เมื่อ ศบค. จัดสรรวัคซีนให้คนสมุทรสาครแบบ “เศษเนื้อข้างเขียง”

กระแส “ทวงวัคซีนคืนให้คนสมุทรสาคร” เกิดขึ้นสืบเนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 2564

ปรากฎว่า จังหวัดสมุทรสาคร จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 49 จังหวัด (กลุ่มที่ 3) เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดสเท่านั้น!!!

ขณะที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากที่สุด 2.5 ล้านโดส รองลงมา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ รวม 6 แสนโดส ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) และภูเก็ต 2 แสนโดส ในฐานะจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว

ส่วนจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ มีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังการระบาด จำนวน 23 จังหวัด ยังได้เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส รวม 2.5 ล้านโดส

อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า) พังงา กระบี่

กลายเป็นคำถามคาใจคนสมุทรสาคร เพราะที่ผ่านมาถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดงมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ล่าสุด ยังคงกำหนดให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด

แต่กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนเพียงแค่ 70,000 โดสเท่านั้น เหมือนกับพื้นที่สีเขียว ทั้งๆ ที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครติด 1 ใน 10 อันดับมาโดยตลอด ตกวันละเป็นหลักร้อยคน

เปรียบได้กับ ศบค. โยนเศษเนื้อข้างเขียงให้คนสมุทรสาคร แย่งชิงกับอีก 48 จังหวัดก็ไม่ปาน

ไม่นับรวมการจัดสรรวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าบางหน่วยงานทำตัวเป็น “รัฐอิสระ” จัดฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มเฉพาะ หรือจะเป็น “บางจังหวัด” ที่เป็นฐานเสียงทางการเมือง กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนมาก ผิดไปจากจังหวัดใหญ่อื่นๆ

กลายเป็นที่โจษจันว่าอาจจะมี “วัคซีนการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่?

ชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เปิดประเด็นในเฟซบุ๊ก Chathip Ohm ระบุว่า จังหวัดสมุทรสาครถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง แต่ได้รับจัดสรรวัคซีนเท่ากับพื้นที่สีเขียว ทั้งที่บอกว่าจะได้ 330,000 โดสในเดือนกรกฎาคม

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาถูกขอให้อดทน ยอมลดโควตามา 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน ทั้งๆ ที่จังหวัดสมุทรสาครควรได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะ 6 เดือนเต็มๆ ของคนสมุทรสาครที่อดทนแก้ไขปัญหา

“วันนี้ตัวเลขเรายากที่จะต้านไหวแล้ว ตัวเลขกลับมา 3 หลักต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเอาไม่อยู่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ พยาบาล ทำงานแบบไม่มีวันหยุดมา 6 เดือนเต็ม โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ถูกขอร้องให้ช่วยพื้นที่อื่นมาตั้งแต่เมษายน ซึ่งเราพร้อมรับ และช่วยเหลือเสมอมา

แต่วันนี้พวกเราทุกคน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านวีระศักดิ์ (วิจิตร์แสงศรี) ท่านรองผู้ว่าฯ และ ผู้บริหารในจังหวัดอีกหลายๆ ท่าน รวมถึงพวกเราภาคเอกชน ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถยอมรับกับการจัดสรรวัคซีนในครั้งนี้ได้ และจะพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ความเหมาะสม ในการจัดสรรวัคซีนให้กับคนสมุทรสาคร” เฟซบุ๊ก Chathip Ohm ระบุ

สอดคล้องกับ ชวพล วัฒนพรมงคล นักธุรกิจชาวจังหวัดสมุทรสาคร โพสต์ข้อความระบุว่า การจัดสรรวัคซีนควรดูความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ และจัดสรรวัคซีนเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ จังหวัดสมุทรสาครมีจำนวนผู้ติดเชื้อเยอะ และถูกจัดอยู่ในพื้นที่สีส้ม แต่ได้รับการจัดสรรจำนวนวัคซีนพอๆ กับจังหวัดที่มีการติดเชื้อน้อย

“จังหวัดเราเป็นจังหวัดที่ติดกรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเยอะ ที่ผ่านมาจังหวัดเราก็ช่วยรองรับผู้ติดเชื้อที่มากักตัวจากพื้นที่จังหวัดอื่น ดังนั้น ผมคิดว่าจังหวัดสมุทรสาครจึงควรได้รับการจัดสรรวัคซีนในปริมาณที่มากกว่าปัจจุบัน”

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี

อย่างไรก็ตาม วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็กล่าวตัดพ้อว่า “จังหวัดได้รับวัคซีนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”

วัคซีนที่จะมาเดือนกรกฎาคม มาแค่ 70,000 โดส ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะที่ขอไปกว่า 3 แสนโดส เพราะมีปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้จังหวัดสมุทรสาครควรควรจะได้วัคซีนมากกว่านี้ เช่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่สูงและไม่เคยลดลง

อย่างต่อมา จังหวัดสมุทรสาครมีโรงพยาบาลสนาม ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะคนสมุทรสาคร แต่เปิดรับผู้ติดเชื้อจากจังหวัดอื่นเข้ามาด้วย อีกทั้งสมุทรสาคร เป็นศูนย์กลางโรงงานที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย 500,000-600,000 ล้านบาทต่อปี

จากปัจจัยเหล่านี้ สมุทรสาครควรจะได้รับวัคซีน “มากกว่าที่เป็นอยู่” คือ 70,000 โดส

เมื่อเช้าวันที่ 19 มิ.ย. ได้หารือกับส่วนกลาง เท่าที่ทราบ ส่วนกลางรับฟังปัญหา แล้วบอกแต่เพียงว่า “จะหาแนวทางแก้ไข” อาจจะมีการขยับให้เป็นหลักแสนโดส แต่ยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่?

ยืนยันว่า “พยายามเต็มที่แล้ว”

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มีการพิจารณาวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสาคร ชี้แจงว่าสั่งจองกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไป 2 แสนโดส ขอให้ผู้ว่าฯ ลงนามรับรอง

ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ยืนยันว่า พร้อมจะลงนามให้ แต่ไม่รู้ว่าจะได้มาจำนวนเท่าไหร่ และได้มาเมื่อไหร่ เพราะหลายหน่วยงานก็สั่งจองเป็นจำนวนมากเช่นกัน

อีกด้านหนึ่ง เริ่มที่จะมีเสียงสะท้อนจากชาวจังหวัดสมุทรสาคร ที่รู้สึกว่าการจัดสรรวัคซีนของ ศบค. ครั้งนี้ไม่เป็นธรรม เริ่มเปลี่ยนรูปโปร์ไฟล์ในเฟซบุ๊กด้วยแฮชแท็ก #ทวงวัคซีนคืนให้คนสมุทรสาคร กันบ้างแล้ว

ย้อนไปในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาการจัดสรรวัคซีนของ ศบค. เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ โดยที่ตัวเองนั่งหัวโต๊ะ จากเดิมกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นเจ้าภาพหลัก

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ถูกรวบอำนาจ แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธ บอกแต่เพียงว่าทุกอย่างยังราบรื่นก็ตาม

แม้รัฐบาลจะประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็น “วาระแห่งชาติ” เปิดคิกออฟฉีกวัคซีนไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ยอดผู้ฉีดวัคซีนทั้งประเทศเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ก็พบว่าผ่านไปสักพักเกิดอาการ “วัคซีนของขาด”

หลายโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเริ่มประกาศเลื่อนนัดฉีดวัคซีน เกิดศึกวาทะระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกรุงเทพมหานคร โบ้ยกันไปโบ้ยกันมา อ้างว่าจัดสรรวัคซีนตามที่ ศบค.กำหนด เป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัดดำเนินการเอง

สุดท้าย นายกฯ บิ๊กตู่ต้องส่ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ออกมาหย่าศึก แถลงข่าวเคลียร์ใจ ยอมรับว่าเกิดความคลาดเคลื่อน วัคซีนไม่มาตามแผน ทำให้ต้องมีการเลื่อนกันบ้าง ต้องกราบขออภัยประชาชน คนที่ถูกเลื่อนออกไปจะได้รับการฉีดในอันดับแรกๆ และยืนยันไม่มีวัคซีนการเมืองอย่างแน่นอน

แม้ว่ากระแส “ทวงวัคซีนคืนให้คนสมุทรสาคร” จะเกิดขึ้นเพียงแค่จังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งในประเทศไทย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลและ ศบค. ที่ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับพื้นที่การระบาดที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

อย่างน้อยประชาชนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน ก็ถือเป็นการแสดงเจตจำนงว่า พวกเขาต้องการและจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโดยเร็วที่สุด แม้วัคซีนทุกตัวในโลกจะนำมาใช้กรณีฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ก็ตาม

อย่าให้การเข้าถึงวัคซีน​ของประชาชนถูกเลือกปฏิบัติ หล่อเลี้ยงเฉพาะบางจังหวัด และละเลยบางจังหวัดที่ยังคงประสบปัญหา เพราะอาจกลายเป็นการ “ดูถูก” ประชาชนส่วนหนึ่งที่เป็นโครงสร้างของคนไทยทั้งประเทศกันเกินไป!

-กิตตินันท์ นาคทอง-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *