ย้อนรอย “ขุนสุคนธวิทศึกษากร” ผู้แทนราษฎรสมุทรสาครคนแรก

ขุนสุคนธวิทศึกษากร (สำอางค์ สุคนธวิท) 

“ขุนสุคนธวิทศึกษากร” (สำอางค์ สุคนธวิท) อดีตรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร คนแรก ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี 2476 – 2481 และ 2484 – 2488

ขุนสุคนธวิทศึกษากร เดิมชื่อสำอางค์ ชุติกุล เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2445 ที่ ต.ตลาดเก่า อ.เมืองฯ จ.นครปฐม กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบเศษ จึงอยู่ในความอุปการะของยายและน้า จบการศึกษาจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ต่อมาสอบได้ประกาศนียบัตรครูมูล (ป.) เมื่อปี 2461 และกลับมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนเดิมเป็นแห่งแรก

ขณะมียศลูกเสือเป็นรองผู้กำกับตรี ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประลองยุทธเสือป่าที่พระราชวังสนามจันทร์ แล้วได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “สุคนธวิท” รวมถึงได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ปี 2462 ย้ายไปรับราชการเป็นครูผู้ช่วยโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสาคร และปีถัดมาก็สอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมสามัญ (ป.ป.)

ปี 2465 ย้ายไปดำรงตำแหน่งธรรมการอำเภอกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ระหว่างนี้ได้รับยศเป็นราชบุรุษ เป็นผู้กำกับลูกเสือโท และเป็นจ่าตรีเสือป่า

ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสุคนธวิทศึกษากร” ถือศักดินา 300 ไร่ ขณะอายุ 22 ปี ในปี 2467 ทั้งได้เลื่อนยศเป็นผู้กำกับลูกเสือเอกด้วย

ต่อมาในปี 2471 ได้เป็นผู้รักษาการแทนธรรมการบ้านแพ้วอีกตำแหน่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็สอบได้วิชาทนายความที่มณฑลนครชัยศรี ก่อนที่ในปีถัดมาจะลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพทนายความ ตั้งสำนักงานอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟมหาชัย


พระยาพหลพลพยุหเสนา
(พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มาพอสมควร ก็ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2476 เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชนครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

กล่าวคือ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบล จากนั้นผู้แทนตำบลที่ราษฎรเลือกไว้ตำบลละหนึ่งคนจึงไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง จากสถิติการเลือกตั้งครั้งแรก ทั่วราชอาณาจักร 70 จังหวัด มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,278,231 คน มีผู้มาลงคะแนน 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45

ในส่วนของ จ.สมุทรสาคร มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 18,375 คน ผู้มาลงคะแนน 11,164 คน คิดเป็นร้อยละ 60.76 โดย ขุนสุคนธวิทศึกษากร ได้รับเลือกเป็นผู้แทนตำบลใน อ.กระทุ่มแบน และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร ตามลำดับ

ด้วยบทบาททางการเมืองเป็นผู้แทนราษฎรที่มีวาทศิลป์ มีปฏิภาณไหวพริบดี อภิปรายโต้ตอบในสภามีเหตุผลเปิดเผยตรงไปตรงมา พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงเศรษฐการ เมื่อปี 2477

ถัดมาในปี 2478 รับตำแหน่งรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเป็นรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงธรรมการด้วย กระทั่งในปี 2479 ก็ได้เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงธรรมการ

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองของไทย และเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตครั้งแรก มีจำนวนผู้แทนราษฎรจากทั่วประเทศ 91 คน

ขุนสุคนธวิทศึกษากร ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร เป็นสมัยที่สอง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงธรรมการอีกครั้งหนึ่ง

ขณะเป็นรัฐมนตรีฯ ได้มีส่วนสำคัญในการวางหลักสูตรวิชาหน้าที่พลเมืองในระดับชั้นมัธยมศึกษา และยังได้ปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ ของสามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งเป็นสมาคมของครู เช่น ระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ เป็นต้น

กระทั่งรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2481 เนื่องจากแพ้โหวตในญัตติการขอแก้ไขวิธีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ยุติบทบาททางการเมืองอย่างเด็ดขาด


“ถนนสุคนธวิท ” หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3190 ภายในเขตเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน
หนึ่งในถนนที่ตั้งชื่อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ขุนสุคนธวิทศึกษากร

ตลอดระยะเวลาในการเป็นผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร ขุนสุคนธวิทศึกษากร ได้นำความเจริญมากมายสู่ จ.สมุทรสาคร โดยเป็นผู้ประสานงานในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญให้กับทางรัฐบาล อาทิ สร้างถนนเส้นทาง กระทุ่มแบน – สมุทรสาคร (ถ.เศรษฐกิจ 1) และถนนเส้นทาง ต.คอกกระบือ ถึงตัวจังหวัดสมุทรสาคร (ถ.เอกชัย)

ขุดคลองโรงเข้ ในเขต อ.บ้านแพ้ว ขุดคลองตากล่อมถึงวัดโพธิ์แจ้ และทำทำนบกั้นน้ำเค็มที่ปากคลองคอกกระบือ ขุดคลองสุนัขหอนตอนสามสิบสองคตจนสำเร็จ ขุดคลองจากวัดโพธิ์แจ้ถึงสถานีรถไฟบางน้ำจืด รวมทั้งส่งเสริมเรื่องของการศึกษา การเกษตร การสาธารณสุข และเป็นกรรมาธิการสามัญและวิสามัญในด้านต่าง ๆ ของรัฐสภา

หลังจากยุบสภา ในการเลือกตั้ง 12 พฤศจิกายน 2481 นายยืนยง (ย้ง) เจียมชัยศรี ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร แต่แล้วนายยืนยงได้กระทำอัตนิวิบาตกรรมจนถึงแก่กรรมเมื่อปี 2484

จากนั้นได้มีการเลือกตั้งซ่อม ขุนสุคนธวิทศึกษากร กลับมาเป็นผู้แทนราษฎร จ.สมุทรสาคร เป็นสมัยที่สาม สืบต่อมาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากผ่านเส้นทางการเมืองระดับชาติ ขุนสุคนธวิทศึกษากร ได้ไปมีบทบาทในการเมืองระดับท้องถิ่น ที่เทศบาลตำบลกระทุ่มแบน

โดยเมื่อปี 2482 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลฯ และได้เป็นนายกเทศมนตรีฯ ตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2488 ถึง 29 เมษายน 2501 เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาเทศบาลฯ ตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2501 จนถึงแก่กรรม

นอกจากนี้ ขุนสุคนธวิทศึกษากร ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 1 สิงหาคม 2503 และให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาทุกปีตลอดมา อีกทั้งเป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เมื่อ 10 ตุลาคม 2504

และเขียนผลงานหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิ คู่มือผู้ครองเรือน สำรวจตัวเอง ธรรมปริยาย หน้าที่พลเมือง เตือนใจเพื่อน สามปีในระบอบรัฐธรรมนูญ และคำอธิบาย พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476

“ถนนสุคนธวิท ” ภายในเขตเทศบาลนครสมุทรสาครสมุทรสาคร
อีกหนึ่งถนนที่ตั้งชื่อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ขุนสุคนธวิทศึกษากร

เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ขุนสุคนธวิทศึกษากร สมรสกับนางลออ สว่างศุข เมื่อปี 2467 มีบุตรธิดารวม 7 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 4 คน ในบั้นปลายชีวิตได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่หลอดลม แพทย์ได้ทำการรักษาตลอดมา

กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบที่บ้าน ต.ตลาดกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2505 สิริอายุได้ 59 ปี 11 เดือน 23 วัน

เป็นหนึ่งในตำนานนักการเมืองของสมุทรสาคร ในยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยไทย ที่ปัจจุบันน้อยคนนักจะนึกถึง

– กิตติกร นาคทอง –

(ขอขอบคุณ คุณชนินทร์ อินทร์พิทักษ์ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อบทความชิ้นนี้)

อ้างอิง: 

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา “ประวัติครู 16 มกราคม 2510” กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2510

วิเทศกรณีย์ “สารคดีชีวประวัติบุคคลสำคัญใน 100 รัฐมนตรี” กรุงเทพฯ : หจก.การพิมพ์ไชยวัฒน์, 2523

One Reply to “ย้อนรอย “ขุนสุคนธวิทศึกษากร” ผู้แทนราษฎรสมุทรสาครคนแรก”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *