ดรีมทีมมหาดไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สมุทรสาคร

หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จะเป็นเจ้าภาพหลักในการค้นหาเชิกรุกในชุมชนแล้ว หลายภาคส่วนต่างเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ ฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้น

เริ่มกันที่ กองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ผอ.ศบค.19 ทบ.) พร้อมด้วยเจ้ากรมแพทย์ทหารบกลงพื้นที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามสถานการณ์ ประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการ

พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมปฏิบัติงานในการควบคุมการแพร่ระบาด ให้เป็นไปตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว และเต็มประสิทธิภาพ

ทันทีที่มีการประกาศพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก กองทัพบกได้ให้การสนับสนุน ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และ ศบค. โดยได้ส่งกำลังทหารเข้าช่วยบริหารจัดการพื้นที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร และหอพักศรีเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยเป็นกำลังพลจากกรมทหารสื่อสารที่ 1 (ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน) จำนวน 2 กองร้อย ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย และตั้งจุดตรวจจุดสกัด การลักลอบขนแรงงานข้ามเขต ตลอด 24 ชั่วโมง โดยชุดสายตรวจครอบคลุมใน 8 เส้นทางหลักของทั้ง 3 อำเภอ พร้อมวางเครื่องกีดขวางป้องกันการเข้า-ออกในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร

ที่ผ่านมามีการจัดตั้งกองบัญชาการส่วนหน้า โดยใช้กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสมุทรสาคร และมณฑลทหารบกที่ 16 ในการช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่ควบคุมสูงสุด อีกทั้งกองทัพบกได้สนับสนุนเตียงสนาม 500 เตียง พร้อมเครื่องใช้จำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่อาจจะเพิ่มจำนวนขึ้น

ขณะที่ กองทัพเรือ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมสนับสนุนเฝ้าระวังป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่แพร่ระบาดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวภาคประมงในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร

โดยกองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ พร้อมด้วยโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้จัดบุคคลากรทางการแพทย์จำนวน 7 ชุด บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ ศรชล. จังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case finding) ที่ลานขนถ่ายสัตว์น้ำ องค์การสะพานปลา

เรือประมงทุกลำในจังหวัดสมุทรสาคร กว่า 100 ลำ หลังจากที่ลูกเรือประมงได้รับการตรวจค้นหาเชื้อแล้ว จะออกไปทอดสมอลอยลำอยู่ที่ปากแม่น้ำท่าจีน เพื่อรอรับผลการตรวจ โดยจะมีเรือ ต.267 จาก ศรชล. เขต 1 คอยดูแล ซึ่งหลังจากทราบผลตรวจเรียบร้อยแล้ว เรือประมงที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ จะสามารถทำการประมงได้เป็นปกติ

ทั้งนี้ เรือประมงเหล่านี้ สามารถเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์ทะเลเพียงเท่านั้น แต่จะไม่สามารถกลับขึ้นฝั่งได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับแรงงานที่อยู่ทางบก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ความน่าสนใจอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งให้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ส่วนหน้า” ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด จังหวัดสมุทรสาคร หรือพื้นที่ควบคุม ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี และนครปฐม

โดยพบว่าได้แต่งตั้ง นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติหน้าที่ ร่วมด้วย นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งเคยเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร

นอกจากนี้ ยังมีรองอธิบดีจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเลขานุการร่วม

อีกด้านหนึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเคยเป็นอดีตนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร และ นายณัฐภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอนครชัยศรี ซึ่งเคยอดีตป้องกันจังหวัดสมุทรสาคร มาเป็นนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร

นายฉัตรชัยอธิบายว่า องค์ประกอบใน ศบค.มท. ส่วนหน้า จะเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งในพื้นที่ มีความคุ้นเคยในเชิงพื้นที่ เข้าใจกลไกระบบการทำงาน และงานมวลชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และการแต่งตั้งข้าราชการในครั้งนี้ เป็นการเสริมกำลังและสนับสนุนการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติงานตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เห็นความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ดรีมทีมอดีตผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ และข้าราชการที่คุ้นเคยพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครกันขนาดนี้แล้ว อย่างน้อย “ผู้ว่าฯ ปู” นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี คงไม่ต้องต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 กันอย่างเดียวดาย และภาวนาว่าให้สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ โดยเฉพาะสมุทรสาครคลี่คลายไปได้โดยเร็ว

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *