สิ้นสุดการรอคอย ทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว ได้ใช้ ส.ค. 67 เชื่อมสมุทรสาคร-นครปฐม

ในที่สุดโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ก็ได้เดินหน้าเป็นรูปเป็นร่างเสียที เมื่อสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ว่าจ้าง บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง

เริ่มต้นสัญญา 19 สิงหาคม 2564 สิ้นสุดสัญญา 2 สิงหาคม 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ค่างานตามสัญญา 595 ล้านบาท

สืบเนื่องจากทางหลวงหมายเลข 375 (บ้านบ่อ-พระประโทน) มีจุดเริ่มต้นทางหลวงเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) เป็นเส้นทางสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม

มีโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยจำนวนมาก เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐม สามารถเดินทางเข้าสู่จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และกรุงเทพมหานครได้

การเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร (ถนนเพชรเกษม) ต้องไปกลับรถใต้สะพานและใช้ทางคู่ขนานร่วมกับรถท้องถิ่นที่มีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน

ที่สำคัญ รถที่มาจากจังหวัดนครปฐมไม่สามารถเลี้ยวขวา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 35 ได้ ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น เกิดความล่าช้า และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

กรมทางหลวง ได้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของจุดตัดดังกล่าว

โดยออกแบบเป็นสะพานสองแห่ง เพื่อให้รถที่เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร สามารถขึ้นสะพานเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 375 ไปจังหวัดนครปฐม

และรถที่เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม สามารถขึ้นสะพานเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 35 ไปจังหวัดสมุทรสงคราม หรือมุ่งสู่ภาคใต้ ทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และลดจำนวนอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าวได้

ลักษณะโครงการประกอบด้วย สะพานขนาด 2 ช่องจราจร ทิศทางเข้า อ.บ้านแพ้ว กว้าง 8.50 เมตร ยาว 447.50 เมตร สะพานขนาด 1 ช่องจราจร ทิศทางไป จ.สมุทรสงคราม กว้าง 6.50 เมตร ยาว 787 เมตร

พร้อมก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม 1 แห่ง งานก่อสร้างทาง งานวางท่อระบายน้ำ ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง ทางเท้า ควบคุมการก่อสร้างโดย สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง มีนายจิตต์กวี อุ่นศรี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มประสิทธิภาพบริเวณจุดกลับรถใต้สะพาน และลดเวลาในการเดินทาง ลดจำนวนอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางแยก เป็นนายช่างโครงการ

รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทาง

อีกทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการบริหารจัดการขนส่งทางถนน พัฒนาเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่ภาคใต้ เส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

-กองบรรณาธิการสาครออนไลน์-

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *