ไส้กรอกมรณะส่งจากชลบุรี ใช้สมุทรสาครกระจายสินค้า สสจ.บุกตลาดย้ำห้ามรับมาขาย

ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคและ อย. บุกชลบุรี ต้นตอไส้กรอกมรณะทำเด็กคลื่นไส้ เวียนหัว หมดสติเจียนตาย พบโรงงานไม่ได้มาตรฐาน ใช้คนงานตักใส่ไนไตร์ทแบบกะเอา สารภาพสิ้นส่งไปสมุทรสาคร แล้วกระจายทั่วประเทศมานานแล้ว ด้าน สสจ.สมุทรสาคร บุกทุกตลาดในมหาชัย ไม่เจอไส้กรอกอันตราย กำชับอย่ารับมาขายอีก แนะแม่ค้ารับจากโรงงานได้มาตรฐาน ดูวันหมดอายุให้ดีด้วย

จากกรณีที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เตือนเฝ้าระวังอย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย และ กาญจนบุรี 1 ราย โดยทั้ง 6 รายมีประวัติกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วยคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาจหมดสติได้ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนวัดที่ปลายนิ้วต่ำ ขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ภาวะดังกล่าวเกิดจากสารไนไตรท์ ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่มากเกินไป สารไปจับกับเลือดแทนออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอและเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น จากการสอบถามทราบว่า ไส้กรอกที่เด็กรับประทานไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. และ ไม่ระบุแหล่งผลิต แต่ทราบว่าผู้ปกครองได้สั่งซื้อทางออนไลน์ มีต้นทางจากตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) ลงพื้นที่โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี พบ น.ส.รักทวี ขุนแพง แสดงตนเป็นเจ้าของ ภายในโรงงานมีการผลิตไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ แต่วันที่เข้าไปตรวจค้นไม่พบว่ามีการผลิต แต่พบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้วอยู่ในถังแช่แข็ง สอบถาม น.ส.รักทวี ยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตไส้กรอกตามที่เป็นข่าวจริง แต่หลังเป็นข่าวก็เลิกผลิตแล้ว

โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิต 11 แรงม้า พนักงาน 8 คน ไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม และไม่เข้าข่ายการขอขึ้นทะเบียนอาหารของ อย. เมื่อตรวจค้นสถานที่ผลิต พบฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและวัตถุดิบหลายรายการ ไม่มีเครื่องหมาย อย. อีกทั้งสถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP มีข้อบกพร่องหลายเรื่อง นอกจากนี้ มีการใช้แรงงานคนตักสารไนไตรท์โดยไม่ได้ชั่ง ตวงหรือวัดตามมาตรฐาน แต่กะเกณฑ์ตักใส่ๆ ทำให้ปริมาณไนไตรท์เกินค่าความปลอดภัย เมื่อสอบถามเพิ่มเติมพบว่า ส่งไปที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะกระจายสินค้าไปทั่วประเทศมานานแล้ว แต่ไม่ได้ซัดทอดว่ามีที่อื่นอีก

ก่อนหน้านี้ บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. กองระบาดวิทยา และ สสจ. ในจังหวัดที่มีผู้ป่วย ตรวจสอบต้นตอไส้กรอกพบว่า น่าจะมีแหล่งผลิตที่จังหวัดชลบุรี นำมาสู่การตรวจค้นดังกล่าว เบื้องต้นได้สั่งปิดโรงงาน อายัดผลิตภัณฑ์ทั้งหมด พร้อมแจ้งความผิด คือ สถานที่ผลิตไม่ผ่าน GMP ปรับ 1 หมื่นบาท ใช้ฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มี อย.ปรับ 3 หมื่นบาท และเก็บสินค้าส่งตรวจแล็บเพื่อตรวจหาสารเคมีปนเปื้อน ทั้งไนไตรท์ เบนโซอิกแอซิด และสีผสมอาหาร หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน จะมีความผิดเรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท เมื่อสั่งการให้ สสจ. แต่ละจังหวัดไปตรวจสอบทั่วประเทศ ก็พบอีกหลายแห่ง ซึ่งจะดำเนินการสืบหาแหล่งผลิตต่อไป หากพบเห็นไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556

อีกด้านหนึ่ง นายรัชตพล มีลาภ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำทีมงานออกตรวจสอบการจำหน่ายไส้กรอกในตลาดมหาชัย ตลาดแม่พ่วง ตลาดรถไฟ ตลาดแม่เน้ย เขตเทศบาลนครสมุทรสาคร และตลาดสดทะเลไทย ไม่พบว่ามีจำหน่ายไส้กรอกที่ไม่มีคุณภาพ โดยเน้นย้ำกับเจ้าของตลาดสดและแม่ค้าว่า การจำหน่ายไส้กรอกตัองได้มาตรฐาน มีฉลากชัดเจน มีเลข อย. 13 หลัก มีสถานที่ผลิต ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ อยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท และเก็บควบคุมอุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส จากการตรวจสอบไม่พบว่าตลาดสดมีการจำหน่ายไส้กรอกอันตราย ไม่ได้มาตรฐาน และกำชับห้ามนำไส้กรอกที่ไม่มีฉลากนำมาจำหน่ายในตลาดโดยเด็ดขาด

ขณะที่ นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ทราบข้อมูลดังกล่าวมา 2-3 วันที่แล้ว จึงได้ลงไปตรวจสอบโรงงาน ปรากฎว่าทางโรงงานได้เปิดเผยความจริงว่า ไส้กรอกไม่ได้ผลิตเอง นำมาจากจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีไปแล้ว และย้ำกับทางโรงงานว่าอย่าทำแบบนี้อีกเพราะผู้บริโภคจะถึงแก่ชีวิต ถ้าต้องการจะขายได้ยาวนานควรทำให้ดี และถ้าเกิดมีกรณีดังกล่าวอีกให้รีบแจ้งทันที ส่วนแม่ค้าที่รับไส้กรอกมาขาย แนะนำให้ซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน และต้องคุยว่าสินค้าที่รับมายังไม่หมดอายุ ไม่มีสารปรุงแต่งและไม่ผิดสเปกโรงงาน ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียตามมา แม้โรงงานที่ผิดสเปกจะขายในราคาที่ถูกและใกล้หมดอายุ ส่วนประชาชนก็ต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อไส้กรอกด้วย

ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขอย้ำเตือนให้ซื้อไส้กรอกที่ได้มาตรฐานจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สะอาด ปลอดภัย สถานที่ผลิตถูกสุขลักษณะตามหลัก GMP มีรายละเอียดอครบถ้วน ทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ และมีเครื่องหมาย อย. กำกับบนฉลากอาหาร ไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อหรือไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์เพื่อเป็นวัตถุกันเสียมากเกินกำหนด โดยทั่วไปไส้กรอกจะมีสารไนไตรท์ในปริมาณที่กำหนด เพื่อคงสภาพสีแดงอมชมพูและถนอมอาหาร กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ใส่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร หากมีปริมาณเกินที่กำหนด

หากรับประทานมากเกินไป ไนไตรท์จะไปจับกับเลือดทำให้ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการอาเจียน ซึม สับสน หมดสติ ผิวหนัง ปากเขียวคล้ำ ซีด เวียนศีรษะ ปลายมือเขียวคล้ำ ภายหลังรับประทาน 2 ชั่วโมง และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าหากมีอาการดังกล่าวร่วมกับมีประวัติรับประทานไส้กรอก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง ส่วนการเลือกซื้อไส้กรอกต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สะอาด ปลอดภัย มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย นอกจากนี้ การบริโภคอาหารควรยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” อาหารต้องสดใหม่ สะอาด นำมาผ่านความร้อนจนสุกทั่วถึง ก่อนปรุงควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง เพราะในอาหารอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ เสี่ยงโรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษได้

อนึ่ง สำหรับไส้กรอกที่เป็นข่าว ติดฉลากแต่เพียงคำว่า “ฟุตลองไก่รมควัน 1,000 กรัม (13 แท่ง)” โดยมีการประกาศขายในเฟซบุ๊ก ระบุว่าเป็นไส้กรอกฟุตลองไก่หนังกรอบ อ้างว่าเป็นฟุตลองในตำนาน ตัวเดียวกับร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ราคาขายอยู่ที่แพ็คละ 120-130 บาท

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *