ศาลเยาวชนฯ สมุทรสาคร เปิด “ศูนย์ให้คำปรึกษา” แนะนำ-ช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำและช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวในคดีอาญา ช่วยเหลือผู้เสียหายให้ครบวงจรตามมาตรฐานสากล เปิด 4 ช่องทางเมื่อประสงค์ใช้สิทธิทางศาล

นางทิพวรรณ ตันตะราวงศา ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหายไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้เสียหายในคดีอาญา เพื่อเป็นการแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายในคดีอาญาได้ทราบถึงสิทธิ หน้าที่ของผู้เสียหายว่า สามารถใช้สิทธิทางศาลในคดีอาญาได้อย่างไร

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำและช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวในคดีอาญา เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เสียหายให้ครบวงจรตามมาตรฐานสากล ตามปฏิญญาว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง ค.ศ. 1985 ได้แก่

ข้อ 1 การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เช่น การให้คำแนะนำถึงสิทธิเรียกร้องการชดใช้ เยียวยา ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนพิจารณา

ข้อ 2 การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยผู้กระทำความผิด เช่น การเรียกค่าสินไหมทดแทน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 90)

ข้อ 3 การได้รับการชดเชยความเสียหายโดยรัฐ เช่น ได้รับการชดเชยเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

ข้อ 4 การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายด้านอื่นๆ เช่น การเยียวยาทางจิตใจเบื้องต้น แนะนำ ส่งต่อการรักษาพยาบาลทางร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ หากเป็นผู้เสียหายมีสิทธิอย่างน้อย 12 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 สิทธิร้องทุกข์และถอนคำร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ

ประการที่ 2 สิทธิในการฟ้องคดีอาญาและถอนฟ้องคดีอาญา

ประการที่ 3 สิทธิในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ประการที่ 4 สิทธิในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ

ประการที่ 5 สิทธิที่จะยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประการที่ 6 สิทธิคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยในกรณีที่ศาลรับฟ้องแล้ว

ประการที่ 7 สิทธิที่จะไม่ต้องตอบคำถามโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายในฐานะพยานถูกฟ้องคดีอาญา

ประการที่ 8 สิทธิในการรับรู้ความคืบหน้าของคดีและผลของคำพิพากษา

ประการที่ 9 สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและข้อกังวลใจของศาล

ประการที่ 10 สิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้

ประการที่ 11 สิทธิขอให้จัดให้มีการยืนยันหรือชี้ตัวผู้กระทำผิดในสถานที่ที่เหมาะสมและมิให้ผู้เสียหายถูกมองเห็น

ประการที่ 12 สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทเพื่อเยียวยาค่าเสียหาย

เมื่อตกเป็นผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์แล้ว ผู้เสียหายประสงค์ใช้สิทธิทางศาล แจ้งผ่านช่องทาง 4 ช่องทาง ได้แก่

ช่องทางที่ 1 กรอกแบบแสดงความประสงค์ส่งไปยัง “ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย” ทางเว็บไซต์ https://cios.coj.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ช่องทางที่ 2 แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญาประจำศาลชั้นต้นทุกแห่งที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั่วราชอาณาจักร เช่น ศาลอาญา ศาลจังหวัด ศาลแขวง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด โดยไม่จำกัดว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจหรือไม่ ในวันและเวลาราชการ

ช่องทางที่ 3 ดาวน์โหลดและพิมพ์แบบแจ้งความประสงค์จากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรม https://cios.coj.go.th กรอกข้อความแล้วจัดส่งทางไปรษณีย์มาที่ “ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย” สำนักกิจการคดี อาคารศาลอาญา ชั้น 6 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 02-512-8138

ช่องทางที่ 4 กรณีที่มีการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง หรือยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายควรแสดงความประสงค์ในการใช้สิทธิที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ของศาลดังกล่าวเพื่อความรวดเร็ว ในวันและเวลาราชการ

หากมีข้อมูลหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ กลุ่มงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสาคร โทรศัพท์ 034-411-227 หรือไลน์ smsjc open chat

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *