สมุทรสาครประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล”

จังหวัดสมุทรสาครจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต”

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่หอประชุมโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) จังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” พร้อมกล่าวมอบนโยบายความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายพิเฐ พุ่มพันธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 7 นางชัฏศรัณย์ ธรฤทธิ์ ลูกจันทร์ พนักงานไต่สวนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ครูและนักเรียนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โดยภายในงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้มอบเกียรติบัตรให้กับหน่วยงานและโรงเรียนที่ร่วมจัดนิทรรศการและแสดงในงาน ได้แก่ ร.ร.สมุทรสาครวิทยาลัย ร.ร.เอกชัย ร.ร.วัดป้อมวิเชียรโชติการาม และ ร.ร.วัดราษฎร์บำรุง การกล่าวสุนทรพจน์การต่อต้านคอร์รัปชันของนักเรียน ร.ร.สมุทรสาครวิทยาลัย จากนั้นรับชมการถ่ายทอดสดกิจกรรมจากศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อรับฟังการมอบนโยบายและประกาศเจตนารมณ์พร้อมกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ร่วมกับหน่วยงานราชการในจังหวัด และยกมือขึ้นไขว้พร้อมกันเป็นรูปกากบาท เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านการทุจริต

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เป็นวันสำคัญเพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่เกิดจากการคอร์รัปชัน และเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลจึงได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้น เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกันของคนไทยทุกภาคส่วน ที่ไม่ทนต่อการทุจริต

สำหรับแนวทางในการที่จะช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สำคัญประการหนึ่ง คือแนวทางประชารัฐ โดยต้องรวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” โดยให้ “ประชา” หรือองค์กร ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการ ทำงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน อันจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน จึงจะเป็นการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *