กรมสุขภาพจิต เผย การเสพสื่อความรุนแรงในเด็ก ส่งผลร้ายต่อจิตใจและอารมณ์

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ ผู้ก่อคดีอาญาจะมีอาการทางจิตหรือไม่ ต้องเข้ากระบวนการวินิจฉัย เตือนเด็กเสพสื่อความรุนแรงบ่อย ทำให้เกิดความกระด้าง เติบโตด้วยการใช้ความรุนแรง แนะสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวสร้างความมั่นคงในจิตใจแก่เด็ก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความรุนแรงที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน เกิดจากการควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือทะเลาะวิวาทบนท้องถนน เหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเครียด และการเลี้ยงดู ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมความรุนแรงของตนเองได้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีการวางแผน จงใจ ไตร่ตรองมาอย่างดี ด้วยวัตถุประสงค์ เช่น กระทำผิดกฎหมาย ปกปิดความผิด ขัดแย้งกันในเชิงผลประโยชน์ อำพรางคดี ถือเป็นเรื่องของอาชญากรรม

ทั้งนี้ คำถามที่มักพบบ่อยว่า ผู้ก่ออาชญากรรมด้วยวิธีแปลกๆ มีอาการทางจิตหรือไม่นั้น หากทีมสอบสวนประเมินแล้วว่า อาจมีพฤติกรรมทางจิต ก็จะส่งเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ให้จิตแพทย์ช่วยประเมิน ตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนลงความเห็น พร้อมส่งตัวรักษาตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อคดีไม่จำเป็นต้องป่วยทางจิตหรือจิตผิดปกติเสมอไป และพบได้น้อยมาก หากเป็นผู้ป่วยทางจิตจะไม่มีกระบวนการความคิดที่ซับซ้อน และจะหลุดจากโลกของความเป็นจริง

นอกจากนี้ สังคมได้เป็นห่วงและมีการตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการเสพสื่อความรุนแรง รวมทั้งแนวทางป้องกันหรือเลี้ยงดูลูกอย่างไรไม่ให้เป็นอาชญากร ทั้งนี้ ในส่วนของสื่อจะส่งผลกระทบมากกับกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางด้านจิตใจอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเด็กที่เติบโตมาในวัฒนธรรมหรือสภาวะสังคมที่มีความรุนแรงสูง ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง หรือเด็กถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง เกิดเป็นความเครียดสะสมในจิตใจ กลายเป็นวิถีในการแก้ปัญหา

การเห็นสื่อความรุนแรงบ่อยๆ ทั้งในชีวิตครอบครัวและสังคม ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อโซเชี่ยล หรือเกมออนไลน์และออฟไลน์ ที่มีแต่ความก้าวร้าว เต็มไปด้วยเรื่องของการฆ่าทำลายล้างกัน ย่อมทำให้เด็กเกิดความกระด้าง ชาชินต่อความสูญเสียและความเจ็บปวด บางครั้งมองเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า หรือภาพที่เลวร้ายในสื่อ เป็นตัวชี้นำการแสดงออกความเก็บกดทางอารมณ์ที่ผิดๆ ย่อมทำให้เด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีพื้นฐานเติบโตขึ้นด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเห็นว่าเป็นแบบอย่าง อีกทั้งทำให้มีความยับยั้งชั่งใจลดน้อยลง มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองต่ำ

ดังนั้น สัมพันธภาพในครอบครัวโดยเฉพาะสัมพันธภาพที่ดีของพ่อกับแม่ ตลอดจนการเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเมตตา ไม่ใช้ความรุนแรง มีเวลาและทำกิจกรรมดีๆร่วมกันในครอบครัว รวมทั้งการดูสื่อหรือเล่นอยู่ด้วยกับลูก ให้คำแนะนำ หรืออธิบายให้ฟังได้ถึงข้อดีข้อเสีย เหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกถึงการได้รับความเอาใจใส่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้เด็กมีความมั่นคงภายในจิตใจที่เชื่อมโยงโดยตรงกับความสามารถของเด็กในการควบคุมความรู้สึกก้าวร้าวภายในตนเอง ทำให้เด็กเติบโตขึ้นโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้

ซ้าย : น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ , ขวา : นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า การใช้ความรุนแรงที่มาจากอารมณ์และความเครียด จะต่างกับความรุนแรงที่เป็นอาชญากรรม ซึ่งทำด้วยความจงใจและไตร่ตรองเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง นอกจากนี้ ในแง่ของการเลี้ยงดู ได้มีการศึกษาพบว่า ความรุนแรงจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยและวัยเรียน ที่เติบโตมาในลักษณะขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว เด็กถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง จะทำให้เด็กสะสมความรุนแรงและแสดงออกกับสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และเพื่อน โดยไม่รู้สึกผิด และพอกพูนจนเป็นวิถีชีวิต เข้าสู่กระบวนการของความรุนแรง กลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด

สาครออนไลน์ โดย กองบรรณาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *