เวทีสภาประชาชนสมุทรสาคร เสวนาประเด็นผังเมือง โลจิสติกส์ และการคมนาคมของจังหวัดฯ

ดร.วิชาญ-วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มช. จัดเสวนาเวทีสภาประชาชนสมุทรสาคร ครั้งที่ 2 “ผังเมืองและระบบ Logistics ของจังหวัดสมุทรสาคร” ร่วมหารือเกี่ยวกับผังเมือง ระบบโลจิสติกส์ และการคมนาคมขนส่ง

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 ก.พ. 2567 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จังหวัดสมุทรสาคร ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ได้มีการจัดเสวนาเวทีสภาประชาชนสมุทรสาคร ครั้งที่ 2 : “ผังเมืองและระบบ Logistics ของจังหวัดสมุทรสาคร” โดยมี ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาภาควิชาชีพ ในฐานะกรรมการอำนวยการประจำวิทยาลัยฯ และ ผศ.ดร. ม.ล.ญาศินี จักรพันธุ์ รองคณบดีวิทยาลัยฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา มีนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร เขต 1 และนายศิรสิทธิ์ สงนุ้ย สส.สมุทรสาคร เขต 3 นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน สำหรับการเสวนากันในครั้งนี้ เป็นการร่วมพูดคุยกันในประเด็นผังเมือง ระบบโลจิสติกส์ ระบบการคมนาคมขนส่ง รวมถึงทิศทางการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของชาวสมุทรสาคร

ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาภาควิชาชีพ กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าเรามองภาพของจังหวัดสมุทรสาครวันนี้มีอยู่ 2-3 ประเด็น ได้แก่ มิติทางราชการ คือในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดฯ มีตัวเลขจำนวนประชากรที่เป็นคนไทยอยู่ประมาณ 5.4 แสนคน มองเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่พอเอาข้อเท็จจริงมาใส่ มีประชากรแฝงเป็นคนไทยต่างถิ่นถึง 3 แสนคน และประชากรต่างด้าว 4 แสนคน เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งสาธารณูปโภคหรือถนนหนทางก็ดี ก็จะจัดงบประมาณให้เท่ากับประชากรเพียง 5.4 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องบอกทางจังหวัดสมุทรสาคร ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาให้ทั่วถึงประชากรทั้ง 1.2 ล้านคน ซึ่งการพัฒนาผังเมืองและระบบโลจิสติกส์นั้นจะต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่

ประเด็นที่ 2 จังหวัดสมุทรสาครเป็นทางผ่าน สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่จะใช้เส้นทางไปภาคใต้และภาคตะวันตก เมื่อเทียบกันระหว่างเส้นทาง ถ.เพชรเกษม คนก็ยังใช้ ถ.พระราม 2 มากกว่า ทั้ง ๆ ที่ทุกคนรู้ว่าในตอนนี้มีปัญหารถติดและมีอันตรายจากการก่อสร้าง และเท่าที่ตนค้นคว้า ถ.พระราม 2 นับหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เปิดใช้ปี พ.ศ. 2516 ตั้งแต่เปิดใช้งานจนถึงตอนนี้ 50 ปีมาแล้วก็ยังสร้างไม่หยุด โดยเฉพาะทางยกระดับพระราม 2 ต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกราว 2-3 ปี และถ้าเสร็จแล้วจังหวัดสมุทรสาครจะได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ หลายคนอาจจะเปรียบเทียบกับ ถ.บางนา-ตราด กับทางยกระดับบูรพาวิถี ซึ่งถนนข้างล่างไม่มีการพัฒนาใด ๆ เลย ต่อไปทางยกระดับพระราม 2 ก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน อีกทั้งจะทำให้จังหวัดสมุทรสาครจากเดิมที่เป็นเมืองเปิดกลายเป็นเมืองปิด เป็นแค่ทางผ่าน เป็นโจทย์ว่าตรงนี้จังหวัดสมุทรสาครจะเก็บเกี่ยวอย่างไร กับทางยกระดับพระราม 2 โครงการคมนาคมที่จะวิ่งข้ามหัวเราไป

และประเด็นที่ 3 ในฐานะที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองที่พัฒนาตนเอง และที่ผ่านมาพัฒนาตามยถากรรม เรามีเศรษฐกิจติด 1 ใน 5 ของประเทศตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากเลี้ยงตัวเองได้ก็ยังเลี้ยงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างจังหวัดสมุทรสาคร 3 อำเภอ เมื่อเทียบกับจังหวัดเชียงใหม่ แค่อำเภอเมืองสมุทรสาครแห่งเดียว เศรษฐกิจดีกว่าเชียงใหม่ทั้ง 28 อำเภอ และในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร เศรษฐกิจดีกว่าเมื่อเทียบกับจังหวัดสุพรรณบุรีทั้งจังหวัด แต่เมื่อมองการพัฒนาเมื่อเทียบกับจังหวัดเชียงใหม่และสุพรรณบุรีแล้ว จังหวัดสมุทรสาครกลับแทบไม่ไปไหนเลย ดังนั้นจึงอยากจะหารือให้เรากลับมามองตัวเองว่า เราพอใจหรือไม่กับการพัฒนาที่ผ่านมา ถ้าไม่พอใจเราจะทำอย่างไร

อีกทั้งยังมีหลายโครงข่ายการพัฒนาที่เราฝันไว้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-มหาชัย ที่ทุกคนเริ่มเห็นโครงการฯ มาเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่วันนี้คำว่า “มหาชัย” มันหายไป โอกาสที่รถไฟฟ้าสายสีแดงจะมาถึงมหาชัยแทบจะเป็นศูนย์ แม้ข่าวว่าจะมีการปัดฝุ่นโครงการฯ แต่ความเป็นไปได้ลำบาก เพราะจะต้องสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ใช้งบประมาณมหาศาล และเดิมโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟสายใต้ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี แต่ตอนนี้ทางรถไฟสายใต้ได้มีการพัฒนาเป็นรถไฟรางคู่ ย่นระยะเวลาเดินทางจากเดิม จึงไม่มีความจำเป็นจะสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ สมุทรสาคร ถึงปากท่อ ดังนั้นที่จังหวัดสมุทรสาครเคยคิดจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโครงการนี้ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อย่างสะดวกก็อาจจะเลือนหายไป

ทั้งนี้ ในการเสวนาเวทีสภาประชาชนสมุทรสาคร ครั้งที่ 2 ผู้เข้าร่วมงานได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับผังเมือง การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ ของจังหวัดสมุทรสาครที่ยังมีปัญหามากมาย อาทิ ผังเมืองของจังหวัดฯ ที่ยังไม่มีการขยับเปลี่ยนแปลง, โครงการเส้นทางเชื่อม 3 สมุทร ทั้งโครงการพระสมุทรเจดีย์ที่มีการเปลี่ยนแผน และโครงการเส้นทางริเวียร่าสามสมุทรที่ยังไม่ได้ข้อสรุป, สะพานข้ามคลองมหาชัยที่มีเพียงแค่แห่งเดียว ซึ่งประชาชนต้องการเส้นทางถนนผังเมืองและสะพานในพื้นที่เพิ่มเติม, เสนอให้มีการสร้างอุโมงค์ลอด ถ.พระราม 2 บริเวณแยกต่างระดับสมุทรสาคร, เสนอให้สร้างสะพานกลับรถ ถ.พระราม 2 บริเวณตลาดทะเลไทย สำหรับรถบรรทุกที่จะเข้าเส้นทาง ถ.วิเชียรโชฎก,

รวมถึงสะท้อนปัญหาการตั้งโรงงานประเภทหล่อหลอมหรือโรงงานที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีกฎหมายบางฉบับเอื้อไว้อยู่, เสนอให้มีการสร้างรถไฟรางเบาเชื่อมต่อเขตกรุงเทพฯ, เสนอแนะการแก้ปัญหาการจราจรในตลาดมหาชัย โดยการจัดโซนนิ่งเรื่องเวลาในชั่วโมงเร่งด่วน และสร้างจิตสำนึกระเบียบให้ประชาชน เช่น การจอดรถริมถนน, การแก้ปัญหาการจราจร ถ.เศรษฐกิจ 1, เสนอให้ขยายถนนซอยที่เชื่อมระหว่าง ถ.เศรษฐกิจ 1 ถ.เลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ กับ ถ.พระราม 2 ซึ่งมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานขยายตัวเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ทั้งนี้ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากเวทีเสวนาฯ จะได้มีการนำไปรวบรวมและเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *