ครม.อนุมัติ 764 ล้าน เงินเยียวยาเรือประมง กระทบมาตรการแก้ปัญหา IUU Fishing

แฟ้มภาพ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 764 ล้าน เยียวยาเจ้าของเรือประมง 305 ลำ ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหา IUU Fishing งวดแรกจ่าย 30% งวดต่อไปจ่ายส่วนที่เหลือหลังทำลายเรือประมงหมดแล้ว สั่งคุมเข้มแก้ปัญหาเจ้าของเรือไม่ทำลายรอสวมสิทธิ์

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) การชดเชยเยียวยาเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ปี 2558 จากการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 4 ฉบับ จำนวน 305 ลำ รวม 764 ล้านบาท เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น

โดยการชดเชยเยียวยาเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบ จะแบ่งเป็นสองงวด งวดแรกจะเยียวยาเรือประมง 252 ลำ จำนวน 469 ล้านบาท โดยกรมประมงจะจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของเจ้าของเรือประมง งวดที่ 1 จะจ่ายร้อยละ 30 ของจำนวนเงินชดเชย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วน ทำลายเรือ ส่วนงวดที่ 2 จ่ายร้อยละ 70 หลังจากเจ้าของเรือดำเนินการแยกชิ้นส่วนและทำลายเรือแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับค่าชดเชย จะไม่ไปประกอบอาชีพประมงผิดกฎหมายต่อไป สำหรับค่าชดเชยเรือประมงส่วนที่เหลือ 53 ลำ เป็นเงิน 294 ล้านบาท จะเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต่อไป

คุณสมบัติของเจ้าของเรือที่จะได้รับเงินชดเชยเยียวยาในครั้งนี้ จะต้องไม่เคยทำผิดกฎหมายของกรมประมง กรมเจ้าท่า และแรงงาน เป็นเรือประมงตามบัญชีที่ผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานแล้ว ผ่านการประเมินสภาพตามความเป็นจริง อยู่ในบัญชีรายชื่อพร้อมราคาชดเชยที่ผ่านความเห็นชอบของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว กรณีที่ตรวจพบในภายหลังว่าเรือประมงลำใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน จะไม่ได้รับการชดเชย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมให้คณะกรรมการพิจารณาให้รอบคอบว่า เรือที่รับซื้อมาทำลายเป็นไปตามหลักการหรือไม่ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบว่ามีการทำลายจริง ไม่ใช่ไม่ทำลาย แล้ววนกลับมารับเงินชดเชยอีก และหากรับเงินไปแล้วไม่มีการทำลายเรือ จะมีมาตรการอย่างไรต่อไป โครงการนี้จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการกองเรือได้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ไม่ให้ปัญหาเก่าย้อนกลับมาอีก

สาครออนไลน์ เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *