ก.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่สมุทรสาคร ลุยปฏิบัติการสุดซอย ตรวจเข้มข้นโรงงานไม่รายงานข้อมูลตามกฎหมาย

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร ออกปฏิบัติการสุดซอย ตรวจโรงงานไม่รายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบ i-Industry และ iSingleForm แบบบูรณาการ 4 ด้าน “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ในพื้นที่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

วันนี้ (25 ก.ย.) นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและทางจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นในพื้นที่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตลวดเหล็ก และโรงงานผลิตพลาสติก ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกปฏิบัติการ “สุดซอย” ตรวจเข้มโรงงานนอกกรอบไม่รายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการลงทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) และระบบการรายงานข้อมูลกลาง (iSingleForm) โดยลงตรวจโรงงานแบบบูรณาการ “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ซึ่งโรงงานทั้ง 2 แห่ง พบว่าไม่มีการรายงานผ่านระบบดังกล่าวมาแล้ว 2 ปี

สำหรับการลงพื้นที่ปฏิบัติการ “สุดซอย” ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ คือ การใช้ทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบโรงงานอย่างละเอียดเข้มข้นแบบสุดซอยครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้กฎหมายของกระทรวงฯ ทั้ง 4 ด้าน คือ “ดิน” กำกับดูแลโรงงานเพื่อควบคุมการดำเนินการเรื่องกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง “น้ำ” กำกับการระบายน้ำออกนอกบริเวณโรงงานเพื่อดูแลแม่น้ำลำคลองและพื้นที่โดยรอบ “ลม” กำกับดูแลการปล่อยมลพิษทางอากาศของโรงงาน การลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และ “ไฟ” กำกับดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ในโรงงาน ตรวจสอบอุปกรณ์ภายในโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งหากพบความผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายทันที โทษร้ายแรงถึงขั้นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ

ขณะที่ผลจากการเข้าตรวจโรงงานทำลวดเหล็กที่ขาดการรายงาน 2 ปีติดต่อกันนี้ แม้จะยังไม่พบการกระทำผิดทั้ง 4 ด้าน  แต่พบความผิดฐานไม่รายงานเรื่องของการขนกากอุตสาหกรรม หรือฝุ่นเหล็กออกนอกโรงงาน ผ่านระบบ i-Industry และระบบ iSingleForm ซึ่งก็เบื้องต้นจะมีการแนะนำสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรายงานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด และเสียค่าปรับ แต่หากพบความเพิกเฉยยังไม่รายงานหรือกระทำผิดซ้ำก็ต้องดำเนินการโทษขั้นสูงตามกระบวนการทางกฎหมาย

ซึ่งแต่เดิมที่ผ่านมานั้นเคยมีการปรับสูงสุดอยู่ที่ 200,000 บาท แต่มาในปีนี้ได้มีการพิจารณาโทษปรับใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจจะละเลยการรายงานในลักษณะนี้ โดยมีอยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์จากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ  ส่วนในการตรวจสอบเชิงลึกทั้ง 4 ด้านที่โรงงานแห่งนี้ ก็จะต้อรอผลการตรวจสอบ  ซึ่งหากพบการกระทำความผิดมีการประกอบการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการตามกฎหมายของการประกอบกิจการและลงโทษอย่างจริงจังทันที 

นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับเป้าประสงค์หลักของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นให้โรงงานหรือสถานประกอบการทุกแห่งทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เกิดจิตสำนึกมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการรายงานผลการปฏิบัติงานในแต่ละปี ผ่านระบบ i-Industry และระบบ iSingleForm มากกว่าการมุ่งจับปรับดำเนินการตามกฎหมาย

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *