2 สส.ก้าวไกลสมุทรสาคร ประชุมสภา วอนแก้ 4 ปัญหาใหญ่พื้นที่กระทุ่มแบน อภิปรายมะพร้าวแกงราคาตกต่ำ

ผู้แทนฯ สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล นำความเดือดร้อนประชาชนหารือ ปธ.สภาฯ “ศิริโรจน์ ธนิกกุล” เขต 2 นำเสนอปัญหาถนนเป็นคลื่น น้ำประปาไหลอ่อน โรงหลอมปล่อยกลิ่นเหม็น และหลักเกณฑ์ใหม่เบี้ยผู้สูงอายุ ขณะที่ “ศิรสิทธิ์ สงนุ้ย” เขต 3 อภิปรายเรื่องปัญหาราคามะพร้าวแกงตกต่ำ

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 66 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร เขต 2 พรรคก้าวไกล ได้ปรึกษาหารือความเดือดร้อนของประชาชนชาว จ.สมุทรสาคร ทั้งหมด 4 เรื่อง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ในญัตติการปรึกษาขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สส.สมุทรสาคร เขต 3 พรรคก้าวไกล ก็ได้อภิปรายขอให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ คือ มะพร้าวแกง

โดย นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร เขต 2 ได้นำเรื่องปรึกษาหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด 4 เรื่อง เพื่อดำเนินการต่อไปยังหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรง ให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน เรื่องที่ 1 ปัญหาคลื่นบนผิวถนนพุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นอกจากเป็นคลื่นแล้วยังผุพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ต้องซ่อมแบบปะหน้าอยู่ตลอด กลางคืนก็มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยสำหรับผู้ใช้ถนนเส้นนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ จึงเรียนประธานสภาฯ ผ่านไปยังกระทรวงคมนาคม ให้เร่งแก้ไขตามกรอบงบประมาณโดยด่วน

เรื่องที่ 2 ปัญหาน้ำประปาไหลน้อย ไหลช้า ในพื้นที่หมู่ 3, 4, 5 และ 7 ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน เป็นความเดือดร้อนที่ชาวบ้านต้องประสบมาเป็นเวลานาน จึงเรียนประธานสภาฯ ผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งดำเนินการตามกรอบงบประมาณ ส่งต่อไปยังการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร เพื่อแก้ไขปัญหาในการขยายท่อประปา และเพิ่มแรงดันน้ำให้แรงขึ้น และเพียงพอต่อการใช้งานของพี่น้องประชาชน

เรื่องที่ 3 ปัญหาโรงงานหลอมโลหะส่งกลิ่นเหม็นเป็นเวลานานใน ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน ชาวบ้านต้องทนทุกข์ทรมานกับการประกอบกิจการที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม โรงงานแห่งนี้มักจะปล่อยกลิ่นเหม็นอยู่ตลอดเวลาเดินการผลิต ถูกสั่งปิดชั่วคราวมาแล้วหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไข แต่ก็มีการลักลอบดำเนินการผลิตอยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งตอนกลางคืน จึงเรียนปัญหาผ่านประธานสภาฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร และท้องถิ่น ให้เร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนที่สุด

เรื่องสุดท้าย ระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาใหม่ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนที่อายุ 60 ปี และได้รับอย่างเท่าเทียมกัน หากต้องให้ผู้สูงอายุมานั่งพิสูจน์ความจนกันอยู่กับเกณฑ์ที่เปลี่ยนใหม่นั้น เกรงว่าอาจจะมีผู้สูงอายุอีกหลายคนที่ต้องตกหล่นในการมีเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้ และไม่ตอบโจทย์กับผู้สูงอายุ ในสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ จึงเรียนประธานสภาฯ ไปยัง รมว.มหาดไทย คนใหม่ ให้ทบทวนระเบียบที่ออกมาใหม่นี้ด้วย ทั้งนี้ นายศิริโรจน์ ได้นำเสนอสไลด์เป็นภาพของน้ำพริกนรก พร้อมกล่าวว่า “นรกอาจจะไม่ใช่ชื่อน้ำพริกอีกต่อไป อาจจะเป็นสถานที่สุดท้ายของกลุ่มคนที่จ้องจะเอาเปรียบประชาชน กลุ่มคนที่จ้องจะเอาเปรียบแม้กับผู้สูงอายุ”

ขณะที่ในญัตติการปรึกษาขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ นายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สส.สมุทรสาคร เขต 3 ได้นำเรื่องปรึกษาหารือกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมฯ โดยนายศิรสิทธิ์ ได้ขอร่วมอภิปรายในเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ พร้อมกล่าวถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวแกงทั่วประเทศ ที่ราคาผลผลิตตกต่ำเป็นอย่างมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมาจากการระบาดของศัตรูพืชในปี 53-56 และภัยแล้งในปี 58-59 ทำให้ผลผลิตมะพร้าวของไทยกำลังฟื้นตัวกลับเข้ามาแบบช้า ๆ

ปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจของเกษตรกรคือราคามะพร้าว แต่กลับมีความผันผวนสูงมาก ทั้งที่ประเทศเราก็สามารถส่งออกมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้ แต่เรามีมะพร้าวเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการมะพร้าวในประเทศเท่านั้น สถานการณ์ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ส.ค. 66 ราคามะพร้าวอยู่ที่ 7.83 บาทต่อผล ลดลงจาก 16.56 บาทต่อผลเมื่อเดือน ม.ค. 64 ส่วนต้นทุนการผลิตตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อยู่ที่ 7.30 บาทต่อผล หรืออาจมากกว่านี้ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมะพร้าวเท่ากับ 827 ผลต่อไร่ต่อปี เพราะฉะนั้นแล้วหากมะพร้าวยังราคานี้อยู่ ผลตอบแทนของชาวสวนมะพร้าวจะเท่ากับ 438.3 บาทต่อไร่ต่อปี อีกทั้งข้อมูลจากสถิติบอกว่า ชาวสวนมะพร้าว 167,000 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวเฉลี่ยครัวเรือนละ 14.91 ไร่ เพราะฉะนั้นแล้ว ณ ราคามะพร้าว 7.83 บาทต่อผล ชาวสวนมะพร้าวจะมีผลตอบแทนเพียง 2,152 บาทต่อครัวเรือนต่อปีแค่นั้น

นายศิรสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ราคามะพร้าวในประเทศเคลื่อนไหวขึ้นลงเป็นฤดูกาล สัมพันธ์กับปริมาณผลผลิตในประเทศในแต่ละเดือนประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ โดยราคามะพร้าวจะลดลงในช่วงเดือน มี.ค. – ส.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามาก โดยผลผลิตจะออกมาสูงสุดในเดือน มิ.ย. ของทุกปี ส่วนราคามะพร้าวจะสูงสุดในช่วงเดือน ธ.ค. – ม.ค. ของทุกปี ส่วนปริมาณการใช้ในแต่ละเดือนนั้น ทั้งใช้ในประเทศและส่งออกค่อนข้างสม่ำเสมอกัน โดยในช่วงที่ราคาผลผลิตในประเทศสูงในเดือน ธ.ค. – ม.ค. จะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ เช่น กะทิสำเร็จรูป ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. เลยไปจนถึงเดือน เม.ย. ของแต่ละปี

ปริมาณนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ในช่วงเดือน ธ.ค. – เม.ย. จะกดดันให้มะพร้าวของชาวสวนที่ทยอยออกในเดือน มี.ค. เป็นต้นมานั้น ขายออกยากและราคาตกต่ำลง ปริมาณนำเข้าเฉลี่ย 3 เดือน ยิ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผลผลิตรายเดือนในประเทศนั้นเพียง 64 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่ควรจะจัดการให้สวนทางกัน หมายถึงว่าผลผลิตในประเทศลดลงจึงค่อยนำเข้ามากขึ้น และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคามะพร้าวนั้นผันผวนขึ้น ยิ่งเมื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 ลดลงจากครึ่งปีแรกของปี 65 ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ราคามะพร้าวปีนี้จึงยิ่งตกต่ำลง

นายศิรสิทธิ์ ได้กล่าวข้อเสนอแนะ 6 ข้อ ในการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ ได้แก่ 1. กำหนดราคาเป้าหมายในการบริหารจัดการให้อยู่ที่ระดับ 15 บาท/ผล และเพิ่มผลผลิตมะพร้าวให้ได้ 1,000 ผล/ไร่, 2. เพื่อให้ได้ชาวสวนมีผลตอบแทนสุทธิในระดับ 8,000 บาท/ไร่ (ไม่ใช่ 438 บาท/ไร่) และ 40,000 บาท/ครอบครัว/ปี (ไม่ใช่ 2,150 บาท/ครัวเรือน/ปี เช่นปัจจุบัน), 3. จัดการการนำเข้ามะพร้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรลด/หลีกเลี่ยงการนำเข้ามะพร้าวในช่วงเดือน มี.ค. – มิ.ย. เพื่อมิให้กดดันราคามะพร้าวในประเทศ,

4. ควบคุมการเคลื่อนย้ายมะพร้าวนำเข้า ให้อยู่ในพื้นที่ที่มีนำเข้ามาเพื่อการแปรรูปและส่งออกเท่านั้น เพื่อมิให้กระทบกับราคามะพร้าวในประเทศ, 5. เข้มงวดกับเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยพืชในการนำเข้า เพื่อมิให้เกิดปัญหาศัตรูพืชระบาดในมะพร้าวเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน และ 6. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันมะพร้าว ไม่ใช่ผู้ส่งออกอย่างที่บางคนอาจเข้าใจผิด

ทั้งนี้ ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวแกงทั่วประเทศ และพี่น้องที่เลี้ยงกุ้งขาวที่ราคาตกต่ำลง ตนก็อยากฝากทางสภาผู้แทนราษฎร และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนนี้อย่างเร่งด่วน

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *