กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขุดแหล่งน้ำบาดาลใหม่ลึกสุดในไทยที่สมุทรสาคร แก้ขาดแคลนน้ำ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลใหม่ลึกสุดในไทย 1,008 เมตร ที่วัดสหกรณ์โฆสิตาราม จ.สมุทรสาคร แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต ทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 65 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำคณะที่ปรึกษาและผู้เข้าศึกษาดูงานกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง (ระยะที่ 3) พร้อมกับรับฟังบรรยายความเป็นมา และผลการดำเนินโครงการฯ รับฟังบรรยายเทคนิคการเก็บทดสอบปริมาณน้ำและตัวอย่างน้ำบาดาล และการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการฯ ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการขุดเจาะบ่อลึก 1,000 เมตร บริเวณใกล้ปากอ่าวไทย ที่วัดสหกรณ์โฆสิตาราม โดยเป็นแหล่งน้ำบาดาลใหม่ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 640 ถึง 1,008 เมตร จำนวน 5 ชั้น คาดว่าจะมีน้ำบาดาลคุณภาพน้ำจืดปริมาณมหาศาล เตรียมพัฒนาขึ้นมาช่วยประชาชนในพื้นที่กว่า 22,000 คน มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน และเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทยและอยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ อุตสาหกรรมห้องเย็น อุตสาหกรรมเคมี โดยมีโรงงานทั้งสิ้นกว่า 6,295 แห่ง มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ ซึ่งทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม ผลการประเมินการใช้น้ำ จ.สมุทรสาคร รวม 385 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ความสามารถจัดหาน้ำรวมทั้งสิ้น 290 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ยังมีความต้องการใช้น้ำอีกเกือบ 100 ล้าน ลบ.ม. ต่อปีที่ยังขาดแคลนอยู่

สำหรับการจัดหาน้ำบาดาลมีปริมาณน้ำจัดหารวมทั้งสิ้น 81 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี แบ่งเป็น ภาคครัวเรือน 22 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ภาคเกษตรกรรม 30 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และภาคอุตสาหกรรม 29 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ทั้งนี้ จากการตรวจสอบใบอนุญาตคำขออนุญาตใช้น้ำบาดาล พบว่ามีการใช้น้ำบาดาล 113,104 ลบ.ม. ต่อวัน ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้น้ำบาดาลที่ระดับความลึกระหว่าง 200-400 เมตร และมีแนวโน้มที่จะใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นในอนาคต

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวอีกว่า ในการนี้ ได้มอบหมายให้นักวิชาการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจพื้นที่ใน จ.สมุทรสาคร เพื่อค้นหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่คุณภาพน้ำดี ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยพัฒนานวัตกรรมด้านการเจาะน้ำบาดาลระดับลึกในตะกอนกรวดทราย โดยใช้เทคนิคทดสอบปริมาณน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำบาดาล พร้อมผนึกข้างบ่อด้วยซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลลงไปผสมกับน้ำบาดาลจืด

จากผลการตรวจสอบชั้นน้ำบาดาล โดยใช้ข้อมูลธรณีวิทยาหลุมเจาะ และข้อมูลธรณีฟิสิกส์หลุมเจาะ พบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในแอ่งย่อยธนบุรี ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 640 ถึง 1,008 เมตร จำนวน 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นตะกอนกรวดทรายแทรกสลับกับชั้นดินเหนียวบาง ๆ แบ่งออกเป็น ชั้นที่ 1 ความลึก 640-705 เมตร, ชั้นที่ 2 ความลึก 715-785 เมตร, ชั้นที่ 3 ความลึก 810-880 เมตร, ชั้นที่ 4 ความลึก 895-935 เมตร และชั้นที่ 5 ความลึกมากกว่า 950 เมตร สามารถแบ่งออกจากชั้นน้ำบาดาลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากถูกปิดทับด้วยชั้นดินเหนียวหนากว่า 140 เมตร ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 500 ถึง 640 เมตร

จึงเป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงข้อมูลชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญของประเทศไทยในรอบ 30 ปี ที่แต่เดิมมีข้อมูลชั้นน้ำบาดาลในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 8 ชั้น ที่ระดับความลึกไม่เกิน 600 เมตร ได้แก่ ชั้นน้ำกรุงเทพ ความลึกประมาณ 50 เมตร, ชั้นน้ำพระประแดง ความลึกประมาณ 100 เมตร, ชั้นน้ำนครหลวง ความลึกประมาณ 150 เมตร, ชั้นน้ำนนทบุรี ความลึกประมาณ 200 เมตร, ชั้นน้ำสามโคก ความลึกประมาณ 300 เมตร, ชั้นน้ำพญาไท ความลึกประมาณ 350 เมตร, ชั้นน้ำธนบุรี ความลึกประมาณ 450 เมตร และชั้นน้ำปากน้ำ ความลึกประมาณ 550 เมตร

ซึ่งการค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ระดับลึกกว่า 1,000 เมตร ในครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนใน ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร กว่า 22,000 คน รวม 10,000 ครัวเรือน มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญจะเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นการผลิตของภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มความมั่นคงทางด้านทรัพยากรน้ำในเขตอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่การสำรวจเสร็จสิ้นลง ก็จะมีการหารือร่วมกับทางจังหวัดสมุทรสาคร, นายก อบจ.สมุทรสาคร และ อบต.โคกขาม เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบต่อไป และอนาคตยังจะมีการขยายไปยังพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม กับ จ.สมุทรปราการอีกด้วย เพื่อให้เขตการบริหารจัดการน้ำบาดาลเป็นไปอย่างครอบคลุมในพื้นที่เป้าหมาย ส่วนการค้นพบแหล่งน้ำบาดาลแหล่งใหม่ที่ลึกที่สุดในประเทศไทยที่ จ.สมุทรสาคร นี้ ก็ได้มอบหมายให้มีการนำตะกอน กับ น้ำในชั้นที่ 9 ถึง 13 ไปตรวจสภาพเพิ่มเติมด้วย เพื่อหาอายุของตะกอนดินกับน้ำที่พบ

ขณะที่ นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สำหรับน้ำบาดาลนั้นมีความจำเป็นกับภาคอุตสาหกรรมใน จ.สมุทรสาครมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งการที่ได้แหล่งน้ำบาดาลใหม่นี้นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะที่ผ่านมาเราถูกจำกัดการใช้น้ำ แต่การที่ค้นพบแหล่งใหม่นี้ก็จะทำให้เรามีน้ำใช้ได้มากยิ่งขึ้นตามความจำเป็นของแต่ละอุตสาหกรรม และชั้นน้ำระดับ 1,000 เมตรนี้ ก็น่าจะเป็นน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ส่วนชั้นน้ำด้านบนที่มีคุณภาพดีก็เหมาะแก่การอุปโภคบริโภค ดังนั้นการขุดพบแหล่งน้ำใหม่นี้จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า จากการเปรียบเทียบกับข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน และการสะสมตัวของตะกอนพบว่า แอ่งย่อยธนบุรีรองรับด้วยหินควอร์ตไซต์ ที่เริ่มแยกตัวในช่วงประมาณ 30 ล้านปีก่อน ถึงประมาณ 5 ล้านปีก่อน ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้เกิดแอ่งสะสมตัวของตะกอน สภาพแวดล้อมโดยรวมเป็นการตกสะสมตัวของตะกอนน้ำพาที่มีการขึ้นลงของระดับน้ำทะเลตลอดเวลา ซึ่งการรุกล้ำของน้ำทะเลทำให้สภาพแวดล้อมบนบกเปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพแวดล้อมแบบที่ราบตะกอนน้ำพา (23 ล้านปีก่อน) การตกสะสมตัวของตะกอนทางน้ำ (16 ล้านปีก่อน) และการตกสะสมตัวของธารน้ำปัจจุบันในยุคเมื่อประมาณ 2 ล้านปี ทำให้เกิดเป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล และคาดว่าจะมีน้ำบาดาลสะสมตัวอยู่ในปริมาณมหาศาล นอกจากนี้ยังพบอุณหภูมิออนเซ็น (Onsen) ในชั้นที่ 7 ระดับความลึกประมาณ 425 เมตร ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมเรื่องของการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ให้แก่ ต.โคกขาม และ จ.สมุทรสาครได้ อย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *