รถเมล์ไฟฟ้ามาหาสมุทรสาคร สาย 7 และ 120 วิ่งเส้นเอกชัยสู่ใจกลางเมือง

24 ตุลาคม 2564 เป็นวันแรกที่รถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า สีน้ำเงิน ปอ. สาย 7 แยกพระราม 2 (จุดตัดถนนเอกชัย) – หัวลำโพง และสาย 4-21 (สาย 120 เดิม) สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก ของบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ให้บริการแทนรถประจำทางปรับอากาศของผู้ประกอบการรายเดิม

โดย ปอ.สาย 7 แยกพระราม 2-หัวลำโพง ผู้ประกอบการคือ บริษัท ต.มานิตย์การเดินรถ จำกัด ภายใต้การดำเนินการโดย บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ตามสัมปทานเดินรถจากโรงเรียนศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง ระยะทาง 28 กิโลเมตร ตามรายงานระบุว่า ให้บริการทั้งหมด 6 คัน จากทั้งหมด 15 คัน

เริ่มต้นจากวัดราษฎร์รังสรรค์ (คลองสี่วาพาสวัสดิ์) ไปตามถนนเอกชัย ผ่านวัดโพธิ์แจ้ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา ตลาดบางบอน 5 แยกซ้ายถนนบางบอน 3 ผ่านตลาดคลองขวาง ต่อเนื่องซอยเพชรเกษม 69 แยกขวาถนนเพชรเกษม ผ่านบิ๊กซีเพชรเกษม เดอะมอลล์บางแค (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีหลักสอง) ซีคอนบางแค บางหว้า (รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีบางหว้า)

โรงพยาบาลพญาไท 3 แยกท่าพระ ต่อเนื่องถนนอินทรพิทักษ์ วงเวียนใหญ่ เข้าถนนประชาธิปก แยกบ้านแขก ข้ามสะพานพระปกเกล้า พาหุรัด แยกขวาถนนเจริญกรุง ผ่านคลองถม วัดมังกร (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีวัดมังกร) แยกซ้ายเข้าวงเวียน 22 กรกฎา ถนนมิตรพันธ์ ห้าแยกนพวงศ์ แยกขวาถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม สิ้นสุดที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

ส่วนสาย 4-21 (สาย 120 เดิม) สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก ผู้ประกอบการคือ บริษัท อำไพรุ่งโรจน์ จำกัด ภายใต้การดำเนินการโดย บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ระยะทาง 38 กิโลเมตร ตามรายงานระบุว่า ทดลองวิ่งช่วงแรก 2 คัน หากได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้โดยสาร ก็จะเพิ่มรถโดยสารตามลำดับ

เริ่มต้นจากจุดจอดรถตรงข้ามโรงแรมเซ็นทรัลเพลส ไปตามถนนเอกชัย ผ่านโรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลเอกชัย หมู่บ้านเบญจทรัพย์นคร เคหะชุมชนมหาชัย ทางแยกต่างระดับเอกชัย วัดราษฎร์รังสรรค์ (คลองสี่วาพาสวัสดิ์) วัดโพธิ์แจ้ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา ตลาดบางบอน 5 สามแยกบางบอน บิ๊กซีบางบอน ศาลอาญาธนบุรี วัดสิงห์ วัดไทร

ต่อเนื่องถนนจอมทอง แยกวุฒากาศ แยกซ้ายถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านตลาดดาวคะนอง บิ๊กซีดาวคะนอง โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน โรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรี แยกขวาถนนกรุงธนบุรี (รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีวงเวียนใหญ่) สินสาธรทาวเวอร์ แยกซ้ายถนนเจริญนคร วัดสุวรรณ ไอคอนสยาม โรงพยาบาลตากสิน สิ้นสุดที่แยกบ้านแขก

ความแตกต่างระหว่าง ปอ.สาย 7 กับสาย 4-21 ก็คือ เดิม ปอ.สาย 7 จะเข้าตัวเมืองสมุทรสาคร แต่นับจากนี้จะหมดระยะแค่วัดราษฎร์รังสรรค์ ทดแทนด้วยสาย 120 ที่เดิมเป็นรถธรรมดา ขาว-น้ำเงิน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรถธรรมดา ชมพู แต่หยุดการเดินรถไปอย่างยาวนาน ก็จะกลับมาเดินรถอีกครั้งด้วยรถประจำทางปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า

รถโดยสารที่นำมาให้บริการเป็นรถยี่ห้อ ไมน์บัส (MINEBUS) รุ่น EV-X12 ยาว 12 เมตร บรรทุกผู้โดยสาร 33 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 250-350 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขับเคลื่อนได้ระยะทางถึง 250-350 กิโลเมตร พร้อมพัฒนาระบบชาร์จไฟที่เรียกว่า Ultra-Fast Charger ใช้เวลาชาร์จไฟประมาณ 15 นาที

สิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถ ได้แก่ ที่นั่งผู้โดยสาร รวม 33 ที่นั่ง (รวมที่นั่งรองรับรถเข็นของผู้พิการ) ห้องคนขับรถกั้นไว้เป็นสัดส่วน พร้อมจุดชาร์จแบตมือถือแบบ USB จำนวน 2 ช่อง บริเวณเสาตัวรถรวม 13 จุด และจัดให้มีจุดวัดอุณหภูมิที่ประตูหน้าของรถ โดยผู้โดยสารต้องขึ้นรถที่ประตูหน้าของรถ และลงจากรถที่ประตูกลางของรถ

สำหรับค่าโดยสารคิดตามรถมาตรฐาน 2 (รถโดยสารชั้น 2 ใช้งานไม่เกิน 2 ปี มี GPS, CCTV และ E-Ticket) เริ่มต้น 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท, 16 กิโลเมตรเป็นต้นไป 25 บาท ซึ่งไทยสมายล์บัสมีแผนที่จะรับชำระค่าโดยสารผ่านบัตรโดยสาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต ด้วยเครื่อง EDC แบบพกพา และระบบติดตามรถผ่านแอปพลิเคชัน TSB GO

อย่างไรก็ตาม ไทยสมายล์บัสยังมีแผนที่จะเดินรถในจังหวัดสมุทรสาครอีก 1 เส้นทาง ได้แก่ สาย 81ก หมู่บ้าน วปอ.11 – สวนหลวงพระราม 8 เริ่มต้นจากหมู่บ้าน วปอ.11 ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน ออกถนนสวนหลวง ผ่านหมู่บ้านเอื้ออาทรกระทุ่มแบน 2 ต่อเนื่องถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ถึงตลาดคลองขวาง แยกซ้ายซอยเพชรเกษม 69 แยกขวาถนนเพชรเกษม

ผ่านบิ๊กซีเพชรเกษม แยกซ้ายถนนกาญจนาภิเษก ผ่านแยกถนนบางแวก (ครัวสมร) แยกขวาถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 2 ผ่านวัดเพลงกลางสวน แยกซ้ายถนนจรัญสนิทวงศ์ (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีไฟฉาย) แม็คโครจรัญสนิทวงศ์ แยกบางขุนนนท์ แยกขวาเข้าถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ผ่านพาต้าปิ่นเกล้า แยกซ้ายถนนอรุณอมรินทร์ สิ้นสุดที่สวนหลวงพระราม 8

นับเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญของระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดสมุทรสาคร ที่วันนี้มีรถเมล์ไฟฟ้าเข้าถึงตัวจังหวัด เชื่อมต่อการเดินทางสู่กรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งรถเมล์ ระบบรางเช่นรถไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ รองรับ แต่จะยืนยาวได้ขนาดไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงตอบรับของประชาชนที่มาใช้บริการว่ามีมากน้อยแค่ไหน

-เรื่อง : กิตตินันท์ นาคทอง / ภาพ : กิตติกร นาคทอง-

4 Replies to “รถเมล์ไฟฟ้ามาหาสมุทรสาคร สาย 7 และ 120 วิ่งเส้นเอกชัยสู่ใจกลางเมือง”

  1. แจ่มเลยวิ่งถึงปลายถนนเอกชัย น่านั่งมาก เข้ากทมยุคน้ำมันแพง นั่งเมล์สายนี้ประหยัดดีอ่ะ

    1. ถ้าเราอยุ่หัวลำโพงลำต้องนั่งตรงไหนค่ะถ้าจะไปสมุทรสาครนั่งกี่ต่อค่ะต่อเดียวหรือหลายต่อ

  2. ส่วนตัวชื่นชอบและขอชื่นชม​ การให้ผู้โดยสารขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบ​ บริการดี เป็นการดัดนิสัยของคนไทยได้เป็นอย่างดี​ ทำต่อไปครับ

    แนะนำเพิ่มอยากให้ทำแอพการติดตามรถออกมาหรือเอาเข้า​ Via bus ก็จะดีมากครับ​ ผู้รอจะได้รออย่างมีเป้าหมายครับ

  3. ขอติหน่อย ระหว่างการเดินทาง คนขับมีการจอดและลงไปซื้อของกิน และกระเป๋าก็ยืนกินบนในขณะรถวิ่งอีก

Leave a Reply to tree Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *