ส่องนโยบายบัตรทองเพื่อผู้สูงวัย “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่” ที่เทศบาลตำบลวังศาลา

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่” ลงในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง โดยให้ใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ในการจัดซื้อ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งในหลายพื้นที่ก็ขานรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี

ที่เทศบาลตำบลวังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ตอบรับนโยบายของ สปสช. ในการดำเนินโครงการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย และผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้

ซึ่งทางผู้บริหาร นายวิสุทธิ์ วอนเพียร นายกเทศมนตรีตำบลวังศาลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และเร่งดำเนินการทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 เป็นต้นมา ถือเป็น อปท. แห่งแรกของ จ.กาญจนบุรี ที่ดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นต้นแบบความสำเร็จให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่าง ๆ ของทาง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ที่ดำเนินการให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่เทศบาลตำบลวังศาลา เช่น โครงการตรวจคัดกรองสายตาและแว่นสายตาให้กับผู้สูงอายุ โครงการป้องกันและชะลอภาวะไตเสื่อม โครงการนวัตกรรม เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เรื่องแพทย์แผนไทย (ผ้าสมุนไพรประคบหัวเข่า) และถังปั่นหรรษาแก้ไขปัญหา Stroke

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี นำโดย นางทิพาพรรณ หอศิวาลัย ผู้อำนวยการกลุ่ม สปสช. เขต 5 ราชบุรี นำคณะสื่อมวลชนจาก จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินโครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของเทศบาลตำบลวังศาลา

รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินโครงการดังกล่าว ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ เทศบาลตำบลวังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยมีนายกเทศมนตรี พร้อมรองนายกฯ ปลัดเทศบาลฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล

สำหรับข้อมูลพื้นฐานของเทศบาลตำบลวังศาลา มี 10 หมู่บ้าน มีพื้นที่ 39 ตร.กม. จำนวน 5,269 ครัวเรือน ประชากร 11,803 คน ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ข้อมูลในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุ 2,165 คน ผู้พิการ 293 คน ผู้ป่วยโรคเอดส์ 28 คน ซึ่งสถานการณ์ผู้สูงอายุในตำบลวังศาลา มีผู้สูงอายุติดบ้าน 17 ราย ผู้สูงอายุติดเตียง 17 ราย และผู้สูงอายุติดสังคม 2,131 ราย

โดยขั้นตอนการดำเนินโครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ ของเทศบาลตำบลวังศาลาเริ่มจากประกาศสิทธิประโยชน์ ค้นหากลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็นประเภท ก. ผู้ที่มีเกณฑ์ ADL (ความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน) ไม่เกิน 6 คะแนน และกลุ่ม ข. ผู้ที่มีเกณฑ์ ADL 6 คะแนนขึ้นไป โดยให้ อสม. และผู้ดูแล (Caregiver) ในพื้นที่ช่วยออกสำรวจข้อมูลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงและกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ สรุปความต้องการและงบประมาณทั้งหมด

ต่อมาจัดทำแบบฟอร์มออนไลน์ส่งให้ประชาชนกรอกข้อมูล ลงพื้นที่สำรวจซ้ำอีกรอบเพื่อความแม่นยำ ก่อนที่จะประเมินและขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี จากนั้นจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Plan ในโปรแกรม 3C ของกรมอนามัย ต่อด้วยจัดทำแผนงานโครงการฯ เสนอเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กปท. แล้วจึงดำเนินการจัดซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูป ส่งมอบให้แก่ผู้ป่วยต่อไป

ซึ่งผลจากการดำเนินงานในปี 2565 มีผู้ได้รับผ้าอ้อมสำเร็จรูปตามโครงการ จำนวน 100 ราย โดยได้รับ 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน รวมทั้งสิ้น 7,470 ชิ้น ใช้งบประมาณ 70,950 บาท

และในปี 2566 มีผู้ได้รับผ้าอ้อมสำเร็จรูปตามโครงการ จำนวน 119 ราย โดยได้รับ 2 ชิ้นต่อคนต่อวัน เป็นเวลา 182 วัน รวมทั้งสิ้น 43,316 ชิ้น ใช้งบประมาณ 411,502 บาท

จากผลการดำเนินการ ประชาชนมีความพึงพอใจร้อยละ 89 ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูป

นายวิสุทธิ์ วอนเพียร นายกเทศมนตรีตำบลวังศาลา เปิดเผยว่า ทางเทศบาลฯ ได้ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุในพื้นที่ มีการประชุมตั้งงบแผนงานไว้ 5-10 ปี รวมถึงมีกิจกรรมยืดเส้นยืดสาย พูดคุยให้ความสนุกสนานกันเป็นประจำทุกเดือน

สำหรับความสำคัญของโครงการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งตนได้มีความห่วงใยต่อผู้ป่วยติดเตียง โดยตั้งตัวแทนผู้สูงอายุในแต่ละหมู่บ้านไปเยี่ยมเยียนพร้อมมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่และสิ่งของที่ได้รับการบริจาคมา ตรงนี้ถือว่าเป็นขวัญกำลังใจต่อผู้ป่วยติดเตียงเป็นอย่างดี

วิสุทธิ์ วอนเพียร

นอกจากนี้ อสม. ก็มีส่วนสำคัญในการที่จะไปตรวจเยี่ยม ตรวจสุขภาพ และสอบถามสารทุกข์สุกดิบ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเข้าประชุมประจำเดือน เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุที่มีความต้องการให้ทางเทศบาลฯ ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ สปสช. ที่จัดสรรงบประมาณให้กับเทศบาลตำบลวังศาลา เพราะผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ เงินที่ได้รับมาต้องมีประโยชน์กับชาวบ้านและผู้สูงอายุจริง ๆ และมีความชัดเจน มั่นคง ถาวร นโยบายตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี

เป็นอีกหนึ่งนโยบายดี ๆ ของ สปสช. ในการให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้ปี 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพผู้สูงวัยไทย

กิตติกร นาคทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *