ร้านค้า-ร้านอาหารสมุทรสาครนับร้อย รอลุ้นโครงการ “คนละครึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจ

ในที่สุด คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบ “โครงการคนละครึ่ง” ในลักษณะการร่วมจ่าย (Co-pay) ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป 50% สูงสุด 150 บาทต่อวัน หรือ 3,000 บาทต่อคน แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในเมนู G-Wallet

ความแตกต่างระหว่าง “โครงการคนละครึ่ง” กับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เมื่อปีที่แล้วก็คือ โครงการชิมช้อปใช้รัฐบาลจะแจกวงเงิน 1,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ให้นำไปใช้เป็นค่าที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ในจังหวัดที่ลงทะเบียน

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้านของตน เมื่อเติมเงินลงใน G-Wallet เพื่อใช้จ่ายตามที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร แทนเงินสด รัฐบาลจะจ่ายเงินคืน (Cash Back) จำนวน 15-20% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง

แต่สำหรับโครงการคนละครึ่ง จะให้ประชาชนที่ลงทะเบียน เติมเงินลงใน G-Wallet แล้วนำไปใช้จ่ายตามร้านค้า ร้านอาหาร แทนเงินสด โดยเมื่อทำรายการ ระบบจะแสดงส่วนลด 50% โดยอัตโนมัติ แล้วส่วนที่เหลือจะหักยอดเงินใน G-Wallet

คล้ายกับคูปองอาหาร/ท่องเที่ยวในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่จะแสดงส่วนลด 40% โดยอัตโนมัติ แล้วส่วนที่เหลือจะหักยอดเงินใน G-Wallet คนที่เติมเงินลงไปแล้วเงินยังเหลือ สามารถโอนเงินกลับไปยังบัญชีธนาคารหรือผ่านพร้อมเพย์ก็ได้

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนโดยร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ไม่รวมสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบและบริการต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เติมกำลังซื้อหมุนเวียนไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง

โครงการนี้รัฐบาลใช้วงเงินในการดำเนินโครงการ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยมีกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

คาดว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 10 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท GDP ขยายตัว 0.18%

สำหรับร้านค้า รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการเป็นกิจการประเภท ร้านอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย

โดยไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล และไม่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์

เท่ากับว่า ร้านค้าที่สามารถใช้ได้ จะต้องเป็นร้านโชวห่วย หรือร้านค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา (กิจการเจ้าของคนเดียว) เท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการได้ ส่วนร้านอาหารนั้น ส่วนมากมักจะจดทะเบียนพาณิชย์ในนามบุคคลธรรมดา

ส่วนร้านค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง ที่จดทะเบียนในนามบริษัท รวมทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของรัฐบาลต้องการให้กำลังซื้อหมุนเวียนไปยังผู้ประกอบการรายย่อยเป็นหลัก

นอกจากนี้ ร้านค้า ร้านอาหาร จะต้องดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และมีบัญชีธนาคารกรุงไทย ซึ่งร้านที่เคยเข้าร่วมโครงการชิมช้อปใช้เมื่อปี 2562 และโครงการเราเที่ยวด้วยกันในปี 2563 ก็จะมีประสบการณ์มาแล้ว

ส่วนประชาชนทั่วไป จะต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เปิดให้ลงทะเบียน 10 ล้านคน หรือจนกว่าสิทธิจะหมด ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com โดยใช้บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์มือถือ

และใช้สิทธิในโครงการคนละครึ่ง ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563

เงื่อนไขการใช้สิทธิของประชาชน คือ รัฐช่วยจ่าย 50% ผู้ได้รับสิทธิจ่ายเอง 50% โดยใช้สิทธิผ่านแอปฯ เป๋าตัง จำกัดสิทธิไม่เกิน 150 บาท/วัน โดยที่ยอดรวมการใช้สิทธิ “คนละครึ่ง” ไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดโครงการ

ไม่หักสิทธิ หากใช้ไม่หมดในแต่ละวัน โดยระบบจะคืนสิทธิที่ไม่ได้ใช้เข้ายอดรวมของผู้ได้รับสิทธิ และจะคำนวณสิทธิใหม่ในเวลา 06.00 น. ของทุกวัน ใช้สิทธิได้ที่ร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ เท่านั้น และใช้ได้เวลา 06.00-23.00 น.

หากไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน ระบบจะทำการตัดสิทธิ “คนละครึ่ง” ของผู้ได้รับสิทธิตลอดโครงการ

ปัจจุบัน จังหวัดสมุทรสาครมี “ร้านธงฟ้าประชารัฐ” ในรูปแบบถุงเงินประชารัฐ รวม 350 แห่ง ประกอบด้วย อำเภอเมืองสมุทรสาคร 207 แห่ง อำเภอกระทุ่มแบน 115 แห่ง และอำเภอบ้านแพ้ว 28 แห่ง แต่ก็มีหลายร้านค้าที่พบว่าจดทะเบียนในนามนิติบุคคล

ขณะที่ ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มีทั้งหมด 452 แห่ง ประกอบด้วย อำเภอเมืองสมุทรสาคร 275 แห่ง อำเภอกระทุ่มแบน 133 แห่ง และอำเภอบ้านแพ้ว 44 แห่ง

โดยร้านค้าและร้านอาหารเหล่านี้ จะมีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ของธนาคารกรุงไทย ใช้สำหรับรับเงินจากลูกค้าที่ชำระผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยธนาคารกรุงไทยจะส่งรายการไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีร้านค้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญ คือ ประชาชนจะสนใจเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพราะในยามที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เลือกที่จะใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น

อีกอย่างหนึ่งคือ จากบทเรียนโครงการชิมช้อปใช้ และเราเที่ยวด้วยกัน ประชาชนไม่รู้ว่าจะใช้จ่ายได้ที่ไหน เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ ทั้งจากร้านค้าและจากภาครัฐ ต้องค้นหาผ่านเว็บไซต์เอาเอง

ทราบมาว่า ธนาคารกรุงไทย ได้เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งแบนเนอร์ ใบปลิว ธงติดหน้าร้าน ให้กับร้านค้าหรือหาบเร่แผงลอยต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นจุดสังเกตให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้สิทธิ์ได้

คงต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้บริโภคว่า รัฐบาลออกให้ครึ่งหนึ่ง จะจูงใจให้ควักเงินในบัญชีออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ขนาดไหน

-กิตตินันท์ นาคทอง-

One Reply to “ร้านค้า-ร้านอาหารสมุทรสาครนับร้อย รอลุ้นโครงการ “คนละครึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจ”

Leave a Reply to วันวิสาข์ Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *