โควิดสมุทรสาครวันนี้ 703 ดับ 2 ราย ผู้ว่าฯ ออกมาตรการเข้มสงกรานต์ ห้ามเล่นน้ำ-ประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม

สถานการณ์โควิด-19 สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อรายวัน 703 ราย ดับ 2 ราย ด้านผู้ว่าฯ เซ็นคำสั่งจังหวัดฯ มาตรการป้องกันโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 65 ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ให้นายอำเภอพิจารณาอนุญาตจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย มีผล 11-22 เม.ย. 65

วันนี้ (8 เม.ย.) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จ.สมุทรสาคร จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 เม.ย. 65 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 703 ราย เป็นการพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลทั้งหมด จำแนกเป็นคนในจังหวัด 428 ราย (คนไทย 421 ราย, ต่างด้าว 7 ราย) และคนนอกจังหวัด 275 ราย (คนไทย 273 ราย, ต่างด้าว 2 ราย) ด้านผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดรวม 156,908 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 154,350 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,294 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย สะสมอยู่ที่ 1,264 ราย

ขณะเดียวกัน นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงนามในคำสั่งจังหวัดฯ ที่ 920/2565 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 107) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 ลงวันที่ 7 เม.ย. 65 โดยระบุว่า ตามคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 189/2565 ลงวันที่ 24 ม.ค. 65 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 101) และคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 562/2565 ลงวันที่ 25 ก.พ. 65 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งจังหวัดฯ ที่ 189/2565 ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดบางแห่งเป็นการชั่วคราว และกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อันอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป และเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กับการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค จึงได้ผ่อนคลายกิจกรรมบางประการ นั้น

โดยที่การระบาดของโรคโควิด-19 ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งบรรดาแพทย์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้แนะนำและเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้ารับวัคนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) อันจะช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคได้ ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ดังนั้น เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดแบบกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทยร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม และเพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และมาตรา 34 (6) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 43) ลงวันที่ 30 มี.ค. 65 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 6/2565 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 30 มี.ค. 65 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 65 จึงเห็นสมควรกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 65 ดังนี้

1. ห้ามการเล่นน้ำ การเล่นประแป้ง การจัดหรือร่วมกิจกรรมปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใด ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม

2 . ให้นายอำเภอในแต่ละเขตพื้นที่พิจารณาอนุญาตในการกำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะ ในการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่รับผิดชอบภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

3. กรณีพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะหรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ ให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน จัดสถานที่และดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้

ก. การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเล่นน้ำหรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้

ข. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม

ค. ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม

ง. ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าสถานที่ หรือพื้นที่จัดกิจกรรม

จ. ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด ทั้งนี้ ตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน

4. สำหรับการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้ โดยให้ ศปก. ในพื้นที่ที่ตั้งของชุมชนนั้น ๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาอนุญาต และต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับแนวทางและมาตรการที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ด้วย

5. สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใด ๆ ที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย

6. บรรดาคำสั่ง ประกาศหรือหนังสือใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งฉบับนี้แทน

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งข้างต้น เป็นความผิดตามมาตรา 34 (6) มีโทษตามนัยมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 65 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 65 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

อ่านคำสั่งฉบับเต็ม

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *