วิทยาลัยฯ การจัดการทางทะเล มช. เปิดเวทีเสวนา “สุขาภิบาลในเมืองอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร”

วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มช. จัดเสวนาเวทีสภาประชาชนสมุทรสาคร ครั้งที่ 3 “สุขาภิบาลในเมืองอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร” เชิญ 3 วิทยากรร่วมอภิปรายประเด็นการสุขาภิบาลในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการจัดเสวนาเวทีสภาประชาชนสมุทรสาคร ครั้งที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 119 ปี สุขาภิบาลท่าฉลอม ในหัวข้อ “สุขาภิบาลในเมืองอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร” ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฯ ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดย ผศ.ดร. ม.ล.ญาศินี จักรพันธุ์ รองคณบดีวิทยาลัยฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง

สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ได้เชิญวิทยากร ประกอบด้วย นายอภิชน ส่งสุข หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นางสุภาพ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ทสจ.สมุทรสาคร และนายรัชตพล มีลาภ หัวหน้างานอาหารปลอดภัย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องของการสุขาภิบาล (sanitation) ซึ่งในปัจจุบัน คือ การระวังรักษาเพื่อความปราศจากโรค โดยมุ่งทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รักษา และควบคุมสภาพของสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพดี เพื่อการอยู่ร่วมกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกันที่ดี รวมถึงเรื่องของสุขาภิบาลในโรงงานภาคการผลิต ใน จ.สมุทรสาคร ที่มีทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตรขนาดใหญ่รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะการผลิตอาหาร

นายอภิชน ส่งสุข หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เมื่อย้อนไปในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีกระทรวงสาธารณสุข งานสาธารณสุขอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และมีกฎหมายสาธารณสุขดั้งเดิมร่างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2480 จนกระทั่งปัจจุบันมี พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 คอยดูแลความสะอาด สภาพความเป็นอยู่ต่าง ๆ ของประชาชน ปัจจุบันงานสุขาภิบาลได้มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ที่จริงสุขาภิบาลมีอีกชื่อหนึ่งในยุคสมัยใหม่ คือ “อนามัยสิ่งแวดล้อม” คือสิ่งแวดล้อมที่มีผลของสุขภาพต่อประชาชน

ปัจจุบัน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีอำนาจเต็ม แต่กฎหมายฉบับนี้ได้กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ใช้อำนาจที่เกี่ยวพันในเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ภาพรวม และกำหนดข้อวิชาการ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดูแลทั้งเรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ การเปิดร้านจำหน่ายอาหาร ไปจนถึงการดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นเรื่องของการสุขาภิบาลในเมืองอุตสาหกรรม โดยหลักเบื้องต้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจเต็มตามกฎหมายเป็นผู้ดูแลและแก้ปัญหาเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก

ทางด้าน นายรัชตพล มีลาภ หัวหน้างานอาหารปลอดภัย กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สมุทรสาครเป็นจังหวัดเล็ก มี 3 อำเภอ แต่มีโรงงานมากกว่า 6,000 แห่ง โดยเฉพาะโรงงานผลิตอาหารมีมากกว่า 2,000 แห่ง ส่วนหนึ่งมาจากกิจการต่อเนื่องประมง ตนอยู่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับ อย. เป็นหลัก จึงขอฝากกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มต่าง ๆ ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ต้องขอใบอนุญาต อย. ให้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ให้สนิท มีฉลากระบุวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุให้เรียบร้อย อีกเรื่องหนึ่งคือ กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เมื่อก่อนใครอยากจะเปิดร้านขายอาหารอย่างไรก็ขายได้ แต่ตอนนี้ร้านอาหารขนาดใหญ่พื้นที่เกิน 200 ตร.ม. ต้องมีใบอนุญาตร้านอาหาร ส่วนร้านขายอาหารขนาดเล็ก ต้องมีหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ซึ่งออกให้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงต้องผ่านการอบรมเรื่องสุขาภิบาลอาหารด้วย

ขณะที่ นางสุภาพ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ทสจ.สมุทรสาคร กล่าวว่า เรื่องมลพิษทางอากาศใน จ.สมุทรสาคร ที่พบเจอส่วนใหญ่เป็นฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะเกิดเฉพาะช่วงฤดูฝุ่นประมาณเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยสามารถตรวจเช็กคุณภาพอากาศได้ที่แอปฯ Air4Thai และยังมีปัญหาน้ำเสียที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ และส่วนหนึ่งมาจากชุมชน ซึ่งสามารถผลิตน้ำเสียได้ถึง 180 ลิตรต่อคนต่อวัน สิ่งที่ตนอยากให้ประชาชนช่วยกันผลักดัน คือการให้ท้องถิ่นต่าง ๆ  สร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน เพราะส่วนหนึ่งจะช่วยบำบัดน้ำเสียจากชุมชนส่วนหนึ่ง และโรงงานอีกส่วนหนึ่งไหลลงคลองแล้วลงสู่อ่าวไทย เพราะปัญหาน้ำเสียจะต่อเนื่องไปจนถึงเรื่องของอาหาร เช่น สัตว์น้ำ หรือผัก ผลไม้ เกิดการปนเปื้อนสารพิษจากโรงงาน ซึ่ง จ.สมุทรสาคร เกิดปัญหาเรื่องน้ำเสียมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว และปัจจุบันมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่ง ทางสำนักงาน ทสจ.สมุทรสาคร ได้รับเรื่องร้องเรียนใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง แต่มีข้าราชการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพียงแค่ 3 คน ส่วนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครนั้นมี 7 คน บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.สมุทรสาคร ไม่มี ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเลย และให้ทางปลัดฯ รักษาการแทน จึงขอเรียนให้ทุกคนทราบ ส่วนเรื่องของขยะเป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีประชากรประมาณ 6 แสนคน แต่มีแรงงานต่างด้าวและประชากรแฝง รวมแล้วประมาณ 1.2 ล้านคน ทำให้มีขยะเกิดขึ้นประมาณ 1,061 ตันต่อวัน มีบางส่วนถูกคัดแยกออกไปขายเป็นขยะรีไซเคิล บางส่วนถูกนำไปเป็นพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะ ทั้งนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครโดยภาพรวมถือว่าเกิดวิกฤตมากถ้าเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *