กมธ.สิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาบ่อบาดาลลึก 1,008 ม. วัดสหกรณ์ฯ สมุทรสาคร

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง (ระยะที่ 3) ในระดับความลึก 1,000 เมตร ณ วัดสหกรณ์โฆษิตาราม จ.สมุทรสาคร ให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรม เข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาลในการอุปโภคบริโภค

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 ม.ค. 66 คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการศึกษาสำรวจแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง (ระยะที่ 3) ในระดับความลึก 1,000 เมตร ณ วัดสหกรณ์โฆษิตาราม ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล, นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ทสจ.สมุทรสาคร, ร.ต.ประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร, นายอนุสรณ์ สุขรุ่งเรือง นายก อบต.โคกขาม รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีการเจริญเติบโตในภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP สูงเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ มีการเปิดโรงงานแห่งใหม่อย่างต่อเนื่องและส่วนใหญ่ใช้น้ำบาดาลในการประกอบกิจการ จากสถิติการใช้น้ำบาดาลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นกว่า 5,300 ลบ.ม. ต่อวัน หรือกว่า 1.9 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และมีแนวโน้มของการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งผลให้เกิดการแย่งใช้น้ำที่อยู่ในระดับชั้นน้ำบาดาลเดียวกัน

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการค้นหาชั้นน้ำบาดาลใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้ำบาดาลที่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค สร้างความมั่นคงและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมสามารถนำข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาล ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการผลิตต่อไป

โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ 1. ศึกษาสภาพธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน, 2. วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเพื่อกำหนดจุดเจาะสำรวจ, 3. เจาะสำรวจบ่อที่ระดับความลึก 1,008 เมตร พร้อมเก็บตัวอย่างดิน หิน ทุก ๆ 1 เมตร และวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำโคลนที่ใช้ในการเจาะ, 4. หยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ เพื่อตรวจสอบชั้นดินชั้นหินที่ ระดับความลึกต่าง ๆ จนถึงระดับความลึก 1,008 เมตร, 5. เก็บตัวอย่างน้ำบาดาลด้วยวิธี Packer Test เพื่อคัดเลือกขั้นน้ำที่ดีที่สุด และ 6. ก่อสร้างบ่อน้ำบาดาล

นายธัญญา กล่าวอีกว่า ผลการตรวจสอบชั้นน้ำบาดาล ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม จ.สมุทรสาคร พบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในแอ่งย่อยธนบุรี ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 640-1,008 เมตร จำนวน 5 ชั้น แบ่งออกจากชั้นน้ำบาดาลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน โดยที่ระดับความลึก 445-493 เมตร มีปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดกว่า 75 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง และที่ระดับความลึก 956-962 เมตร มีปริมาณน้ำบาดาลกว่า 30 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง ยิ่งน้ำบาดาลทั้งสองชั้นมีคุณภาพน้ำดี อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคได้

การค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการปรับปรุงข้อมูลชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญของประเทศไทยในรอบ 30 ปี ซึ่งเดิมมีข้อมูลชั้นน้ำบาดาลในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 8 ชั้น ที่ระดับความลึกไม่เกิน 600 เมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในท้องที่ ต.โคกขาม กว่า 22,000 คน มีโอกาสใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถนำข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคการผลิตได้ในอนาคต เป็นการส่งเสริมและกระตุ้นการผลิตของภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มความมั่นคงทางด้านทรัพยากรน้ำในเขตอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ขณะที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า หน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 270 ให้ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ซึ่งในด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะมีแผนแม่บทเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

ทีนี้เราก็มาศึกษาดูว่าการขุดบ่อน้ำบาดาลในระดับลึก ซึ่งวันนี้ในประเทศไทยเราทำอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่นและสมุทรสาคร เพื่อมาดูว่าความสำเร็จของการนำน้ำบาดาลจากชั้นใต้ดินลึก 1,000 เมตรมาใช้ ถ้าเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เราก็อาจช่วยผลักดันเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่าให้มีการดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ

ทุกท่านทราบดีว่าประเทศเรามีคำพูดเคยชินว่า “ท่วมซ้ำซาก-แล้งซ้ำซาก” ถ้าเรามีแหล่งน้ำขนาดมหาศาลที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดปี ช่วงน้ำหลาก น้ำเยอะ น้ำก็เติมลงไปตามธรรมชาติ ลงไปในชั้นใต้ดินได้ จะเป็นการเปิดมิติน้ำในรูปแบบใหม่ เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสใช้น้ำได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน ก็เลยนำคณะศึกษาดูงานลงมาดูว่า ถ้าที่นี่ได้ผลดี ก็จะติดตามและเสนอแนะรัฐบาลให้สนใจเรื่องนี้มากขึ้น

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *