โควิดสมุทรสาครยอด 1,355 ราย ผอ.อนุกูล ชี้กระบวนการ CI ที่ดี ช่วยลดผู้ป่วยกลุ่มสีแดง รพ.หลัก

สถานการณ์โควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,355 ราย สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ด้าน ผอ.รพ.สมุทรสาคร เผยผู้ป่วยในศูนย์ CI มีเพิ่มมากขึ้น บางรายอาการรุนแรงอยู่ในกลุ่มสีเหลืองต้องเข้า รพ.หลัก ขณะที่กระบวนการ CI ที่ดี ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลง ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้ทุก รพ. ในจังหวัดฯ ใช้วันละ 4 หมื่นเม็ด เตรียมขอรับการจัดสรรเพิ่ม

วันนี้ (6 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนหลักพันต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา จากการรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ณ เวลา 24.00 น. วันที่ 5 ส.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,355 ราย จำแนกเป็นพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 260 ราย (คนไทย 201 ราย, ต่างด้าว 59 ราย) พบจากตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาล 1,095 ราย จำแนกเป็นคนในจังหวัด 662 ราย (คนไทย 533 ราย, ต่างด้าว 129 ราย) และคนนอกจังหวัด 433 ราย (คนไทย 380 ราย, ต่างด้าว 53 ราย) ด้านผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดรวม 56,117 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 32,241 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 23,702 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย สะสมอยู่ที่ 174 ราย

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงพบอย่างต่อเนื่องและมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้นด้วยนั้น ในส่วนของผู้ป่วยกลุ่มที่กักตัวอยู่ในศูนย์พักคอยคนสาคร หรือ CI (Community Isolation) พบว่ามีอาการเพิ่มมากขึ้น จากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวกลายมาเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง มีการพบอาการปอดอักเสบเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องจ่ายยาเพิ่มขึ้น บางรายต้องเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลสนามสีเหลือง ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากพอสมควร โดยทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลสมุทรสาครมีการจัดกันว่าใครต้องรับผิดชอบศูนย์ CI ไหน เพื่อทำการประเมินผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

แต่ในขณะเดียวกัน พบว่าตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลักมีจำนวนลดลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลฯ รับผู้ป่วยที่มาจากบ้านด้วยอาการหนัก เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดงเข้ม ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อรอนำตัวขึ้นตึกในแต่ละเวรไม่ต่ำกว่า 3-4 คน แต่เมื่อมีการจัดกระบวนการ CI ที่ดี นำตัวผู้ป่วยติดเชื้อออกจากบ้านได้เร็ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ CI ก็จะปรึกษาทางทีมแพทย์ และให้คำแนะนำในการให้ยาเพื่อการรักษา จึงเป็นตัวช่วยทำให้ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจนั้นลดลง นับว่ากระบวนการ CI ที่มีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีคนไข้ในศูนย์ CI เพิ่มมากขึ้นก็ตาม ส่วนเรื่องของระบบการแยกกักแบบกักตัวที่บ้าน หรือ HI (Home Isolation) นั้น ต้องยอมรับว่า กระบวนการ HI เป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่ทำได้ยากกว่ากระบวนการ CI เนื่องจาก HI นั้น ต้องสร้างกระบวนการความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยและผู้ที่รอบข้าง ดังนั้นการทำ CI จึงได้ผลมากกว่า HI และเข้าถึงผู้ป่วยที่มีอาการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่า

ส่วนเรื่องของการจัดสรรยาฟาวิพิราเวียร์ของ จ.สมุทรสาคร มีอัตราการใช้ยาต่อวันของทุกโรงพยาบาลรวมกันประมาณวันละ 40,000 เม็ด ส่วนจำนวนสต๊อกในคลังยานั้นทำได้เพียงแค่ 2 – 3 วัน ตามข้อกำหนดขององค์การเภสัชกรรมที่ไม่ให้มีการสต๊อกยาไว้จำนวนมาก โดยจะมีการตรวจสอบจำนวนยาทุกวัน แล้วก็จะเติมเข้ามาให้ตามจำนวนที่ต้องใช้ในแต่ละวัน ทั้งนี้ สถานการณ์โดยรวม อาจจะต้องใช้ยามากขึ้นกว่าวันละ 40,000 เม็ดอย่างแน่นอน จึงได้ขอรับการจัดสรรเพิ่มเติมกับทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะมีการปรับให้การใช้ยาเป็นไปได้ดีขึ้นและมีเพิ่มเข้ามาอย่างเพียงพอ

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *