นายก ว.ส.ท. คาดสะพานกลับรถถล่ม คานหลักรับน้ำหนักแผงกันตกไม่ไหว อธิบดี ทล. สั่งรื้อคานคืนผิวจราจร

นายกวิศวกรรมสถานฯ ลงพื้นที่สะพานกลับรถวิภารามอีกครั้ง ชี้สาเหตุรื้อผิดขั้นตอน ไปรื้อพื้นก่อนแผงกันตก ทำคานหลักรับน้ำหนักไม่ไหวร่วงลงมา ด้านอธิบดีกรมทางหลวงสั่งรื้อคาน 4 ตัวที่เหลือออกให้หมด เพื่อเปิดการจราจรทางหลัก คาดดำเนินการเสร็จเที่ยงพรุ่งนี้ (3 ส.ค.)

วันนี้ (2 ส.ค.) เวลา 12.00 น. ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) นำคณะลงพื้นที่มาตรวจสอบบริเวณสะพานกลับรถ ถ.พระราม 2 กม.34 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ บริเวณหน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร หลังจากเกิดอุบัติเหตุแผ่นปูนหล่นลงมาทับรถยนต์ 3 คัน จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ รศ.ศิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพของสะพานกลับรถมาแล้วเมื่อวานนี้ (1 ส.ค.)

โดยทางด้าน ดร.ธเนศ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพเห็นสภาพชำรุดที่คงค้างอยู่ แต่ไม่เห็นตัวคานหลัก (I-Girder) ที่ร่วงลงมา เพราะมีการย่อยไปแล้วเพื่อไม่ให้เกะกะการจราจร ดังนั้นจะเห็นเฉพาะคานด้านบนและเหล็กที่คงค้างอยู่ในสภาพนี้เท่านั้น ปกติทางวิศวกรรมสถานฯ ลงพื้นที่มาดูว่า 1. เหตุผลเบื้องต้นน่าจะเกิดจากอะไรได้บ้าง 2. เรื่องความปลอดภัยของประชาชนสัญจรพื้นที่บริเวณนี้มีความเสี่ยงแค่ไหน 3. พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำการแก้ไขตรงนี้อย่างไร และ 4. มีสะพานกลับรถตัวอื่นอีกไหมที่จะเป็นลักษณะแบบนี้ ซึ่งจะได้ป้องกันและแก้ไขได้  

ประเด็นแรก การซ่อมสะพานจุดนี้ มีลักษณะของการที่มีพื้นวางอยู่บนคานหลัก และระหว่างคานหลักมีคานซอยเป็นตัวยึด การก่อสร้างโดยทั่วไปเราต้องสร้างจากด้านล่างขี้นด้านบน ทำนองเดียวกันถ้าจะรื้อบ้านรื้ออาคาร ต้องรื้อจากด้านบนก่อน ซึ่งประเด็นหลักคือแผงกันตก (Parapet) หรือที่เรียกว่าตัวบังเกอร์กันรถร่วง น่าจะเป็นตัวท้าย ๆ ที่ติดตั้งตอนก่อสร้าง เพราะฉะนั้นต้องคำนึงว่าควรรื้อตัวนี้ก่อน แล้วค่อยไล่เป็นสเต็ปลงมาจนถึงพื้น แต่เท่าที่เห็นน่าจะมีระดับของการรื้อที่พื้นก่อน มีโอกาสเป็นเช่นนี้เพราะเราไม่ได้เห็นด้วยตา แต่ลักษณะเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นตัวคานยึดที่เคยถูกทับด้วยพื้นก็เป็นอิสระ คานหลักตัวริมปรากฏว่ามีตัวยื่นออกไปก็คือแผงกันตก แต่ตัวแผงกันตกน้ำหนักที่ลงมันไม่ได้ลงกับคานโดยตรง เพราะมันเคยมีตัวเชื่อมอยู่ประสาน ปรากฏว่าตัวนี้หลุดออกไป หรือมีแต่มันไม่พอ ตรงนี้เองทำให้น้ำหนักลงไม่ตรงกับตัวรับก็คือคานหลัก ก็เกิดการบิดคาน คานก็ร่วง เพราะเนื่องจากตัวยึดเหล็กอาจจะรับได้ไม่พอ เราต้องยอมรับตรงนี้ไว้ เราเรียกว่า Possible Force หรือสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นทุกครั้งเวลาเราได้พูดกันทางวิศวกรรม เราจึงได้บอกว่ามาดูทางกายภาพเบื้องต้น เพื่อเราจะได้ศึกษาในเชิงลึก

ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องความปลอดภัยของประชาชน เราจะต้องปิดกั้นการจราจรและจะดำเนินการถอดและให้รื้อคาน 4-5 ตัวออก เพื่อการสัญจรประชาชนมีความคล่องตัว ไม่ต้องกังวลว่าคานจะร่วง ประเด็นที่ 3 ถ้ามีโครงการอื่นจะต้องทำสะพานอื่นโดยตลอดช่วงเส้นทางนี้ ประมาณ 16 สะพาน ถ้ามีสะพานอื่นจะต้องทำ คราวนี้ขั้นตอนในการทำเราต้องไล่ตามระบบให้ถูกต้อง ว่าถอดตัวไหนออกก่อน ส่วนประเด็นสุดท้าย จะต้องทำการกั้นพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้รอดพ้นจากรัศมีโดยการเอาคานออก และที่สำคัญ ตรวจสอบโครงสร้างโดยทีมวิศวกรรมสถานฯ และกรมทางหลวง มาช่วยกันดูเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ขณะเดียวกัน นายประลองยุทธ์ กสิวงศ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร เปิดเผยว่า นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้สั่งการให้ดำเนินการรื้อคานสะพานที่เหลืออยู่อีก 4 ตัว บนสะพานกลับรถ ถ.พระราม 2 กม.34 ออกให้หมด เพื่อเปิดการจราจรบน ถ.พระราม 2 ช่องทางหลัก โดยให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดในวันนี้ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของพี่น้องประชาชนผู้ใช้ทาง ส่วนการซ่อมแซมสะพานกลับรถตามแผนงานเดิมที่วางไว้นั้น หลังจากที่รื้อคานสะพานแล้วเสร็จ จะต้องตรวจสอบสภาพตามหลักวิศวกรรมอีกครั้ง ให้มั่นใจว่าโครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อความปลอดภัย

ต่อมาเมื่อเวลา 17.30 น. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) พร้อมด้วยนายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีฝ่ายดำเนินงานฯ นายพรพรต สุริยนต์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 และนายสมบัติ ประภพรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อเตรียมการรื้อคานสะพานกลับรถ ถ.พระราม 2 กม.34 บริเวณหน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร เพื่ออำนวยสะดวกและความปลอดภัยด้านการจราจร ก่อนคืนผิวการจราจรให้ผู้ใช้ทางสัญจรได้เป็นปกติ สำหรับขั้นตอนการรื้อคานสะพานจะเริ่มขึ้นคืนนี้เวลาประมาณ 21:00 น. โดยเริ่มจากการสกัดและตัดราวสะพาน หลังจากนั้นจะใช้รถเครนขนาด 200 ตัน ยกคานลง แล้วทำการขนย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมตรวจสอบความสะอาดและความปลอดภัยก่อนคืนผิวการจราจร คาดว่าประชาชนจะสามารถเดินทางได้ตามปกติในช่วงเที่ยงวันของพรุ่งนี้ (3 ส.ค.)

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *