คกก.ปฏิรูปการศึกษา-กสศ. ลงพื้นที่ ร.ร.บ้านยกกระบัตร ติดตามวิจัยฯ ฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย-ห้องเรียนต้นแบบ

ปธ.บอร์ดปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พร้อมกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย และห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz ที่ ร.ร.บ้านยกกระบัตร จ.สมุทรสาคร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ค. 65 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านยกกระบัตร หมู่ 2 ถ.สวนส้ม ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย หรือ “สมุทรสาครโมเดล” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. ภาคีเครือข่าย และจังหวัดสมุทรสาคร มุ่งฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมความสำเร็จของห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. ที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ ก่อนเตรียมนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป 

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 สองปีที่ผ่านมาได้สะท้อนปัญหาช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยให้ชัดเจนขึ้น อันเป็นภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กำหนดกรอบนโยบายแผนปฏิรูปการศึกษา 5 Big Rocks ในการสร้างความเสมอภาคและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเพื่อติดตามสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนหลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 และติดตามความคืบหน้าโครงการวิจัยฯ “สมุทรสาครโมเดล” และห้องเรียนต้นแบบ Learning Recovery Labz เพื่อเน้นย้ำความร่วมมือและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทางด้านนายอาวุธ วิเชียรฉาย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก พบว่าเด็กนักเรียนเกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางความรู้ ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็ก ๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เป็นผลจากการปิดโรงเรียนอย่างยาวนานในช่วงโควิด-19 จึงเป็นความท้าทายของทุกฝ่ายที่ต้องเดินหน้าแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างจริงจัง เพื่อเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ด้วยการนำแนวทางการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนใน 3 มิติ คือ การเสริมสร้างความรู้ การส่งเสริมทักษะชีวิตหรือทักษะทางสังคม และการสนับสนุนให้สถานศึกษาดำเนินการปรับพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนทั้งก่อนและหลังเปิดภาคเรียน

สำหรับโรงเรียนบ้านยกกระบัตร เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบฟื้นฟูการเรียนรู้ “สมุทรสาครโมเดล” จาก 40 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจฟื้นฟูการศึกษาหรือ Learning Recovery ภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดสมุทรสาคร, กสศ., กระทรวงศึกษาธิการ, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีเป้าหมายมุ่งช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี และได้รับการชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน รวมถึงครูทุกคนต้องได้รับการอบรมเตรียมความพร้อม สามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเรียนรู้มาผสมผสานในการจัดการเรียนการสอน เพื่อจัดการเรียนรู้ซ่อมเสริมที่ตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคน เพื่อถอดบทเรียนที่ได้และนำไปต่อยอดและวางแผนฟื้นฟูภาวะถดถอยทางความรู้ในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *