านั้น พร้อมกับสั่งลูกบ่อทุกบ่อว่าให้ดูแลกุ้งในบ่อไปก่อน อย่าเพิ่งนำขึ้นมาโดยไม่จำเป็น หากยังเลี้ยงต่อไปได้ก็ให้ดูแลต่อไปอีกระยะ ให้ชะลอการนำขึ้นจากบ่อ โดยจะต้องรอดูสถานการณ์และแนวโน้มอีก 15 – 20 วันนับจากนี้ ก็จะสามารถประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไปได้

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *