ส.ส.จอมขวัญ สะท้อนปัญหาโควิด จี้รัฐเยียวยาแรงงาน-เกษตรกร ผ่านรายการโทรทัศน์รัฐสภา

น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์รายการมองรัฐสภา ทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ชี้สถานการณ์โควิดสมุทรสาครหนักขึ้นทุกวัน ทางจังหวัดฯ บริหารจัดการช่วยเต็มที่ แต่ได้รับวัคซีนน้อยมาก นำเรื่องเข้าหารือประธานสภาแล้ว เผยลงพื้นที่ทุกวัน สนับสนุนชุดตรวจ-แอลกอฮอล์ให้ทาง รพ. ส่งอาหารให้ศูนย์พักคอย ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องการเยียวยา วอนรัฐบาลช่วยเรื่องแรงงาน-สินค้าเกษตร

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส. สมุทรสาคร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Zoom ในรายการมองรัฐสภา ทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา โดยมีนายกวีพันธ์ มนตรีวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในหัวข้อ “ส.ส. ลงพื้นที่ช่วยประชาชน หนุนศูนย์กักตัวสู้โควิด ดึงชุมชนร่วมป้องกัน” โดย น.ส.จอมขวัญ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตนคิดว่าหนักขึ้นทุกวัน ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) 1,683 ราย เพิ่มจากวันก่อนหน้านี้ จำนวน 1,639 ราย ทิศทางการติดเชื้อดูแล้วมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี) ได้บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยในจังหวัดเราตอนนี้มีโรงพยาบาลสนาม 8 แห่ง ประมาณ 3,000 เตียง ซึ่งตอนนี้เหลือเตียงอีกประมาณ 460 เตียง และก็ได้ตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน 4,857 เตียง ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 3,000 กว่าเตียง

โดยศักยภาพเพียงพอที่จะรับ แต่แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน ถึงแม้ว่าในเรื่องของการร่วมมือของผู้ประกอบการ โรงงาน บริษัทเอกชน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้ทุกโรงงานทำที่แยกกักตัวภายในโรงงาน ก็คือโรงงานที่มีแรงงาน 50 คนขึ้นไป หรือมีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป ก็จะต้องทำเตียงเพื่อรองรับผู้กักตัวอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของพนักงาน

เมื่อถามว่าเมื่อมีระบบที่ดี แต่ทำไมยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่องนั้น น.ส.จอมขวัญ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่า จ.สมุทรสาครจะมีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของประเทศ ในขณะที่ประชากรเรามีเพียง 6 แสนคน แต่ว่ามีประชากรแฝง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานจากต่างจังหวัด คนที่มาทำงานที่สมุทรสาครแต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนมา รวมทั้งแรงงานต่างด้าวด้วย แม้จังหวัดอื่นก็มีประชากรแฝง แต่ จ.สมุทรสาคร มีโรงงานกว่า 7,000 แห่ง เพราะฉะนั้นมีการนำเชื้อจากที่ทำงานกลับมาสู่ครอบครัว

และในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 สมุทรสาครเราได้น้อยมาก ประชาชนก็ออกมาเรียกร้อง เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ตนก็ได้นำเรื่องเข้าหารือต่อท่านประธานสภา ซึ่งในตอนนั้นเรามีผู้ติดเชื้อวันละ 400 กว่าคน ปัจจุบันนี้ 1,600 กว่าคน ซึ่งเราอยากได้วัคซีนให้เพียงพอกับ จ.สมุทรสาคร ปัจจุบันนี้เรามียอดที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 360,000 โดส ซึ่งถือว่าน้อยมาก คือได้รับเข็ม 1 ไปแค่ 234,000 คน และเข็มที่ 2 ได้ไป 125,000 คน

จากที่ได้หารือกับท่านประธานสภาในวันนั้น ตนก็ได้ขอวัคซีนให้กับชาวสมุทรสาคร ขอให้บูสเตอร์โดส เข็มที่ 3 ให้กับแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ขอให้เร่งรัดค่าเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ตกค้าง ทั้งปี 63-64 และก็ขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายค่าเสี่ยงภัยใหม่ เพราะว่าสมุทรสาครเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย แล้วเราก็เห็นว่ามีคลัสเตอร์จังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา ในขณะเดียวกันสมุทรสาครมีประชากรแค่ 6 แสนคน เรามีผู้ติดเชื้อถึง 1,600 กว่าคน เราก็อยากให้รัฐบาลมามอง มาให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย

เมื่อถามว่า ตัวเลขของผู้ติดเชื้อวันละกว่าพันราย ถึงจะมีศักยภาพทำเตียงสนามไว้มาก แต่ที่สุดจะดันจนเตียงเต็มรับไม่ได้ ใกล้ถึงจุดนั้นแล้วหรือไม่ น.ส.จอมขวัญ ตอบว่า เพราะว่ามีโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน อย่าใช้คำว่าเตียงเต็ม ให้ใช้คำว่าเตียงล้นจะดีกว่า ผู้ป่วยกึ่งวิกฤตต้องไปนอนรอเตียงที่หน้าห้องฉุกเฉิน ในส่วนโรงพยาบาลสนามก็เกือบเต็มแล้วทุกแห่ง แล้วถ้าจะสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มจะเอาบุคลากรที่ไหน ตอนนี้อย่างเช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ก็จะต้องดูแลผู้ป่วย ตอนนี้ก็มีการตรวจแบบ Rapid Test และส่งต่อไปโรงพยาบาล แล้วเจ้าหน้าที่หมออนามัยก็จะต้องมาอยู่ที่ศูนย์พักคอย หรือ CI อย่าง รพ.สต. บางแห่งมีเจ้าหน้าที่ 4 คน ต้องอยู่ที่ทำงาน 2 คน แล้วก็มาอยู่ที่ศูนย์พักคอย 2 คนสลับกัน แล้วอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นเตียงกระดาษ ถังออกซิเจนขาดแคลน แล้วก็มีภาคประชาชนให้ความร่วมมือช่วยเหลือ ที่ จ.สมุทรสาครนี่ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือผู้ประกอบการ โรงงาน บริษัทต่าง ๆ ก็ช่วยกัน

เมื่อถามว่า ในสถานการณ์วิกฤตนี้ ทางจังหวัดฯ ได้หาทางออกอย่างไร น.ส.จอมขวัญ กล่าวว่า ตอนนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็ได้พยายามกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ แล้วก็ในเรื่องของการตรวจผู้ป่วย ก็ให้ตรวจ Rapid Test ที่ รพ.สต. หรือตรวจเอง แล้วก็มาเข้าศูนย์พักคอยได้เลย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล ท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ให้ความช่วยเหลือประชาชน ประชาชนไปตรวจที่โรงพยาบาล แล้วให้กลับมารอที่บ้าน บางทีรอ 7-10 วัน บางคนรอจนอาการหนัก ทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็มีส่วนมากในการช่วยเหลือ พยายามติดต่อขอให้โรงพยาบาลมารับตัว

ส่วนเรื่องการลงพื้นที่นั้น ตนลงพื้นที่ทุกวัน แต่เนื่องจากว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ท่านทำงานอย่างเข้มแข็ง ด้วยความร่วมมือของโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ รพ.สต. ต่าง ๆ ส่วนตัวเองก็ได้ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของการสนับสนุนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ หรือส่งอาหารให้ผู้กักตัวตามศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนามต่าง ๆ และก็ฟ้าทะลายโจร ก็ไปหามาแจกให้กับประชาชนที่เขาแยกกักตัวอยู่บ้าน ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง นอกจากนั้นก็ไปช่วยหา Rapid Test และแอลกอฮอล์มาให้กับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) คือ ส.ส. ไม่ได้มีหน้าที่ในกระบวนการจัดสรร จัดหาวัคซีน เราก็ช่วยเหลือในสิ่งที่จะทำได้

และก็จากการลงพื้นที่ ก็ได้รับคำถามจากประชาชนเรื่องมาตรการเยียวยา เช่น มาตรา 33 ไม่ได้รับทุกคน ผู้ประกอบการหรือนายจ้างให้เสนอได้ไม่เกิน 200 คน ทีนี้คนที่เหลือจะทำอย่างไร และมาตรา 39 มาตรา 40 ก็ไม่ได้รับกันทุกคน ตรงนี้อยากจะให้กระทรวงแรงงานช่วยเข้ามาดูหน่อย เพราะว่าที่ จ.สมุทรสาคร เรามีแรงงานเยอะมาก และนอกจากนั้นในส่วนของการเยียวยา สถานประกอบการ ร้านค้า ตลาดนัด ถูกสั่งปิดไป เขาต้องอยู่ เขาต้องกิน แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ก็อยากจะให้มีความชัดเจนและทั่วถึงในเรื่องของมาตรการเยียวยาประชาชน

หรือแม้แต่เกษตรกร ตอนนี้ที่ อ.บ้านแพ้ว มะม่วง มะนาว ราคาถูกมาก ตนเห็นข่าวแล้วที่รัฐบาลไปช่วยมังคุดภาคใต้ ก็อยากจะให้มาดูที่ จ.สมุทรสาครบ้าง และเกษตรกรที่สมุทรสาครนี่เยอะมาก ก็อยากให้มาช่วยเหลือ คือมาตรการเยียวยาก็ได้นิดเดียว ได้ 5,000 บาท แล้วมันจะพอใช้ไหม ต้องกิน ต้องใช้ แล้วก็เป็นปีมาแล้วที่ จ.สมุทรสาครเกิดปัญหาวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด ก็อยากจะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยดูราคาผลผลิตของเกษตรกรด้วย

เมื่อถามว่าประชาชนช่วยแก้ปัญหาได้เต็มที่ไหม หรือต้องขยับมาตรการตรงไหนให้ได้บ้าง น.ส.จอมขวัญ กล่าวว่า ประชาชนก็ช่วยเต็มที่แล้ว คือให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ ในการที่สั่งหยุดกิจการต่าง ๆ เขาไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่มีเงินที่จะเลี้ยงดูครอบครัว แล้วอย่างบางคนที่เจ็บป่วยหรือเป็นผู้กักตัว เขาทำมาหากินไม่ได้ อย่างเช่นโรงงานเขาต้องกักตัว 14 วัน ก็ไม่ได้ไปทำงาน โรงงานก็ไม่จ่ายเงินให้ อยากให้กระทรวงแรงงานลงมาดูที่ จ.สมุทรสาคร เชิญท่านรัฐมนตรีลงพื้นที่ อยากให้เชิญรัฐมนตรีมาทุกท่าน นายกรัฐมนตรีท่านมาบ้างก็ได้ เพราะว่าตัวเองเป็น ส.ส. ก็จะได้รับเสียงสะท้อนความเดือดร้อนจากประชาชนทุกวัน

การที่ ส.ส. ช่วย และมีภาคเอกชน เพื่อน ๆ มาร่วมกัน อย่างเราเอาอาหารไปส่งให้ผู้กักตัวที่อยู่บ้าน แต่คนอยู่บ้านที่เขาไม่ได้กักตัว เขาก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ตรงนี้ในเรื่องของการจัดการโควิด-19 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ท่านก็เต็มที่อยู่แล้ว ประชาชนก็ให้ความร่วมมือเต็มที่อยู่แล้ว แล้วทีนี้จะอยู่กันต่อไปอย่างไร สมุทรสาครยอดเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างที่พิธีกรบอกว่าจะให้ขยับตรงไหน ก็ไม่รู้ว่าจะขยับตรงไหนแล้ว คือเต็มที่แล้ว ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทั้งหมอ ไม่ว่าจะเป็นหมออยู่ในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือ รพ.สต. อสม. จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องถิ่นใน จ.สมุทรสาคร เราเต็มที่กันทุกคน ทุกภาคส่วนแล้ว

เรื่องของภาคกำลังการผลิตของจังหวัดฯ อยู่ที่โรงงานเป็นหลัก เวลามีพนักงานติดเชื้อ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะต้องหยุดสายการผลิตหรือไม่ น.ส.จอมขวัญ ตอบว่า ตอนนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็ให้ทุกโรงงานทำ FAI คือทำสถานที่กักตัวสำหรับพนักงานทุกโรงงาน นอกจากนั้นนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร เขาก็รวมกลุ่มผู้ประกอบการจัดตั้ง FAI กลางขึ้น 2 แห่ง 600 เตียง นิคมอุตสาหกรรมสินสาครก็รวมกลุ่มกันจัดตั้ง FAI กลาง ขนาด 600 เตียง ซึ่งสามารถที่จะขยายได้ถึง 1,000 เตียง ในส่วนของ FAI ของทุกโรงงานตอนนี้มีประมาณ 40,000 เตียง เพราะฉะนั้นในส่วนของพนักงานโรงงาน เขาก็จะมีนายจ้าง มีโรงงานรองรับอยู่แล้ว แต่ในส่วนที่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอยต่าง ๆ ตามชุมชนที่ จ.สมุทรสาคร ประมาณ 40 แห่ง คือทุกตำบลจะมีศูนย์พักคอยหมดเลย อันนี้จะแยกส่วนกัน ก็ต้องขอบคุณผู้ประกอบการโรงงาน บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่เขาเสียสละและเขาก็ช่วยดูแลแรงงานของเขา ทีนี้หลัก ๆ อยากให้รัฐบาลมาช่วยดูแลแก้ปัญหาในเรื่องการเยียวยาต่าง ๆ ด้วย

ส่วนคำถามที่ว่าการเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ คนจะคิดว่าสื่อสารกับรัฐบาลได้ง่ายนั้น คือ ส.ส. ทุกคนเนี่ย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ถ้าจะพูดหรือจะนำเสนอประเด็นปัญหา ก็คือพูดในสภา แต่ที่ผ่านมามีการติดเชื้อโควิด-19 ที่สภา ทำให้ต้องงดการประชุมสภา เพราะฉะนั้น ส.ส. ที่มาพูด พูดในเฟซบุ๊ก ไลฟ์สด แล้วได้อะไร เราไม่มีโอกาสที่เราจะไปสื่อสาร เราจะเดินไปบอก ศบค. เราจะเดินไปบอกนายกรัฐมนตรีมันไม่ได้ ส.ส. ก็คือทำหน้าที่ในสภา ซึ่งล่าสุดนี้ท่านประธานสภาฯ ก็กำหนดให้มีการประชุมพิจารณางบประมาณ วันที่ 18-20 ส.ค. ในเมื่อวาระเป็นการพิจารณางบประมาณ มันก็จะไม่ได้มีโอกาสไปพูดเรื่องพวกนี้

“ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน บุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล สาธารณสุข ทุกคนเต็มที่มาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิตไป 1 ราย ล่าสุดพยาบาลที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ก็เสียชีวิตเพราะว่าติดเชื้อโควิด-19 อีก 1 ราย เต็มที่สุด ๆ แล้วค่ะ ขอวัคซีนให้สมุทรสาครด้วยนะคะ” น.ส.จอมขวัญ กล่าวทิ้งท้าย

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *