คกก.โรคติดต่อสมุทรสาคร สั่งปิดโรงงานยางรถยนต์ย่านบางปลา เหตุปล่อยโควิดระบาดเป็นวงกว้าง

ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร นำแถลงข่าวประเมินผลการตรวจติดตามจัดตั้ง FAI ในโรงงาน เบื้องต้นมีโรงงานเข้าร่วม 1,400 แห่ง ราว 30,000 เตียง เผยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งปิดโรงงานผลิตยางรถยนต์ย่าน ทต.บางปลา เป็นการชั่วคราว เหตุพบผู้ติดเชื้อในจำนวนมากแต่ไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหา ปล่อยให้มีการแพร่กระจายในชุมชน

วันนี้ (31 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ (401) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ และนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และ น.ส.สุวดี ทวีสุข สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกันแถลงผลการตรวจติดตามและการประเมินผลการจัดทำสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ หรือ FAI (Factory Accommodation Isolation) ของสถานประกอบการใน จ.สมุทรสาคร

ภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกคำสั่งให้สถานประกอบการทุกแห่งที่มีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือใช้กำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป จะต้องจัดพื้นที่รองรับการกักตัวผู้ติดเชื้อของโรงงานให้มีเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และต้องเพียงพอต่อการแยกกักตัวของผู้ติดเชื้อในโรงงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้จัดทำ FAI ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดวานนี้ (30 ก.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีมติสั่งปิดโรงงานผลิตยางรถยนต์แห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.บางปลา อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร  

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สาเหตุที่สั่งปิดโรงงานดังกล่าว เพราะว่าในห้วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการตรวจพนักงาน 1,410 คน โดยวิธีการตรวจแบบ Antigen Test Kits (ATK) 560 คน มีผลตรวจเป็นบวก 160 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 28.57 ของพนักงานที่สุ่มตรวจหาเชื้อ และยังพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสถานประกอบการแห่งนี้ไม่มีระบบการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างเพียงพอ

และจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจและแจ้งแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมโรคแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่าสถานประกอบการไม่ดำเนินการตามข้อแนะนำ ไม่มีแผนในการบริหารจัดการและควบคุมดูแลพนักงานที่มีผลการตรวจเป็นบวก โดยพนักงานบางส่วนที่มีผลการตรวจเป็นบวก ยังไม่เข้าสู่กระบวนการป้องกันและควบคุมโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าไปสู่ชุมชน และเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

ถึงแม้ว่าสถานประกอบการแห่งนี้ จะมีการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับการแยกกักผู้ติดเชื้อโควิค-19 ในโรงงาน หรือ FAI แล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการแยกกัก จึงทำให้ผู้ติดเชื้อต้องไปใช้โรงพยาบาลสนามในชุมชน “ศูนย์พักคอยคนสาคร” หรือ CI (Community Isolation) ในการแยกกัก ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าสถานประกอบการแห่งนี้ละเลย ไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาในการป้องกันและควบคุมโรค และสุดท้ายมีการร้องเรียนสถานประกอบการแห่งนี้หลายครั้ง ทั้งจากประชาชนทั่วไป เทศบาลตำบลบางปลา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร หรือร้องเรียนผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มีการแจ้งผ่านสื่อสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก

ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ก็เลยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการ 1. ปิดบริษัทดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และห้ามดำเนินการในสถานที่ดังกล่าว 2. จะต้องตรวจคัดกรอง 100 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานผู้ดำเนินการในสถานประกอบการแห่งนั้น หากพบพนักงานติดเชื้อ ให้นำผู้ติดเชื้อไปแยกกักในโรงพยาบาลสนามของสถานประกอบการแห่งนั้น ในระหว่างที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ ก็ต้องมีกระบวนการควบคุมให้พนักงานดูแลตนเองอยู่ในที่พักอาศัยอย่างชัดเจน จัดทำทะเบียนพนักงานโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง ควบคุมการเดินทางไม่ให้ออกจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร

3. หากเจ้าของสถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการข้างต้นแล้วเสร็จ ให้เสนอผลการดำเนินงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเป็นผู้พิจารณาต่อ เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ หากไม่ดำเนินการตามที่กำหนด อาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการต่อไป

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 51 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 – 15 ส.ค. เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคฯ แล้วเสร็จ เป็นเวลา 14 วัน  

นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนสถานประกอบการอื่น ๆ นั้น มีหลายแห่งที่ได้ปฏิบัติตามและรับพนักงานเข้าดูแลในสถานที่ของตนเองแล้ว ในภาพรวมขณะนี้ จ.สมุทรสาคร มีสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อโควิค-19 ในโรงงาน หรือ FAI แล้ว ทั้งหมดประมาณ 1,400 แห่ง มีแรงงานเข้ารับการกักตัวแล้วเกือบ 2,000 คน จากจำนวนเตียงที่มีอยู่ทั้งหมดราว 30,000 เตียง ซึ่งทำให้ไม่เบียดบังกับเตียงของศูนย์พักคอยฯ ที่จะใช้รับประชาชนทั่วไป  เป็นการช่วยกันเพิ่มจำนวนเตียง ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลสนามหลัก ช่วยให้ผู้ติดเชื้อในกลุ่มสถานประกอบการตนเองเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว แต่มาตรการนั้นไม่ใช้เพียงแค่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วจะไม่ถูกปิด เพราะจะต้องมีการประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วยว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ และไปแพร่กระจายในชุมชนหรือเปล่า ซึ่งหากสถานประกอบการใดจัดทำ FAI แล้วไม่ได้มาตรฐาน หรือมีไว้เพียงแค่เพื่อถ่ายภาพเท่านั้นก็จะต้องถูกสั่งปิดได้เช่นเดียวกัน

นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร  กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของมาตรการในการดูแลรักษา จะใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคมเข้ามาดูแล โดยสถานประกอบการใดขึ้นอยู่กับประกันสังคมของโรงพยาบาลใด ก็ให้โรงพยาบาลนั้นรับผิดชอบดูแล ทั้งเรื่องของระบบสาธารณสุข การจ่ายยารักษาตามอาการ และการนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาหากเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หากสถานประกอบการใดที่ยังมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำ FAI ก็สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน FAI หมายเลขโทรศัพท์ 097-2095242

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *