ศมส. ชี้สังคมอุตสาหกรรมเปลี่ยนวิถีชุมชนสมุทรสาคร

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เผยผลวิจัยชุมชนลุ่มแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร พบผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ท้องถิ่นเปลี่ยนจากชุมชนเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ส่งผลต่อคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดความขัดแย้งในความคิด-ความเชื่อของคนแต่ละรุ่น

นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส. กล่าวว่า ทางศูนย์ ฯ ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยส่งทีมนักวิชาการและนักวิจัยจัดทำการโครงการศึกษาวิจัยชุมชนในลุ่มแม่น้ำท่าจีนที่ จ.สมุทรสาคร เป็นกรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประวัติศาสตร์ภูมินามและภูมิสังคม เครือข่ายสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ และพิธีกรรมความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้เวลาศึกษา 2 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2548 – ก.ย. 2560

โดยผลการศึกษาพบว่า ชุมชนท้องถิ่นในลุ่มแม่น้ำท่าจีนบริเวณชายฝั่งทะเล มีผู้คนหลากหลายทางชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และสร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ ปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติกลุ่มต่าง ๆ เช่น มอญ พม่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อพยพเข้ามาเป็นลูกจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมประมง สวนผักผลไม้ และโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนเมืองแบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความซับซ้อนของสายสัมพันธ์ทางสังคมและวิถีชีวิตระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลาย

โดยในส่วนที่น่าห่วงคือ คุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลง จากชุมชนที่รู้จักเคารพกติกาของส่วนรวม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักความพอดี ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไป เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้สมาชิกในชุมชนหันไปพึ่งระบบเงินตรามากขึ้น อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งในระบบความคิดและความเชื่อของคนแต่ละรุ่น ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน

นายพีรพน กล่าวอีกว่า ศมส. ได้รวบรวมงานวิจัยในบริบทที่สำคัญ จัดพิมพ์เป็นหนังสือ “สาครบุรีจากวิถีชาวบ้าน : การเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตท้องถิ่นในลุ่มน้ำท่าจีนจังหวัดสมุทรสาคร” ประกอบด้วยข้อมูลที่น่าสนใจในชุมชนทั้งหมด ได้แก่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานต่างด้าว ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือการสร้างสำนึกเพื่อส่วนรวม วัฒนธรรมไทยหรือความเป็นไทย มีลักษณะผสมผสาน คนต้องพึ่งพาและเคารพธรรมชาติ เป็นต้น

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน และข้อมูลประกอบการทำงานเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเป็นฐานความรู้ กระตุ้นให้คนท้องถิ่นมีจิตสำนึกสืบทอดและรักษาวัฒนธรรมของตนเอง สอดคล้องกับนโยบายของชาติที่ต้องการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่นำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ศมส. จะเปิดตัวหนังสือ “สาครบุรีจากวิถีชาวบ้าน” ในวันที่ 14 พ.ค. 2561 เวลา 13.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *