“เราไม่ได้เป็นคู่แข่งปั๊มน้ำมัน” เปิดใจ “สุเทพ ปัญญาสาคร” ทุ่ม 400 ล้านปั้นจุดพักรถ “พอร์โต้ โก”

“พอร์โต้ โก ท่าจีน” เป็นโครงการล่าสุดที่ บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทในเครือดี-แลนด์ กรุ๊ป พัฒนาที่ดิน 23 ไร่ ริมถนนพระราม 2 กม.41 ย่านบางโทรัด จ.สมุทรสาคร ให้เป็นจุดพักรถสำหรับนักเดินทาง ทั้งร้านค้าไดร์ฟทรู ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร นับเป็นแห่งที่ 2 ต่อจาก “พอร์โต้ โก บางปะอิน” ที่เปิดเมื่อ 1 ธันวาคม 2560

ภายในประกอบด้วย ร้านค้าชั้นนำอย่าง “สตาร์บัคส์” และ “เคเอฟซี” แบบไดร์ฟทรู และพื้นที่ร้านค้าเช่าอีก 30 ร้านค้า พร้อมที่จอดรถกว่า 200 คัน ที่จอดรถทัวร์ ห้องน้ำสะอาดติดแอร์ เปิดให้บริการแบบ Soft Opening เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนปลายปีนี้จะมีร้านแบรนด์ไทยในรูปแบบไดร์ฟทรู ได้แก่ “ชาตรามือ” และ “วราภรณ์ ซาลาเปา” สาขาแรกในไทย และกำลังก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์บริเวณทางออก

สุเทพ ปัญญาสาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวกับ “สาครออนไลน์” ว่า คอนเซปต์ของพอร์โต้ โก ไม่ว่าจะอยู่ในทำเลไหน องค์ประกอบหลักของจุดแวะพักก็คือ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้องน้ำสะอาด ที่จอดรถสะดวกสบาย เพราะโดยปกติแล้วเวลาเข้าจุดแวะพักต้องท้องอิ่ม รถก็ต้องอิ่ม

ทั้งนี้ คนบ้านเรานิยมขับรถส่วนตัวเดินทางท่องเที่ยว เพราะระบบขนส่งต่างๆ ไม่ได้เอื้อในการเดินทางไปเที่ยวมากมาย ทำเลที่ตั้งเป็นจุดที่กำหนดไว้ในใจแล้วว่า เมื่อไปเที่ยวทางนี้ก็ต้องแวะตรงนี้ ไม่ใช่บังเอิญเห็นแล้วก็แวะได้ตลอด บางทีเป็นจุดที่ยังไม่รู้สึกว่าอยากจะแวะพักหรือใช้บริการ เพราะฉะนั้นทำเล ก็เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นในการทำโครงการ

เมื่อถามว่า ในการหาทำเล มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร สุเทพกล่าวว่า อย่างแรกเรื่องปริมาณรถยนต์มีผล เพราะร้านค้าพันธมิตรที่ไปกับเรา เช่น สตาร์บัคส์ เคเอฟซี จำเป็นต้องมีปริมาณการจราจรบนทางหลวงเส้นนั้นเยอะ จำนวนรถมีผล ขณะที่จิตวิทยา (Psychology) ในการเดินทางนั้นเป็นเรื่องที่อธิบายยาก

“เวลาขับรถ เราเป็นคนเดินทาง เราจะรู้ว่า จุดนี้คือจุดที่พอเปลี่ยนถนนปุ๊บ เราจำเป็นต้องแวะเบรคสักพัก แล้วเราจะเดินทางต่อ ห่างจากจุดเป้าหมายที่เราจะไป สักระยะทางหรือเวลาเท่าไหร่ เราจะเบรกตรงนี้ก่อน แล้วเราจะเข้าที่พักเวลาไปเที่ยว หรือถึงจุดที่เราจะไปเที่ยว ก็มีองค์ประกอบในแง่ของจิตวิทยาด้วย”

ส่วนความยากง่ายในการทำจุดพักรถ เมื่อเทียบกับคอมมูนิตี้มอลล์แตกต่างกันหรือไม่ สุเทพกล่าวว่า ต่างกัน ส่วนจะยากง่ายนั้นก็ยากเหมือนกันหมด เพราะการใช้งานของที่ตั้งธุรกิจแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน คอมมูนิตี้มอลล์ต้องการเป็นศูนย์รวมของชุมชน เดินทางสะดวก ใช้บริการได้บ่อย ส่วนจุดแวะพัก คนไม่ได้แวะมาบ่อยๆ

“กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนที่จะสามารถมาบ่อยๆ ได้ แต่เป็นคนที่เดินทาง แล้วอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่จะแวะ เพราะฉะนั้นคาแรกเตอร์ของทำเลก็จะต่างกัน”

ย้อนไปถึงผลตอบรับโครงการแรก “พอร์โต้ โก บางปะอิน” ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 1 ปีครึ่ง สุเทพกล่าวว่า ตัวเลขผู้มาใช้บริการดีขึ้นเรื่อยๆ ที่บางปะอินองค์ประกอบไม่ครบ เพราะยังไม่มีสถานีบริการน้ำมัน อยู่ในพื้นที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการขออนุญาต แต่องค์ประกอบอื่น ไม่ว่าจะเป็นไดร์ฟทรู ร้านอาหาร ห้องน้ำ ค่อนข้างครบ

วันนี้เวลาคนเดินทางผ่าน เพื่อที่จะไปไหว้พระที่อยุธยา หรือขึ้นไปยังภาคเหนือ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มใช้พอร์โต้ โก บางปะอินเป็นจุดแวะ คิดว่าจุดนั้นเป็นจุดที่สมบูรณ์ ค่อนข้างเหมาะสม ไม่ว่าจะมาจากถนนพหลโยธิน เพื่อที่จะขึ้นไปภาคเหนือ ผ่านทางแยกต่างระดับบางปะอิน 3-4 กิโลเมตร ขับรถประมาณ 5-7 นาทีก็จะถึงจุดนี้ แล้วก็แวะเลย

เมื่อจะเข้าไปยังในเมืองอยุธยาเพื่อไหว้พระ ก็ใช้เวลาอีกสัก 15 นาทีจากพอร์โต้ โก ถือเป็นทำเลที่ลงตัว บางทีไปในวัดคนเยอะๆ ก็ไม่สะดวกที่จะนั่งรอ ใช้ห้องน้ำต่างๆ ก็ทำธุระให้เสร็จก่อนแล้วไปไหว้พระ ปัจจุบันมีรถยนต์มาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 4,000 คันต่อวัน แต่ละคันเฉลี่ย 2.5 คนต่อคัน คิดเป็นผู้มาใช้บริการอยู่ที่ 8,000-10,000 คน

ส่วนพอร์โต้ โก ท่าจีน ที่เปิดล่าสุด จากจุดนี้เดินทางอีก 30 นาที ก็ถึงตลาดน้ำอัมพวา หรือตลาดน้ำดำเนินสะดวก เดินทางต่อประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงชะอำ หัวหิน อาจจะเบรคอีกรอบแล้วเข้าที่พัก ก็ถือเป็นจุดลงตัวที่เหมาะสม และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยานพาหนะบนถนนพระราม 2 ก็เยอะมาก

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ คือ ร้านค้าไดร์ฟทรู ในโครงการจะมีแบรนด์ใหม่ ได้แก่ “ชาตรามือ ไดร์ฟ ทรู” และ “วราภรณ์ ซาลาเปา ไดร์ฟทรู” สุเทพ กล่าวว่า มีโอกาสได้คุยกับชาตรามือและลองขายไอเดียเปิดไดร์ฟทรู เห็นว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง โด่งดังในต่างประเทศ อีกทั้งเครื่องดื่มกับการทำไดร์ฟทรูสะดวกอยู่แล้ว ใช้เวลาไม่นาน

“มีโอกาสคุยและขายไอเดียกับชาตรามือ เมื่อทางแบรนด์สนใจจึงเริ่มพัฒนาแบบร่วมกัน สเกล (Scale) เท่าไหร่ ตึกไดร์ฟทรูเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องดี ส่วนใหญ่เราก็จะมีแบรนด์ต่างประเทศทำไดร์ฟทรู ยังไม่เคยเห็นแบรนด์ของไทย ชาตรามือก็จะเป็นชาแบรนด์แรกของไทย ทำไดร์ฟทรูในประเทศไทยที่โครงการของเรา”

อีกแบรนด์หนึ่ง คือ “วราภรณ์ ซาลาเปา ไดร์ฟทรู” คุยกันนานแล้วว่าด้วยตัวสินค้า ก็น่าจะถึงเวลาที่พัฒนาเป็นไดร์ฟทรูได้ พอคุยกับเขาก็สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เลยชวนมาเปิดที่นี่เป็นสาขาแรก เพราะฉะนั้น จะมีไดร์ฟทรูที่เป็นสาขาแรกของเขา และเป็นสัญชาติไทย 2 แบรนด์ สินค้าของไทยมีโอกาสอีกมากที่จะทำไดร์ฟทรู คนไทยก็ทำได้

การพัฒนาไดร์ฟทรู ถือเป็นโปรเจ็กต์ที่ 3 ของดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ เพราะไลฟ์สไตล์มอลล์ “พอร์โต้ ชิโน่” ก็มี “สตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู” สาขาแรกในประเทศไทย เปิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ส่วนที่พอร์โต้ โก บางปะอิน ก็มี “ดังกิ้น ไดร์ฟทรู” สาขาแรก ต่อไปมีแผนที่จะชวนแบรนด์อื่นๆ เข้ามาทำไดร์ฟทรูเพิ่ม

“แต่ละสาขาก็จะมีกิมมิก “สาขาแรก” มาที่โครงการเราตลอด ถือเป็นต้นกำเนิดก็ว่าได้ อยู่ที่แบรนด์มีความพร้อมที่จะทำด้วยกัน และขยายสาขาต่อกันได้ ถือว่าเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งรูปแบบของไดร์ฟทรูขึ้นอยู่กับหน้ากว้างของที่ดิน อย่างที่นี่และบางปะอิน หน้ากว้าง 200 เมตร ทำไดร์ฟทรูได้ 4 ร้านค้า”

อาจมีคนสงสัยว่า จุดแวะพักกับสถานีบริการน้ำมัน จะกลายเป็นคู่แข่งกันหรือไม่ สุเทพอธิบายว่า ปริมาณรถยนต์บนทางหลวงสายหลักมีมากกว่า 7-8 หมื่นคันต่อวัน ปั๊มไหนก็แล้วแต่เก็บคนได้ไม่หมด ในแต่ละจุด ถนนและทำเลไม่ได้เป็นคู่แข่ง คนที่มาใช้บริการชอบแบรนด์นี้ ชอบอาหารแบบนี้ ชอบกินกาแฟแบรนด์นี้ เขาก็เลือกใช้บริการอันนี้

“เป็นการแยกกลุ่มคนที่จะใช้งานกับแบรนด์เหล่านั้นอยู่แล้ว ปั๊มน้ำมันจึงไม่ได้เป็นคู่แข่ง แต่เป็นการเติมความสะดวกสบายในการเลือกใช้งาน บางทีเวลาไปปั๊มๆ หนึ่งเมื่อก่อน คนเจาะแจะจอแจ เราก็ไม่ได้ใช้บริการ ขับไปเราก็ออกเลย เพราะว่ามันรับไม่ได้ ที่จอดรถไม่พอ ร้านค้าไม่พอ ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะคนใช้รถยนต์ส่วนตัวเยอะขึ้น”

ระหว่างพอร์โต้ โก กับสถานีบริการน้ำมัน แตกต่างอย่างไร สุเทพอธิบายว่า ทุกแบรนด์พยายามปรับตัวอยู่แล้ว เลือกร้านค้าที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยต้องรู้ว่าลูกค้าระดับไหน ไลฟ์สไตล์อย่างไร ก็เลือกแบรนด์ให้ตรง เพราะฉะนั้นต่างจากยี่ห้อหนึ่งอย่างไร การเลือกร้านค้าก็ต่างกัน การจัดความสะดวกสบายในการจอดรถก็ต่างกัน

“ห้องน้ำของเราชูในเรื่องความสะอาด ความสะดวกสบายเป็นหลัก และความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ เพราะเรามี รปภ. 24 ชั่วโมงคอยที่จะมาดูแล เป็นคีย์หลักในการดีไซน์ในแต่ละโครงการ บางทีเราขับรถ 100-150 กิโลเมตรก็แทบไม่ต้องเติมน้ำมัน เติมขากลับก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้รถประหยัดน้ำมัน”

สำหรับงบลงทุนในการเปิดพอร์โต้ โก สุเทพกล่าวว่า อยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างและค่าเช่า เพราะคอนเซปต์หลักคือการเช่าที่ดินระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งสาขาในอนาคตก็จะใช้โมเดลเดียวกัน ไม่ได้ซื้อที่ดินเพื่อขยายสาขา เพราะจะทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว

ทั้งนี้ ในทุกโครงการจะมีการเก็บเก็บสถิติของผู้ใช้บริการในทุกสาขาว่า มาแล้วสะดวกสบายอย่างไร มีจุดไหนที่ไม่สะดวกสบายบ้าง รวมทั้งระยะเวลาในการใช้บริการ เพราะมีผลในการออกแบบ ซึ่งจะนำไปปรับใช้ในโครงการต่อไปจนลงตัว และมีโอกาสขยายสาขาได้ง่ายขึ้น

เป้าหมายในอนาคตจะมีพอร์โต้ โก สาขาอื่นเกิดขึ้นหรือไม่ สุเทพ กล่าวว่ามี ขณะนี้กำลังเลือกทำเลต่างๆ เส้นทางที่เป็นจุดหมายยอดนิยมของเดินทาง ก็นำมาพิจารณากัน เมื่อดูแผนที่ประเทศไทยได้กำหนดตำแหน่งแล้ว ในเฟสแรกมีโอกาสเปิดได้ 15-20 แห่ง ภายใน 5-6 ปี ขณะนี้กำลังเลือกตำแหน่งที่ตั้งตามแผน

“สำหรับการเปิดสาขาในช่วง 3 ปีแรกต้องใช้เวลานาน เพราะต้องบอกว่าเป็นโมเดลใหม่ แล้วจากบางปะอินมาที่ท่าจีนก็มีความแตกต่างกันอยู่ในแผนผัง (Layout) โครงการที่ 3-5 ยังคงต้องปรับตัวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแผนผัง ประเภทร้านค้า จำนวนที่จอดรถก็ต้องปรับ”

ส่วนที่กรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะเปิดประมูลจุดพักรถบนทางพิเศษ ดี-แลนด์สนใจจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ สุเทพ กล่าวว่า กลุ่มค้าปลีกต่างๆ เวลาจะเข้าประมูล คงมีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีประสบการณ์หรือทุนอย่างไร วันนี้เราอาจจะยังไม่ได้เข้าไปในรูปแบบนั้นได้ อีกทั้งคิดว่ามีทางเลือกอีกมาก

“ทางหลวงเมืองไทยมีเยอะแยะ เราสามารถติดต่อที่ดินเอกชน ไม่ต้องผ่านการประมูลมีคู่แข่ง เราก็มาในรูปแบบที่สามารถทำได้ เพราะเรามีทางเลือกอยู่แล้ว”

-เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง/ภาพ : กิตติกร นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *