“กระทรวงแรงงาน” เปิดเวทีประชาพิจารณ์ “ร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมงฯ”

รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประกอบการเสนอร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมง พ.ศ. … ที่ จ.สมุทรสาคร ให้มีความเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหา ยกระดับสภาพการทำงานในภาคประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2561 เวลา 13.30 น. ที่ภัตตาคารนิวรสทิพย์ ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานประมง พ.ศ. … พร้อมด้วย นายสุเทพ เบญจภาคีสกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมการจัดหางาน และนางดุษณี อัตนโถ นิติกรชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ผู้ประกอบการภาคประมง ผู้แทนภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และนักวิชาการ จำนวนประมาณ 200 คน

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เป็นความตั้งใจของกระทรวงแรงงานและคณะทำงาน จะได้มารับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน ที่จะให้แนวคิด แนวทางต่อการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมงฯ ฉบับนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย และแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงความพยายามของทุกฝ่ายต่อการแก้ไขปัญหา ยกระดับสภาพการทำงานในภาคประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นข้อกังวลและเป็นข่าวเผยแพร่มาโดยตลอด ส่งผลภาพลักษณ์การทำประมงของประเทศไทย

โดยสาระสำคัญของมาตรฐานอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีเนื้อหาสาระที่มีข้อกำหนดพื้นฐานขั้นต่ำเกี่ยวกับการทำงานในเรือประมง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการประมงได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด มีพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างมาก ร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมงฯ ฉบับนี้ก็จะเป็นการกำหนดกรอบมาตรฐานการทำงานในภาคประมงอย่างเป็นระบบครอบคลุมทุกด้าน ทำให้เห็นสภาพการทำงานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 มีหลักคิดว่า การทำประมงในแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกัน จึงมีบทข้อกำหนดที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ สามารถปรึกษาหารือร่วมกับผู้ประกอบการประมงและแรงงานประมง เพื่อให้มีความเข้าใจร่วมกันอย่างถ่องแท้ นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และมีแนวปฏิบัติที่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างสูงที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมง พ.ศ. … ทางเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. – 2 เม.ย. 2561 หลังจากนี้จะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้มีความเหมาะสม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมง พ.ศ. … มีทั้งหมด 68 มาตรา 10 หมวด แบ่งออกเป็น หมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 ความรับผิดชอบของเจ้าของเรือประมง ได้ก๋ง และแรงงานประมง, หมวด 3 ข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับการทำงานบนเรือประมง, หมวด 4 เงื่อนไขการปฏิบัติงาน, หมวด 5 ที่พักอาศัยและอาหาร, หมวด 6 การดูแลทางการแพทย์ การคุ้มครองสุขภาพ และการประกันสังคม, หมวด 7 คณะกรรมการแรงงานประมง, หมวด 8 พนักงานเจ้าหน้าที่ และหมวด 9 การปฏิบัติตามและการบังคับใช้

ซึ่งในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมง ฯ ให้แก้ไขปรับปรุงในบางมาตราเพื่อความเหมาะสม อาทิ มาตรา 7 เกี่ยวกับกฎหมายใช้บังคับแก่เรือประมงที่มีความยาวน้อยกว่า 24 เมตร ออกทำการประมงน้อยกว่า 3 วัน หรือออกเดินเรือในทะเลน้อยกว่า 200 ไมล์ทะเล, มาตรา 32 ที่พักอาศัยและสถานที่อำนวยความสะดวกแก่แรงงานประมง, มาตรา 51 สัดส่วนของผู้แทนภาคประมงในคณะกรรมการแรงงานประมง และมาตรา 59 ข้อกำหนดเรือประมงที่อยู่ในทะเลเกิน 3 วัน

สาครออนไลน์ โดย กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *